28 ต.ค. 2022 เวลา 17:00 • ความคิดเห็น
อะไรจะเกิดขึ้นหลังเที่ยงคืน What will happen after midnight?
What happen after midnight? by Shocked Lobster
ในหนึ่งวันของคนเรามีทั้งหมด 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ตื่นนอน ทำงาน และกลับเข้านอน เพื่อพักผ่อนหลังเสร็จสิ้นภารกิจของวัน ก่อนที่เราจะลืมตาอีกครั้งพร้อมวันใหม่ วันหนึ่ง ๆ ที่ผ่านพ้นไป เราต่างใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ โดยอาจไม่ได้สนใจกับชั่วโมงสุดท้าย นาทีสุดท้าย หรือวินาทีสุดท้ายของวัน ก่อนเวลาของวันนั้นจะหมดลง พร้อมกับเข็มนาฬิกาที่เลื่อนไปยังเลข 12 หน้าปัดนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืน อันเป็นจุดสิ้นสุดของวันเก่า ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของวันใหม่
ล่วงเลยเวลาเที่ยงคืนแล้ว ก้าวเข้าสู่วันใหม่ เราเคยคิดไหมครับว่าชีวิตในวันนี้จะเป็นอย่างไร จะเหมือนกับวันก่อนหรือไม่ โดยทั่วไปเราคงคิดว่าชีวิตคงเป็นไปเหมือนที่เคยเป็น รูปแบบเหตุการณ์เดิม ๆ เหมือนชีวิตในวันที่ผ่านมา ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ทำงาน และกลับมาพักผ่อนในช่วงเย็น ดูผิวเผินก็อาจเป็นเช่นนั้น แต่ว่าชีวิตมนุษย์คือ ความไม่แน่นอน ถ้าเราลองตั้งถามกับตัวเองว่า "พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ" หรือ "หลังเที่ยงคืนชีวิตจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ ยามเข้าสู่วันใหม่"
เราอาจฉุกคิดอะไรบางอย่างก็เป็นไปได้ ณ จังหวะที่เข็มนาฬิกาเคลื่อนผ่านเลข 12 ยามที่วันใหม่มาถึง ทุกสิ่งในวันเก่าได้สิ้นสุดลง เวลาได้ล่วงผ่านไปอีกหนึ่งวันแล้ว แต่ชีวิตในวันใหม่ล่ะ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น อาจเป็นตอนที่ฟ้ายังมืดอยู่ ตอนที่เรากำลังหลับ หรือยามรุ่งเช้า ใครจะไปรู้ "แล้วอะไรบ้างล่ะที่จะเกิดขึ้น หลังผ่านพ้นเที่ยงคืนไป"
คำถามนี้อาจไม่ได้ต้องการคำตอบที่จริงจัง แต่ในมุมหนึ่ง มันก็ช่วยกระตุ้นความคิดของเรา เราอาจรู้สึกสงสัย ตื่นตระหนก เป็นกังวล หรือตื่นเต้นกับการคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคต เพราะเมื่อเราเริ่มคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่รู้หรือยังมาไม่ถึง โดยทั่วไปเรามักคิดถึงสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทั้งในแง่ดีหรือเลวร้ายก็ตาม
คืนวันคริสต์มาส เด็ก ๆ นอนรอเวลาที่ซานต้าคลอสเอาของขวัญมาให้ ชีวิตหลังเที่ยงคืนของเด็ก ๆ เหล่านั้น คือเช้าวันใหม่ที่สดใส ความสุขกับของขวัญที่ได้รับ อีกมุมหนึ่ง ชีวิตของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ที่กำลังเร่งทำโครงงานให้เสร็จทัน ก่อนเที่ยงคืน หากทำไม่ทันส่ง ชีวิตของพวกเขาหลังเที่ยงคืน คงเต็มไปด้วยปัญหาด้านการเรียน สิ่งต่าง ๆ ที่ตามมา ทั้งผลการเรียนที่ไม่น่าพึงพอใจ ความกดดันจากครอบครัว หรือตัวเอง
บางครั้งความรุนแรงของเหตุการณ์ หรือปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ความยากต่อการคาดเดา หรือผลลัพธ์ที่ตามมา ก็อาจช่วยเสริมให้คำถามนี้ดูหนักแน่นยิ่งขึ้น เคยลองคิดไหมครับว่า "ถ้าหากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเราล่ะ หลังผ่านพ้นเวลาเที่ยงคืนไป อาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้อีกแล้ว เราอยากจะทำอะไรเป็นสิ่งสุดท้าย"
ตัวอย่างนะครับ ในปี 1947 นักวิทยาศาสตร์ของ "จดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์" (Bulletin of Atomic Scientists) ได้สร้างตัวแทนเพื่อวัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์อาวุธนิวเคลียร์ เรารู้จักกันในชื่อ "นาฬิกาวันสิ้นโลก" (Doomsday Clock) นาฬิกานี้แสดงตัวเลข 9 ถึง 12 บ่งบอกเสี้ยวเวลาสุดท้ายของโลกก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤต ลองคิดดูครับว่า หากนาฬิกาดังกล่าวบอกเวลาเที่ยงคืน นั่นคือจุดวิกฤตของภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ วันใหม่ของเราคงเป็นอีกช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด หรือวันใหม่นั้นอาจไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย
เที่ยงคืน จึงเป็นอีกหนึ่งเวลาที่เป็นทั้งจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด หรืออาจเป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ ที่อาจส่งผลต่อชีวิตของเรา การที่เราได้ลองตั้งคำถามกับตัวเอง หรือคิดถึงอนาคตและความไม่แน่นอนของชีวิต อาจทำให้เราใส่ใจกับชีวิตของเรามากขึ้น และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ว่าเวลาของวันนี้ใกล้จะหมดลง หรือวันใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นก็ตาม แล้วทุกท่านล่ะครับ คิดว่า "ชีวิตหลังเที่ยงคืนนี้จะเป็นอย่างไร"
อ้างอิง:
1. Bill Newcott. (2565). The atomic scientists' Doomsday Clock is now 75—and threats to civilization still abound. เข้าถึงเมื่อ 26 ตุลาคม 2565, จาก https://www.nationalgeographic.com/history/article/the-doomsday-clock-is-now-75-and-its-still-ticking
โฆษณา