28 ต.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
“บ่อทอง” กบินทร์บุรี และความซับซ้อนของคดีพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) (๔)
บทความโดย : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
โรงถลุงทองที่เมืองปราจีนบุรี
โรงทำทองที่เมืองปราจีนบุรีเปิดเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรณรัศมี เสด็จไปเปิดโรงงานทำเหมืองแห่งนี้ มีพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จคือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เสด็จลงเรือโบตออกจากท่าอ่างศิลาไปประทับเรือประพาสอุดรสยาม
พระปรีชากลการไปรับเสด็จที่ฉะเชิงเทรา ได้เสด็จทอดพระเนตรเมืองฉะเชิงเทราแล้วเสด็จไปปราจีนบุรี โดยจอดเรือพักที่ “ทงเตย” หนึ่งคืนแล้วเสด็จปราจีนบุรี เมื่อถึงเมืองปราจีนแล้ว เสด็จเปิดโรงทำทอง ตามข่าวที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพทรงพระนิพนธ์ว่า
“…แล้วเสด็จขึ้นพลับพลาประทับตรัสกับพระยาอุไทยมนตรี ผู้ว่าราชการเมืองปราจิณบุรีอยู่สักครู่ จึงเสด็จเข้าไปในโรงจักร พระปรีชากลการจึงจัดแร่ทองคำซึ่งสำหรับจะได้ใส่ในครกเป็นที่แรกนั้นมาถวาย เวลา ๓ โมง กับ ๓๕ นาที สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนรัศมี จึงทรงหยิบแร่ซึ่งประปรีชากลการจัดมาถวายนั้นใส่ลงในครกที่สำหรับตำแร่ พระปรีชากลการก็บอกกับมิสเตอร์ปิเตอร์ ซึ่งเป็นอิยิเนียในโรงนั้น ครูหนึ่งจึงเสด็จพระราชดำเนิรไปทอดพระเนตรเครื่องจักรสำหรับเลื่อยไม้…”
ภาพถ่ายโรงถลุงทองคำที่ริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี ริมวัดหลวงปรีชากูล ด้านทิศตะวันออก
ลักษณะโรงหล่อหรือโรงจักรและขั้นตอนการตำแร่นั้น รองอำมาตย์โทหลวงบำรุงรัฐนิกร (บุศย์ อเนกบุณย์) บันทึกไว้ว่า
“…รอบบริเวณโรงจักร์ก่อกำแพง แต่ก่อเป็น ๒ แถวเหมือนผนังตึกห่างกันราว ๗ ศอก สูง ๕ ศอกเศษ กั้นเป็นห้องๆ ส่วนบนวางไม้เหลี่ยมเป็นระยะๆ แล้วปูพื้นกระดาน โบกปูนทับอิฐฝนตกไม่รั่วไหล เป็นหลังคากันแดดกันฝนได้หรืออาจจะเดินเล่นก็ได้ ส่วนบนของด้านหน้าทำเป็นใบเสมา ด้านหลังก่ออิฐถือปูนสูงจากพื้นหลังคาราว ๑ ศอกเศษ ทำเกลี้ยงๆ แต่ทึบ ไม่เป็นใบเสมา กำแพงนี้ยาวประมาณ ๘ เส้น
ภายในกำแพงปลูกโรงถลุงแร่ ๒ หลังแฝด แล้วทำหลังคาลดต่อออกมากทั้งข้างหน้าข้างหลัง ทำด้วยไม้มุงสังกะสี กั้นฝากระดาน ภายในตั้งเครื่องจักร์และตั้งครก ๒๐ ครก หน้าครกทุกใบเจาะรูปรุเหมือนหน้าแว่นมีสากเหล็กครกละ ๒ อัน มีเหล็กติดที่สากเหล็กเรียกว่า เหล็กเขาควาย แล้วมีเหล็กเพลาทอดออกมา เมื่อใช้เครื่องมือเหล็กเพลาจะหมุนกระทบเหล็กเขาควาย กระทำให้สากเหล็กยกขึ้นและตกลงมาตำแร่ในครกให้ละเอียด ในขณะตำแร่จะมีน้ำไหลออกมาตามท่อเหล็กตกลงมาตามท่อเหล็กตกลงในครกนั้นเสมอ
แร่ถูกตำป่นเหมือนแป้ง แล้วไหลจากครกไปตกลงที่ผ้าปะเล็งเก็ตซึ่งปูไว้รับหน้าครก แร่ที่ถูกตำป่นเบากว่าทองไกลเลยไป ส่วนทองหนักกว่าคงติดอยู่ที่ผ้า เมื่อหยุดเครื่องจักร์จึงเอาผ้าไปแช่น้ำในถังใหญ่ คะเณว่าทองนอนก้นถังแล้วจึงสูบน้ำออกเก็บเอาเนื้อทองคำไป โรงถลุงแร่นี้ตั้งอยู่ที่สนามหญ้าใกล้กับกำแพงเรือนจำเดี๋ยวนี้ ส่วนปล่องไฟเครื่องจักร์ตั้งอยู่ริมกำแพงเรือนจำ
นอกจากโรงถลุงแร่ ก่อสร้างตึกยาวขวางตะวัน ๑ หลัง เรียกในสมัยนั้นว่า ตึกปรอท กับก่อสร้างตึก ๒ หลังสำหรับแขกอยู่ใกล้กับตึกยาวขวางตะวัน ๑ หลัง ทางด้านตะวันตกของโรงจักร์สร้างตึก ๔ ชั้น สำหรับนายช่างชาวต่างประเทศอยู่ ๑ หลัง
นอกบริเวณกำแพงด้านตะวันตกสร้างโรงหล่อ ๑ หลังต่อจากโรงหล่อมาทางริมน้ำ สร้างโรงเลื่อยไม้ ๑ หลัง ส่วนด้านหลังกำแพงปลูกเรือนมุงแฝก กั้นฝาปรือ เรียงรายตลอดไปอีกหลายหลังสำหรับคนงานพักอาศัย..”
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรณรัศมี
การทำเหมืองทองคำที่บ่อทอง เมืองกบินทร์บุรีหยุดไปเพราะเกิดเหตุการณ์คดีพระปรีชากลการดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นคดีโด่งดังแห่งยุคที่ทำให้เกิดการเล่าลือไปต่างๆ นานาสืบต่อมาทั้งในพระนครและหัวเมืองที่ปราจีนบุรีและเมืองกบินทร์บุรี
หลังจากนั้นเมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ ๑๘๘๐ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๔๓๒) แม้จะมีการปิดเหมืองไปเมื่อเกิดคดีพระปรีชากลการในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๒ มีบันทึกว่า บริษัทการค้าแห่งตะวันออกไกล “Jardine Mathieson” ได้เข้ามาทำสัปทานการทำเหมืองโดยการรับรองจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมามีบริษัทต่างประเทศคือ “The Kabin Syndicate of Siam” และ “Societa des Mines de Kabin” เข้ามาดำเนินทำเหมืองด้วยวิธีการทำเหมืองแบบสวีเดนแบบเก่า [Skarn] คือการระเบิดหินแข็งที่เป็นแหล่งแร่ที่มีการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินต่างๆ เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร แล้วนำหินแร่เหล่านั้นมาย่อยและดึงเอาแร่ทองคำแยกตัวออกมา
การทำเหมืองของบริษัทดังกล่าวมีรายงานว่าหยุดไปเมื่อเริ่มเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยไม่มีรายงานยืนยันถึงปริมาณทองคำที่พบ หลงเหลือเพียงฐานอาคารโรงเรือนที่ย่อยและแต่งแร่ รวมทั้งน่าจะมีอาคารสำหรับการถลุงแร่ทองคำรวมทั้งมีบ่อแร่จำนวนหนึ่ง กับคำร่ำลือเมื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการทำเหมืองแร่เข้าไปสำรวจสายแร่เพื่อทำเหมืองทองคำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ว่า “บริษัททองคำในสมัยนั้นสามารถขุดทองได้ขนาดเท่าผลมะพร้าวห้าวทั้งเปลือกทุกวัน” (ชาวบ่อทอง, ๒๔๙๖)
ราว พ.ศ. ๒๔๙๓ กรมโลหกิจหรือกรมทรัพยากรธรณีในภายหลังเริ่มดำเนินการสำรวจแร่ทองคำแหล่งนี้ จนกระทั่งปี ๒๔๙๘ ต่อมาได้โอนกิจกรรมการทำเหมืองแร่ให้กับ “ศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ องค์การเหมืองแร่ และได้เปิดทำเหมืองแบบชั่วคราว จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงหยุดการสำรวจและพัฒนาการทำเหมืองในเชิงพานิชย์ โดยให้เหตุผลต่อคนงานเหมืองในยุคนั้นว่าเพราะขาดทุน (จูมกีบแก้ว, กันยายน ๒๕๕๖) และไม่ปรากฏว่ามีการทำเหมืองอีก ผลผลิตทองคำจากช่วงนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๙ ได้ปริมาณทองคำน้ำหนัก ๕๔,๖๗๕.๕๖ กรัม
ก่อนหน้าที่จะมีการทำเหมืองแร่อีกครั้งโดยรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ชาวบ้านบริเวณนี้นอกจากทำนาตามฤดูกาลแล้ว หมดหน้านาผู้ใดที่ขยันก็จะมาขุดเอาดินและหินในบริเวณบ่อทองคำเก่าที่เคยเปิดไว้ นำไปร่อนหาแร่ทองคำกันที่บ้านของตนหรือไม่ก็ร่อนทองกันในบริเวณที่สะดวกและไม่ห่างไกลจากบริเวณบ้านหรือไร่นา โดยเฉพาะในเขตบ้านบ่อทองที่ใกล้กับขุมเหมืองที่เคยทำแร่ในสมัยพระปรีชากลการนี้
มีการสำรวจและบันทึกว่าปัจจุบันมีชาวบ้านทำอยู่บ้างที่บ้านบุเสี้ยว ตำบลบ้านนา ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งทำทองบ้านบ่อทองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร พื้นที่เป็นที่ราบแคบๆ ระหว่างเนินเขา มีห้วยทรายและคลองตาหนูไหลผ่าน
วิธีการขุดทองทำง่ายๆ คือขุดหลุมกว้างยาว ๑-๕ เมตร ชาวบ้านกล่าวว่าทองคำมักจะอยู่ที่ชั้น ๕๐ เซนติเมตรจากผิวดิน ทองคำที่ขุดได้มี ๒ ชนิดคือ ชนิดแรกเป็นก้อนคล้ายหยดเทียนแสดงว่าผ่านการหลอมมาแล้ว อีกชนิดหนึ่งเป็นเกล็ดเล็กๆ หรือเป็นแผ่นบางๆ ลักษณะเป็นแร่ที่เกิดตามธรรมชาติ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเศษแร่ที่ตกหล่นตั้งแต่ในสมัยพระปรีชากลการและการทำเหมืองทองในระยะต่อมา
ทุกวันนี้ร่องรอยของการทำเหมืองทองในอดีตที่ใช้วิธีการทำเหมืองอุโมงค์ตามสายแร่ โดยบริษัทของต่างประเทศและองค์กรของรัฐ มีการเจาะปล่องลงไปใต้ดินเพื่อหาสายแร่ ปล่องหรือขุมแร่เหล่านี้มีชื่อ เช่น บ่อมะเดื่อ บ่อขี้เหล็ก บ่อพอก เป็นต้น คือซากฐานอาคารที่ใช้ในการแต่งแร่และฐานอาคารที่กล่าวกันว่าเป็นสถานที่แยกแร่ทองคำออกจากสินแร่ที่บดแต่งแล้ว ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตําบลบ่อทอง
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตําบลบ่อทอง ฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทําเหมืองแร่ในบริเวณนี้ขึ้น โดยจัดทําเป็นพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคํา ซึ่งเปิดเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นการมอบพิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำให้องค์การบริหารส่วนตําบลบ่อทองเป็นผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ต่อไป
เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดให้มีการประทานบัตรจึงมีบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและออสเตรเลีย “ไทย โกลด์ฟิลด์ส” [Thai Goldfields] และบริษัทที่เคยทำการสำรวจไว้ก่อนหน้านี้คือ บริษัทไอแวนโฮ มายส์ [Ivanhoe Mines] ซึ่งมีความชำนาญในการสำรวจแหล่งแร่ทองคำและแร่โลหะมีคุณค่าในเชิงพานิชย์และอุตสาหกรรม [www.thaigoldfields.com] โดยสำรวจศึกษาศักยภาพแหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย ๕ แห่งตามปรากฏข้อมูล
และมีรายละเอียดการสำรวจที่บริเวณอำเภอกบินทร์บุรีในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๐ ซึ่งมีศักยภาพในการทำเหมืองทองด้วยระบบระบายความร้อนขนาดใหญ่ [Larger-scale hydrothermal system] แต่ถึงปัจจุบันแม้พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและอำเภอกบินทร์บุรีจะเปิดเป็นเขตอุตสหกรรมแทบทั้งสิ้นแล้ว ก็ยังไม่มีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนทำเหมืองทองคำเช่นเดียวกับที่เปิดเหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตรและจังหวัดเลยแต่อย่างใด
ติดตามตอนต่อไปที่ :
“บ่อทอง” กบินทร์บุรี และความซับซ้อนของคดีพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) (๕)
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา