Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TODAY Bizview
•
ติดตาม
10 ต.ค. 2022 เวลา 07:31 • ธุรกิจ
เปิดมุมมอง ‘ดร.วีระพงศ์ โก’ คนไทยคนแรก CEO ลาซาด้าประเทศไทย ไม่ปลดคน ไม่ลดคอสต์ และยังไม่โฟกัสกำไร
แม้ ‘ลาซาด้า’ จะให้บริการในไทยมาครบ 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาตำแหน่งซีอีโอของลาซาด้า ประเทศไทย ก็เป็นชาวต่างชาติมาตลอด
จนกระทั่งล่าสุดในเดือน ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่ลาซาด้าประกาศให้ ‘ดร.วีระพงศ์ โก’ รับตำแหน่งซีอีโอ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้นั่งตำแหน่งนี้
ภายใต้การบริหารของคนไทยคนแรก ‘ดร.วีระพงศ์’ วางแนวทางให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนี้ไว้อย่างไร จะลดโปรโมชั่น ลดแจกคูปอง ลดค่าใช้จ่าย เพื่อมุ่งโฟกัสกำไรหรือเปล่า TODAY Bizview ชวนอ่านมุมมองของเขาไปด้วยกัน
[ ลูกหม้อคนเก่งของลาซาด้า ]
ดร.วีระพงศ์ โก หรือเรียกสั้นๆ ว่า ดร.โก ซีอีโออายุ 37 ปีรายนี้เริ่มทำงานกับลาซาด้าตั้งแต่ปี 2562 และสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ 4 เดือนแรกที่เข้ามา
เขาบอกว่า โจทย์แรกที่ได้รับในตอนนั้น คือการขยายธุรกิจ LazMall จาก 300 แบรนด์ ให้เป็น 1,200 แบรนด์ภายใน 6 เดือน แต่ที่น่าทึ่งกว่าก็คือ ดร.วีระพงศ์ สามารถพิชิตโจทย์นี้ได้ภายในเวลาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น
เขาบอกว่าช่วงแรกมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากแบรนด์ดังๆ ไม่อยากมาอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เขาจึงอาศัยวิธีนำเรื่องประสบการณ์การช้อปปิ้งไปขายกับแบรนด์ใหญ่ จนเมื่อมีแบรนด์ใหญ่ๆ เข้ามา ก็สร้างความมั่นใจให้แบรนด์เล็กๆ อยากเข้ามาอยู่ด้วย
และจนถึงตอนนี้ LazMall มีแบรนด์สินค้าครอบคลุมมากกว่า 3,000 แบรนด์แล้ว ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ
ผลงานของ ดร.วีระพงศ์ ยังรวมไปถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับลาซาด้าตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบแคชแบ็ก ระบบการแจกโบนัส การทำวอลเล็ต รวมไปถึงส่วนที่สำคัญต่อธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากๆ อย่าง ‘โลจิสติกส์’
ดร.วีระพงศ์ บอกว่า โลจิสติกส์คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะการจัดส่งได้ไว บรรจุภัณฑ์ไม่บุบสลาย ของไม่เสียหาย เป็นส่วนที่สร้างประสบการณ์ที่ดีของการซื้อของออนไลน์ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งถ้าเขามีประสบการณ์ที่ดี เขาก็จะกลับมาซื้อซ้ำนั่นเอง
ทุกวันนี้ นอกจากขนส่งเอกชนเจ้าอื่น ลาซาด้าก็มีระบบขนส่งของตัวเอง มีการทำคลังสินค้า และพัฒนาการขนส่งจนมีความเร็วเฉลี่ยของการจัดส่งในประเทศอยู่ที่ 2.7 วันเท่านั้น
[ อยากให้อีคอมเมิร์ซไทยโตเท่าจีน ]
ดร.วีระพงศ์ บอกว่า แม้อีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับจีนแล้ว ก็ยังถือว่าเล็กอยู่มาก
กล่าวคือ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนมีสัดส่วนอยู่ราว 42-46% จากตลาดค้าปลีกทั้งหมด สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณเกือบ 40% ขณะที่อีคอมเมิร์ซไทยอยู่ที่ราวๆ 12-15% เท่านั้น
1
เขาบอกว่า จากผลสำรวจของลาซาด้าพบว่า 76% ของผู้บริโภคซื้อของออนไลน์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่ยังซื้อของกระจุกกระจิก ราคาไม่ได้แพงมากอยู่ ต่างจากผู้บริโภคชาวจีนที่ซื้อสินค้าใหญ่ๆ ราคาแพง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าไอที ก็ซื้อบนออนไลน์
ส่วนคนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าการซื้อของชิ้นใหญ่ควรไปซื้อที่ร้าน ได้จับของ ได้ลอง ได้สัมผัสก่อน ถึงจะได้สินค้าที่ถูกใจจริงๆ
ดร.วีระพงศ์ บอกว่า เป้าหมายของเขาคืออยากให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตเท่าจีน ซึ่งดูแล้วก็ยังมีโอกาสเติบโตอยู่ เพียงแต่ต้องพยายาม ‘ละลายพฤติกรรมผู้บริโภค’ ให้หันมาซื้อของชิ้นใหญ่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
บนความพยายามดังกล่าว สิ่งที่ลาซาด้าทำไปแล้ว คือการให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) อย่างเช่นการไปร่วมกับงานคอมมาร์ท หรืองานโมบายล์เอ็กซ์โป ให้ลูกค้าไปจับไปลองของที่งาน แล้วสั่งบนลาซาด้าได้
หรือร่วมกับร้านขายยางรถยนต์ ให้ลูกค้าซื้อยางบนออนไลน์ แล้วไปรับบริการเปลี่ยนยางที่ร้านได้ เป็นต้น
[ ลงทุนแบบระมัดระวัง และยังไม่โฟกัสกำไร ]
ปี 2564 ที่ผ่านมา ลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าเดียวในไทยที่ทำกำไรได้แล้ว
โดยตัวเลขกำไรของบริษัท ลาซาด้า จำกัด อยู่ที่ 226.9 ล้านบาท ส่วนปี 2565 นี้ลาซาด้ารายตัวเลขกำไรต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ 413 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ขาดทุนไปถึง 4,000 ล้านบาท
ตัวเลขกำไรสะท้อนได้ดีว่าลาซาด้าไม่ได้ประสบวิกฤตเหมือนคู่แข่งรายอื่น ดร.วีระพงศ์ บอกว่า ลาซาด้ายังไม่มีการปลดพนักงาน และยังมีการลงทุนอยู่ตลอด โปรโมชั่นหรือแคมเปญต่างๆ ก็ยังคงจัดอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานที่เห็น เป็นผลมาจากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของลาซาด้าตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่ก่อนจะลงทุนอะไรสักอย่าง จะมีการวิเคราะห์ก่อนตลอด
ซึ่งแนวทางต่อจากนี้ของลาซาด้าก็ยังคงเป็นแบบเดิม คือ ยังไม่โฟกัสกำไรในช่วงนี้ ไม่ลดคอสต์ ไม่ได้ชะลอการลงทุน แต่จะเป็นการลงทุนแบบระมัดระวัง
ดร.วีระพงศ์ บอกว่าผลประกอบการที่ได้กลับมา ก็จะนำไป Re-Invest ในส่วนต่างๆ ของลาซาด้า ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ โปรดักต์หรือแพลตฟอร์มของลาซาด้าเอง รวมไปถึงระบบเพย์เมนต์ (ที่ในอนาคตเตรียมเปิดตัวบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง)
แต่โดยรวมคือตอนนี้ลาซาด้ายังโฟกัสไปที่ “การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค” เพื่อเพิ่มจำนวนแอคทีฟยูสเซอร์บนแพลตฟอร์มให้ถึงตามเป้าหมาย 45 ล้านคน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 30 ล้านคน/วัน
ส่วนในเรื่องของการแข่งขัน เขามองว่าในสนามอีคอมเมิร์ซไทยตอนนี้ การมีคู่แข่งยังคงเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะการแข่งขันจะทำให้แต่ละแพลตฟอร์มพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น และพัฒนาให้ระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตและแข็งแรงกว่าเดิม
[ ดันร้านค้าไทยไปโกลบอล ]
อย่างที่บอกว่าลาซาด้าอยากให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโต และดิจิทัลอีโคโนมีของไทยแข็งแรง นั่นทำให้ลาซาด้ากำลังจะเปิดตัว LazGoGlobal ดันผู้ประกอบการไทยให้นำสินค้าไปขายในอาเซียนได้
ดร.วีระพงศ์ บอกว่า คนอาเซียนมองว่าสินค้าของไทยน่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น ซึ่งสิ่งที่ลาซาด้าจะต้องลงทุนพัฒนาคือเรื่องระบบหลังบ้าน ให้พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องเปิดหลายช็อป คือเปิดช็อปเดียวบนแพลตฟอร์มก็สามารถ manage ได้ในทุกประเทศเลย นอกจากนี้ก็ต้องช่วยเรื่องโลจิสติกส์ให้กับพ่อค้าแม่ค้าด้วย
สำหรับปัจจุบันโปรเจ็กต์ดังกล่าวยังอยู่ในช่วง pilot และคาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการหลังช่วงช้อปปิ้ง 11.11
และนี่ก็คือมุมมองวิสัยทัศน์ของซีอีโอคนไทยคนแรกของลาซาด้าประเทศไทย กับเป้าหมายสำคัญที่อยากให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโต และอยากให้ ‘ลาซาด้า’ เป็นแพลตฟอร์มแรกๆ ที่คนนึกถึงเวลาจะซื้อของออนไลน์
ส่วนเขาจะทำได้ตามเป้าหมายไหม? คงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไป
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย