หรือก่อนหน้านี้ในปี 2559 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ กลุ่มพิพิธภัณฑ์และนักวิจัยได้ทำการเปิดเผยภาพที่มีชื่อว่า The Next Rembrandt สร้างขึ้นโดย AI ที่วิเคราะห์ผลงานหลายพันชิ้นที่สร้างขึ้นโดย Rembrandt Harmenszoon van Rijn ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 17
นอกจากนี้ Deep Mind บริษัทของ Google ก็ได้สร้างซอฟต์แวร์ที่สามารถสร้างเพลง ขึ้นมาใหม่โดยอาศัยการเรียนรู้จากเสียงเพลงต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้
ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของการสร้างสรรค์ผลงานโดย AI ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ภายใต้ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ ไม่ถือว่า AI เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน เนื่องจากตามหลักลิขสิทธิ์ได้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นรางวัลแก่ทักษะ แรงงาน และกระบวนการตัดสินใจ
แม้ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายของประเทศใดห้ามการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างโดย AI ไว้ชัดเจน
ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคดี Feist Publications v Rural Telephone Service Company ศาลได้วาง หลักว่าลิขสิทธิ์นั้นจะคุ้มครองเฉพาะ “ผลของแรงงานทางปัญญา (Fruits of Intellectual Labor)” ที่ “สร้างสรรค์ขึ้นโดยจิตใจของมนุษย์ (Creative power of mind)”
ในสหภาพยุโรป The European Court of Justice วางหลักการว่าการสร้างสรรค์ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ต้องสะท้อนถึง “การสร้างสรรค์ทางปัญญา” และบุคลิกของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งหมายความว่าความเป็นมนุษย์นั้นมีความจำเป็นต่อการได้รับความคุ้มครองสิทธิ
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงยังคงเห็นว่าลิขสิทธิ์ควรมุ่งปกป้องความคิด สร้างสรรค์ของมนุษย์ ไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ของ AI ดังนั้นงานที่สร้างขึ้นโดย AI และอาจแข่งขันกับงานที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ควรได้รับความคุ้มครอง
คำถามที่ตามมาคือ มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมอบความคุ้มครองให้กับโปรแกรมเมอร์ผู้พัฒนา AI
การปกป้องงานที่สร้างโดย AI อาจเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล หากจูงใจให้เกิดการลงทุนใน AI โดยมีข้อสังเกตว่า ประเทศที่มีบทบัญญัติเหล่านี้โดยมากเป็นประเทศที่พยายามผลักดันนโยบายให้ประเทศเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้าน AI และศูนย์กลางของนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven innovation)
ในปี 2562 สมาคมระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (AIPPI) ได้สอบถามความเห็นประเทศสมาชิกว่างานที่สร้างโดย AI ควรได้รับการคุ้มครองหรือไม่
คำตอบที่ได้รับแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเห็นว่างานที่สร้างโดย AI สามารถได้รับการคุ้มครองโดยควรมีระยะเวลาความคุ้มครอง 25 ปี เพื่อตอบแทนนักลงทุนและนักพัฒนา AI กลุ่มที่ 2 แย้งว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ควรเป็นผลมาจาก ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้น
แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีบทสรุปในระดับสากลว่าจะมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานที่สร้างขึ้นโดย AI ในแนวทางใด แต่การไม่มีระบบกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองงานที่สร้างสรรค์โดย AI เลยอาจส่งผลกระทบในเชิงพาณิชย์ได้
เนื่องจากหากไม่มีการคุ้มครองก็จะถือว่าเป็นผลงานไม่มีลิขสิทธิ์ ทุกคนสามารถใช้และทำซ้ำได้อย่างอิสระ ซึ่งอาจไม่ส่งผลดีนักสำหรับบริษัทที่ลงทุนสร้าง AI ที่อาจใช้เงินลงทุนในสิ่งต่างๆ ที่ใช้สร้างสรรค์ผลงาน เช่น AI อาจแต่งเพลงที่อาจมีความเป็นต้นฉบับ แต่เพลงนั้นกลับถูกคนทั่วไปนำไป ทำซ้ำได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ขณะเดียวกัน ควรต้องชั่งน้ำหนักกับความสามารถในการเข้าถึงงานที่สร้างสรรค์ด้วย AI ของผู้ใช้แอปพลิเคชันและคนทั่วไปด้วย เพราะการส่งเสริมให้ใช้ AI สร้างสรรค์งานต่างๆ มากขึ้นยังมีความสำคัญ เพื่อประหยัดทั้งต้นทุนด้านเวลาและแรงงาน ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ
โจทย์เรื่องลิขสิทธิ์ยังมีอีกความท้าทายสำคัญ คือ ความยากในการแยกให้ออกระหว่าง ผลงานโดยมนุษย์ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ กับผลงานที่สร้างโดย AI ซึ่งมี ผลต่อการพิจารณาว่าใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์ ในอนาคตจึงต้องหาแนวทางและใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบปัญหานี้ด้วย