Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
10 ต.ค. 2022 เวลา 03:45 • หนังสือ
ความไว้เนื้อเชื่อใจ
Photo by Alex Shute on Unsplash
คนไทยและคนทั่วโลกมีสำนวนที่เกี่ยวข้องกับการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแปลกหน้า เช่น "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง" หรือในท่อนหนึ่งของเรื่องสุดสาครที่โด่งดังของสุนทรภู่ที่ว่า "... แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ไม่เคี้ยวคดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน ..."
เราไม่ควรไว้ใจใครง่ายๆ จริงหรือ ?
มีงานวิจัยจากทีมของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ระบุว่า การไว้วางใจคนอื่นกับระดับสติปัญญาอาจจะเกี่ยวข้องกัน คือคนที่เฉลียวฉลาดมีแนวโน้มจะยิ่งไว้ใจคนมากกว่า
ผลการค้นพบนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร PLOS ONE ฉบับที่ 3 ปีที่ 9 เดือน มี.ค. 2014
แต่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ คณะนักวิจัยพบว่าพวกที่ไว้ใจคนอื่นมากกว่ายังเป็นพวกที่มีความสุขและมีสุขภาพดีกว่าอีกด้วย
ทำไมจึงเป็นเชนนั้น ?
เรื่องความเชื่อใจแบ่งได้เป็นสองแบบคือ ความเชื่อใจแบบทั่วไป (generalized trust) ซึ่งมีให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมอย่างไม่เจาะจง กับอีกแบบหนึ่งคือ ความเชื่อใจแบบจำเพาะ (particularized trust) ซึ่งมีให้กับคนในครอบครัว ญาติมิตร หรือเพื่อนสนิท
งานวิจัยก่อนหน้านี้ทำให้ทราบว่า ความเชื่อใจทั้งสองแบบนี้แตกต่างกันอยู่หลายอย่าง
ความเชื่อใจแบบทั่วไปสำคัญต่อวัฒนธรรมและสังคมมาก อีกทั้งส่งผลกระทบต่อคนแต่ละคนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการค้าการลงทุน กิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ รวมไปถึงการประเมินและรายงานผลสุขภาพตัวเอง (ที่หลายคนมักจะมีอคติรายงานไม่ตามจริง) ไปจนถึงเรื่องความสุขในชีวิต
มีการศึกษาพบว่าในสังคมที่ประชากรเชื่อถือกันมากกว่า จะช่วยส่งเสริมให้สถาบันสาธารณะต่างๆ ในสังคมนั้นเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ระดับความเชื่อใจกันในสังคมที่สูงกว่ายังทำให้หลายประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าด้วยเช่นกัน เพราะมีคนออกมาเริ่มต้นทำธุรกิจ ออกมาเป็นอาสาสมัครช่วยงานต่างๆ มากขึ้น
แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ พบกันว่าคนในสังคมเช่นนั้นมักจะมีสุขภาพของร่างกายดีกว่า และมักรู้สึกมีความสุขกับสถานภาพชีวิตโดยรวมมากกว่าอีกด้วย
เคยมีงานวิจัยปี 2010 ที่ศึกษาชาวสหราชอาณาจักร (Sturgis P. et al, Intelligence 38: 45-54) พบว่า ในคนอายุ 34 ปีนั้นความเชื่อใจแบบทั่วไปสัมพันธ์กับค่าระดับไอคิวที่เคยวัดไว้ตอนอายุ 10-11 ปี
ทั้งนี้ในงานวิจัยดังกล่าวได้ตัดตัวแปรทางสังคมเศรษฐกิจต่างๆ ออกแล้ว ซึ่งก็รวมทั้งการให้คะแนนสุขภาพและระดับความสุขของตัวเองด้วย
มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปี 2013 นี่เอง (Hooghe M. et al, Intelligence 40: 604-613) ที่สรุปข้อมูลจากชาวดัทช์ว่า ระดับสติปัญญาเกี่ยวข้องอย่างน้อยก็บางส่วนกับระดับการศึกษาและความเชื่อใจแบบทั่วไป
กลับมาที่งานวิจัยนี้ที่ทำโดยโนอาห์ คาร์ล (Noah Carl) และฟรานเซสโก บิลลารี (Francesco Billari) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทั้งคู่พยายามทดสอบซ้ำสองการทดลองข้างต้น
โดยใช้วิธีดึงข้อมูลจากการสำรวจเชิงสังคมทั่วไป (General Social Survey) ซึ่งสหรัฐฯ สำรวจประชากรของตนเองทุกๆ 1-2 ปีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1972 แล้วสุ่มเลือกคนเหล่านี้มาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งก็ได้มากกว่า 26,000 คน
พวกเขาทดสอบระดับสติปัญญาโดยวัดความสามารถเชื่อมโยงระหว่างคำกับวลีที่จัดให้ในแบบทดสอบ จากนั้นจึงวัดความเชื่อใจทั่วไปด้วยวิธีมาตรฐานคือ อาศัยคำถามสั้นๆ เช่น "หากกล่าวโดยรวมๆ แล้ว คุณคิดว่าคนส่วนใหญ่เชื่อถือได้ หรือกล่าวอีกอย่างเราต้องไม่ระวังตัวแจจนเกินไป ใช่หรือไม่ ?"
โดยคำตอบที่เลือกตอบได้ก็อาจจะเป็น "เชื่อถือได้" "เชื่อถือได้ไม่ได้" หรือ "แล้วแต่" เป็นต้น
จากนั้นจึงนำคำตอบที่ได้มาแปลงเป็นค่าตัวเลขเพื่อใช้ในการคำนวณ
ส่วนการประเมินสุขภาพตัวเองก็อาศัยคำถาม เช่น "กล่าวโดยทั่วไป คุณมีสุขภาพตัวเองเป็นเช่นใด - ดีเยี่ยม ดี พอใช้ หรือแย่ ?"
และเรื่องความสุขก็ถามว่า "หากประเมินโดยรวม คุณรู้สึกว่า "มีความสุขมาก ค่อนข้างมีความสุข หรือไม่มีความสุข ?" เป็นต้น
จากนั้นจึงแปลงข้อมูลที่ได้เป็นค่าตัวเลขอีกเช่นกัน เพื่อนำมาคำนวณเปรียบเทียบ
การทดลองนี้ควบคุมตัวแปรหลักๆ ที่อาจส่งผลกระทบได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ ชาติพันธุ์ ภาษา ระดับการศึกษา สถานะการแต่งงาน และรายได้
Photo by Marek Piwnicki on Unsplash
เมื่อวิเคราะห์ผลที่ได้ก็ทำให้ทราบว่า ความเชื่อใจแบบทั่วไปมีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญา โดยไม่ขึ้นกับสถานะชีวิตคู่ การศึกษา หรือรายได้
คำอธิบายแบบหนึ่งก็คือ คนที่ฉลาดมักจะสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของคนอื่นได้ดี จึงทำให้ไม่ค่อยโดนหักหลัง จึงทำให้เชื่อใจคนได้มากกว่าไปด้วย และเรื่องนี้อาจเป็นผลลัพธ์จากวิวัฒนาการด้วย
ความเชื่อใจแบบนี้เกี่ยวข้องกับลักษณะทางสุขภาพและความสุขอีกด้วย แต่เมื่อตรวจหาความสัมพันธ์ระหว่างไอคิวกับเรื่องการประเมินสุขภาพและความสุข กลับไม่พบความสัมพันธ์กัน
แสดงว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรง
กล่าวสรุปแบบง่ายๆ ว่า รายงานวิจัยฉบับนี้และฉบับอื่นๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นชี้ให้เห็นว่า คนฉลาดเชื่อใจคนอื่นมากกว่าคนทั่วไป สวนทางกับความเชื่อที่ว่าไม่ควรไว้ใจคนอื่นมากนัก
คนที่เชื่อใจคนอื่นมากกว่า ยังมองโลกบวกมากกว่า มีสุขภาพดีกว่า และความสุขมากกว่า
ผลพลอยได้ก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม (อาจ) จะกลายเป็นหนึ่งในต้นเชื้อสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในสังคมนั้นด้วย !
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
หน้าปกหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน, สอบถามรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/matichonbook
งานวิจัย
ความฉลาด
ความสุข
บันทึก
2
3
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย