26 ต.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
“บ่อทอง” กบินทร์บุรี และความซับซ้อนของคดีพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) (๓)
1
บทความโดย : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
: การทำเหมืองแร่ทองคำและคดีความ
นอกจากแหล่งทองที่บางสะพานซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีการบันทึกถึงเรื่องการทำทองที่เมืองกบินทร์บุรีครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ม.จ. พิริยดิศ ดิสกุล โอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกไว้ว่า
“ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้พบทองคำในเขตเมืองกบินทร์บุรีหลายแห่ง จึงได้เกณฑ์แรงงานที่นั่นและในหัวเมืองใกล้เคียงให้มาทำการขุดหาแหล่งทองคำส่งกรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้เจ้าเมืองปราจีนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปฏิบัติการเหมืองแร่ครั้งแรกของรัฐ
แต่การก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะว่ามีการกล่าวโทษเรื่องการใช้แรงงานที่ไม่ชอบ จนเป็นเหตุให้ผู้คนอพยพหลบหนีราชการกันมาก และที่สำคัญผลผลิตทองคำที่ได้ดูไม่เหมาะสมกับแรงงานที่นำไปใช้ จนเป็นเหตุให้มีการสอบสวนถึงกับลงโทษตั้งแต่ตัวเจ้าเมืองลงไป
แผนผังแสดงบ่อทองและการขุดเจาะสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓
แต่ก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงโดยมีการนำวิศวกรฝรั่งไปช่วย และบุคคลที่ออกไปกำกับการขุดแร่ทองคำที่กบินทร์บุรีในตอนหลังนี้จำเป็นจะต้องเอ่ยนามให้ปรากฏไว้อีกคือ คุณพระปรีชากลการ ซึ่งเป็นผู้มีการศึกษาอย่างดีจากต่างประเทศและเข้าใจว่ามีความรู้ด้านช่างดี จึงได้ราชทินนามเช่นนั้น การดำเนินงานครั้งนี้ได้มีการเปิดบ่อขุดเอาหินติดทองล่องลงตามลำน้ำพระปรง มาตำและแยกที่ตัวจังหวัดปราจีนเลยทีเดียว”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริโปรดเกล้าให้พระปรีชากลการไปทำเหมืองทองคำที่บ่อทองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ การทำทองที่บ่อทอง เมืองกบินทร์บุรี แตกต่างไปจากการทำเหมืองแบบร่อนแร่แบบโบราณตามสายน้ำต่างๆ ไม่ใช่เป็นทองคำแบบก้อนหรือแบบผงทองคำเช่นที่บางสะพาน เพราะต้องระเบิดหินที่มีสายแร่ทองคำติดอยู่แล้วจึงนำมาถลุง
โรงตำใหญ่อยู่ใกล้กับบ่อสำอาง
ชาวบ้านร่อนหาผงแร่ทองคำที่บ่อทอง โดยใช้ ภาชนะไม้ที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า“เรียง”
ลักษณะทางธรณีวิทยาของบริเวณบ่อทองอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว ๑๗ เมตร บางส่วนเป็นเนินเขาย่อมๆ สูงราว ๒๐ เมตร พื้นผิวปกคลุมด้วยชั้นศิลาแลง เป็นดินทรายและดินลูกรังหนาวราว ๑๐-๕๐ ฟุต มีพวกหินควอร์ตไซต์และหินปูนและแทรกด้วยหินอัคนีเป็นผลทำให้เกิดการแปรสภาพอย่างรุนแรง หินปูนบางส่วนแปรเป็นหินอ่อน ส่วนสายแร่ควอทซ์ [Quartz vain] มีสายแร่เล็กๆ แทรกอยู่ในหินทั่วไป
สายแร่ควอทซ์เหล่านี้บางแห่งให้แร่ทองคำ [Gold baring quartz vain] ทองคำที่พบมีขนาดเล็กเห็นด้วยตาเปล่าได้ยากและมีแร่เงินและไพไรต์เปิดร่วมด้วยในปริมาณน้อย คาดว่าสายแร่น่าจะมีทางยาวประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร (สมัคร บุราวาส, ๒๔๘๗) และจากการเจาะสำรวจของสมศักดิ์ โพธิสัตย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ จากตัวอย่างการเจาะหลุม ๑๗ หลุม พบทองเพียงหลุมเดียว
มีบันทึกถึงการทำเหมืองทองของพระปรีชากลในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากเอกสาร “เศรษฐกิจธรณีวิทยาเล่มที่ ๒๔” ของกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า เป็นการขุดหลุมตามสายแร่ไปทั้งตามความลึกและตามความยาวของสายแร่ ซึ่งต่อมากลายเป็นบ่อน้ำใหญ่ กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร และต่อมาเรียกชื่อว่า “บ่อสำอาง”
แผนที่แสดงบริเวณเหมืองทองคำครั้งที่กรมโลหกิจเข้ามาทำเหมืองครั้งสุดท้ายราว พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๐
การขุดเหมืองทองคำซึ่งเป็นสายแร่ทองคำในหินใต้พื้นดิน นอกจาการสำรวจเพื่อหาสายแร่ทองคำแล้วต้องมีการขุดเป็นหลุ่มทั้งแนวดิ่งและแนวราบ แล้วใช้วิธีการระเบิดหินแล้วบดแร่ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเตรียมลำเลียงไปจัดการถลุงที่เมืองปราจีนบุรีซึ่งน่าจะสะดวกและเจริญกว่าบริเวณตำบลบ่อทองและบริเวณเมืองกบินทร์บุรี
การสำรวจและการทำเหมืองต้องใช้ความรู้ความชำนาญในทางธรณีวิทยาและความรู้ในการสำรวจและคัดเลือกขุมเหมืองเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น และที่สำคัญคือต้องใช้แรงงานซึ่งเข้าสู่ระบบการจ้างงานแล้วจึงต้องใช้เงินทุนมากมายแต่ผลตอบแทนอาจจะได้น้อยไปก็เป็นได้
บันทึกไว้ว่าพระปรีชากลการใช้เงินไปราว ๑๕,๕๐๐ ชั่งเศษหรือราว ๑,๒๔๐,๐๐๐ บาท (มีการบันทึกไว้ว่างบประมาณแผ่นดินใช้ราว ๖๘ ล้านบาทต่อปีในราว พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๕๗) แต่ส่งทองมานำหักเพียง ๑๑๑ ชั่งหรือราว ๑๓๓,๒๐๐ กรัม
ซึ่งถ้าคิดราคาทองคำ ๑ ทรอยออนส์ (น้ำหนัก ๓๑.๑ กรัม) ในปีนั้นราคาทองคำในตลาดโลกประมาณ ๑๘.๙๔ ปอนด์ต่อ ๑ ทรอยออนส์ มาตราค่าเงินในช่วงนั้น ๑ ปอนด์เท่ากับประมาณ ๑๓.๑๒ บาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ดังนั้นราคาทองคำ ๑๓๓,๒๐๐ กรัมจึงมีมูลค่าประมาณ ๑,๐๖๔,๒๘๔ บาท ซึ่งน่าจะมีมูลค่าน้อยกว่านี้เมื่อ ๓๐ ปีก่อนหน้านั้น จึงเป็นการขาดทุนแน่นอน
แต่เมื่อพิจารณาบันทึกเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๙ มีการกลับมาทำเหมืองทองคำอีกครั้งหนึ่งโดยกรมทรัพยากรธรณีได้ปริมาณทองคำน้ำหนักราว ๕๔,๖๗๕.๕๖ กรัม ซึ่งจะเห็นได้ว่า การทำเหมืองทองคำที่กบินทร์บุรีไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากนัก
พระปรีชากลการคงทําการขุดแร่ทองคําที่บ่อทอง แล้วบรรทุกเรือล่องมาตามลําน้ําปราจีนบุรี ขนขึ้นทําการถลุงที่โรงจักร ซึ่งพระปรีชากลการให้สร้างโรงจักรถลุงแร่ทองคําที่ฝั่งแม่น้ําปราจีนบุรีริมวัดหลวงปรีชากูลด้านทิศตะวันออกอยู่ใกล้กับกําแพงเรือนจําปัจจุบัน ส่วนสถานที่ถลุงและเตาหลอมขณะนี้ยังปรากฏอยู่ที่บริเวณบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี
ส่วนเส้นทางบ้านหนองสังข์เข้าไปตําบลวังตะเคียนมีถนนที่ทำขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางลําเลียงแร่ทองคําเพื่อลงเรือที่ท่าน้ำแล้วล่องเรือขนแร่ไปตามลำน้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำบางปะกงนั่นเองเรียกว่า “ถนนทอง” จนถึงทุกวันนี้
ติดตามตอนต่อไปที่ :
“บ่อทอง” กบินทร์บุรี และความซับซ้อนของคดีพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) (๔)
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา