30 ต.ค. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
“บ่อทอง” กบินทร์บุรี และความซับซ้อนของคดีพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) (๕)
บทความโดย : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
: กรณีทุจริตในสังคมสยามยุคเปลี่ยนผ่าน
เหมืองทองคําในสยามเมื่อแรกสํารวจพบ อาจจะสืบเนื่องมาจาก ความชํานาญของผู้คนที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากหัวเมืองลาวหลายกลุ่ม โดยเฉพาะลาวเวียงซึ่งเป็นประชากรพื้นฐานของเมืองด่านกบินทร์บุรีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะมีการบันทึกในท้องถิ่นอื่นๆ ให้ได้รับรู้ว่า ชาวบ้านที่มีเชื้อสายลาวมักจะมีความสามารถทางร่อนทองในลําน้ํา แม้แต่ในลําน้ําเจ้าพระยา เช่นที่สิงห์บุรีก็ตาม
ความชํานาญเหล่านี้นับเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงแบบโบราณที่สั่งสมมาโดยผู้คนที่เคยอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นที่สูง มีสายน้ําไหลชะพาตะกอนของแร่ทองคํามากับท้องน้ํา การค้นพบแหล่งทองคําที่กบินทร์บุรีก่อนช่วงพระปรีชากลการมาทําเหมืองอย่างจริงจังนั้น ก็อาจเกิดข้ึนมาด้วยสาเหตุดังกล่าว
การทําเหมืองทองคําของพระปรีชากลการในช่วงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเพราะเป็นขุนนางท่ีมีความรู้และเป็นผู้คุ้นเคยกับโรงงานและการทําโลหกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ทันสมัยในยุคนั้น อีกทั้งเป็นขุนนางที่ค่อนข้างมีฐานะดีมากและถือว่าร่ำรวยมากกว่าขุนนางในตระกูลอื่นๆ ด้วยการ สืบทอดการเป็นเจ้ากรมโรงกษาปน์หลวงที่พระยากสาปนกิจโกศล เป็นผู้รับผิดชอบทํามาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การทําเหมืองแร่ทองคําที่ยากลําบากในท้องถิ่น เช่น บ่อทองเมืองกบินทร์บุรีนี้ จึงไม่ใช่ส่ิงท่ียากเกินความสามารถและสติปัญญา ของขุนนางเช่นพระปรีชากลการในช่วงเวลานั้น
แต่อาจจะเป็นเพราะการเป็นผู้ทันสมัยในสังคมสยามที่มีความรู้ จากต่างประเทศ สามารถพูดและสื่อสารติดต่อกับชาวต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบายรวมทั้งการเป็นผู้มีฐานะและอํานาจในการเป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี อีกทั้งความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้อย่างสมัยใหม่และทันสมัยที่สุดในยุคนั้น จึงถือว่าน่าจะเป็นกําลังสําคัญของบ้านเมืองได้มาก และท่านยังเป็นสมาชิกในสภาที่ปรึกษาในพระองค์อีกด้วย
ภาพถ่ายพระปรีชากลการที่กลายเป็น “เจ้าพ่อสําอาง” ผู้คนนับถือกราบไหว้ โดยเหตุการทุจริตเรื่องการทําเหมืองทองที่บ่อทอง กบินทร์บุรี ดูเหมือนจะลางเลือนไป บางท่านให้เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องความรักของชายหนุ่ม-หญิงสาว บางส่วนเน้นไปที่เหตุการณ์การเมืองภายในราชสํานักและเกี่ยวข้องกับการเมืองภายนอกในยุคอาณานิคม คงมีไม่มากนักที่นําเอาเหตุการณ์ทุจริตในหน้าที่นี้มาเป็นบทเรียนสำหรับผู้คนที่ต้องทําหน้าที่ให้เคร่งครัด
อาจทําให้พระปรีชากลการย่ามใจในฐานะและอยู่กับความทันสมัยในวัฒนธรรมชาวตะวันตก โดยถือเอาเรื่องส่วนตัวในการ ตัดสินใจแต่งงานกับลูกสาวกงสุลน็อกซ์จนสร้างเหตุการณ์ให้ลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสาเหตุสําคัญที่ต้องถูกประหารชีวิต ถือเป็นคดีที่สับสนและเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองภายในเหล่าบรรดาขุนนาง ความแตกต่างทางความคิดของกลุ่มคนหนุ่มและคนสูงอายุในราชสํานัก และการปกครองที่นําโดยพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
ปัญหาความมั่นคงของรัฐที่อาจเกิดจากปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมสยามที่กําลังเปลี่ยนแปลงจากการปกครองของรัฐแบบโบราณ มาสู่การปกครองแบบสมัยใหม่ที่นิยมความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศ รวมทั้งการจัดระบบการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ที่มีการกระชับอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นเดียวกับประเทศเจ้าอาณานิคมในยุคสมัยนั้น จัดการปกครองเช่นเดียวกันกับอาณานิคมของตน
1
ปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมาตั้งแต่ยุคสมัยการปกครองในรูปแบบรัฐโบราณก็คือ “ปัญหาการคอร์รัปชั่น” ดังเช่นพบว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในแทบทุกขั้นตอนที่มีการดูแลโดยขุนนางและผู้ได้รับมอบอํานาจในการจัดการ
ในกรณีสภาที่ปรึกษาในพระองค์และสภาที่ปรึกษาการปกครองเมื่อจะมีการออกกฎหมายในเรื่องการคลังท่ีต้องมีการปรับปรุงก็พบว่ากลุ่มขุนนางผู้ใหญ่ไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในกรณีต่างๆ การสืบสวนถึงเรื่องความขัดแย้งในกลุ่มตระกูลขุนนางเองก็มีความชัดเจนว่า ฟ้องร้องและกล่าวหากันในกรณีทุจริตต่างๆ นี้ ส่วนโทษที่ได้รับนั้นส่วนใหญ่เป็นการริบราชบาทว์และยึดเข้าเป็นของหลวงและไม่ได้มีการลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตแต่อย่างใด
กรณีคดีของพระปรีชากลการที่ถูกประหารชีวิต ในระยะแรกๆ นั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีคําแนะนําต่อพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เน้นในกรณีที่ไม่เคารพพระเจ้าแผ่นดินและกฎเกณฑ์ประเพณีของฝ่ายข้าราชบริพารในราชสํานัก ไม่ได้เน้นไปที่กรณีการทุจริตและประพฤติผิดสร้างความไม่ชอบธรรมในการปกครองราษฎรหรือกระทําทุจริตในการทําเหมืองทองแต่ประการใด
การถูกประหารชีวิตในภายหลังนั้นน่าจะเป็นการตัดสินใจรักษาพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านของสังคมที่กําลังปรับตัวจากสยามแบบรัฐโบราณมาสู่สยามแบบสมัยใหม่มากกว่าอื่นใด เพราะแม้แต่พระปรีชากลการเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะต้องถูกประหารชีวิตในคราวน้ัน
อย่างไรก็ตามการทําเหมืองทองคําที่กบินทร์บุรีก็ยังทําต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเวลาผ่าน ไปราว ๒๐ กว่าปี หลังจากสภาที่ปรึกษาฯ ทั้งสองรูปแบบปรับ เปลี่ยนและยกเลิกไปแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ และกลุ่มตระกูล ขุนนางต่างๆ ไม่ได้มีบทบาทหรืออิทธิพลสูงครอบงำพระราชวงศ์และการปกครองของสยามเช่นที่ผ่านมาและสามารถตั้งกระทรวงต่างๆ เพื่อรับผิดชอบงานด้านต่างๆ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งพระเจ้าน้องยาเธอและพระเจ้าลูกเธอเข้ามามีบทบาทในการบริหารบ้านเมืองทดแทนเหล่าบรรดาลูกหลานในตระกูลขุนนางต่างๆ
2
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัด ตั้งชั้นเรียนภาษาอังกฤษและจัดครูฝรั่งมาถวายพระอักษรบรรดา พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้านายที่ได้รับราชการเป็นเสนาบดีแทบทุกพระองค์ ต่อมายังโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกลูกหลานขุนนางรวมเชื้อพระวงศ์ประมาณ ๒๐ คน ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษท่ีสิงคโปร์อีก ชุดหน่ึง
ความสําคัญของภาษาและวิทยาการตะวันตกมีความสําคัญมากในรัชกาลของพระองค์ จนกลายเป็นความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ขุนนางข้าราชการในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัชกาลพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวท่ีจะส่งบุตรหลานของตนไปศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรป
การเรียนรู้วิทยาการในประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวางในหมู่นักเรียนไทยดังกล่าว มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความคิดที่จะมีส่วนในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยที่บรรดานักเรียนไทยเหล่านั้นไปเห็นมาในหลายประเทศในยุโรป
จนกระทั่งนําไปสู่การแสวงหาเสรีภาพทางหนังสือพิมพ์ การเรียกร้องสิทธิ์ในการมีส่วนปกครองประเทศ จนถึงการ เปลี่ยนแปลงของสังคมสยามอย่างใหญ่หลวงในช่วงเวลาต่อมาอีก ครั้งหนึ่งเมื่อมีการยึดอํานาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา