10 ต.ค. 2022 เวลา 14:57 • สุขภาพ
EP.02 The Hallmarks of Aging
สัญลักษณ์แห่งความแก่
ทั้ง 9 ประการ
เมื่อก่อนเราเชื่อว่าความแก่เกิดจากความเสื่อมตามเวลา แต่ตอนนี้เราอธิบายได้ลึกระดับเซลล์แล้วว่า ทำไมเราถึงแก่ และที่สำคัญเราสามารถควบคุมมันได้!!!!
คำเตือน: ยาวมาก ศัพท์แพทย์เยอะ ใครไม่ไหว ข้ามไปอ่านสรุปด้านล่างได้เลยจ้า
อ้างอิงจากงานของคุณ Carlos López-Otín และคณะ ได้ตีพิมพ์ในวรสาร Cell (ในวงการแพทย์คือยิ่งใหญ่มาก) ถึงคุณลักษณะของ Aging cell ไว้ 9 ประการ ดังนี้
1. Genomic instability: ยีนส์ขาดเสถียรภาพ
ยีนส์ของเราคือชุดคำสั่งอยู่บน DNA ทุกครั้งที่เซลล์ต้องทำงาน แบบอยากจะสร้างโปรตีนซักตัว ก็ต้องมีการคัดลอกคำสั่งจากยีนส์ ทีนี้ DNA มันก็เป็นสายคู่ยาวๆ เน๊อะ ขดไปขดมา จะใช้ทีก็แกะออกมาลอกที แกะไปแกะมา มันก็เกิดความเสียหายบ้างแหละ อนุมูลอิสระก็เยอะแยะวิ่งชน DNA อีก แถมยังมีปัจจัยภายนอก พวก UVs เอย สารเคมีเอย จริงๆก็ซ่อมตัวเองได้นะ แต่ถ้าบ่อยๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน DNA พังก็มีได้หลายแบบทั้ง เทโลเมียสั้นลง , สายขาด, ประกบผิดคู่ ต่างๆสารพัด
2. Telomere Attrition: เทโลเมียร์สึกกร่อน
เทโลเมียร์คือ ฝาปิด DNA ทุกครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ ฝานี้จะต้องถูกเปิด เพื่อเอา DNA มาก๊อปปี้ทั้งสาย ทีนี้ พอปิดๆเปิดๆ ฝาก็เริ่มจะสึกหรอ จนถึงขีดจำกัด เรียกว่า Hayflick limit ไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกแล้ว ถ้าเป็นตัวเราก็น่าจะช่วงวัยกลางคนแหละที่ไม่โตอีกแล้ว
ดังนั้นเซลล์ก็จะหาทางระบายพลังงานออกด้วยวิธีอื่นแทน (กลับไปอ่าน Ep.01 ปฐมบทแห่งความแก่)
3. Loss of Proteostasis: ผลิตโปรตีนขาดคุณภาพ
โปรตีนคือสายกรดอะมิโนยาวๆต่อกัน ทีนี้ปกติเซลล์ต้องผลิตโปรตีนเอาไว้ทำงาน แต่โปรตีนจะต้องถูกพับอย่างดี ถึงจะทำงานได้ แต่เซลล์ที่มันแก่เนี่ย มันก็พับโปรตีนไม่ดี พับมั่วๆ กลายเป็นโปรตีนที่ผลิตมาทำงานไม่ได้เฉย ละทำไงล่ะ ก็เป็นขยะสิ ลอยไปลอยมา บ้างก็ถูกทำลาย บ้างก็ถูกเอาไปพับใหม่ แต่ก็ไม่ทัน เกิดเป็นของเสียสะสมในเซลล์
4. Deregulated Nutrient-sensing: สารอาหารเร่งแก่
อันนี้เป็นเรื่องของ mTOR กับสารอาหาร (กลับไปอ่าน ปฐมบทแห่งความแก่) เพิ่มเติมนิดหน่อยคือ เวลาเรากินน้ำตาลหรือแป้งเนี่ย ร่างกายก็จะต้องหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา เพื่อเอาน้ำตาลเข้าเซลล์ไปเป็นพลังงาน สร้างนั่นนี่ แต่อินซูลินมันออกฤทธิ์ได้แป๊บเดียว มันเลยต้องไปสร้างตัวตายตัวแทนที่ตับ ชื่อ Insulin growth fator (IGF-1) ตัวนี้แหละทำให้เราเจริญเติบโต หรือแก่ หรือมะเร็ง (เดี๋ยวไว้ค่อยมาเล่าเรื่องมะเร็งอีกที)
5. Mitochondrial dysfunction: ไมโตรคอนเดรียพัง
ไมโตรคอนเดรีย คือ เครื่องยนต์ของเซลล์ ผลิตพลังงานมี DNA เป็นของตัวเอง ทีนี้ ถ้าเราใช้งานหนักๆ เกิดอนุมูลอิสระเยอะ เครื่องยนต์ก็สึกหรอ เซลล์ก็ไม่มีพลังงาน
6. Cellular Senescence: เซลล์ชรา
เมื่อกี้พูดเรื่อง Haylick limit ไปแล้ว เกิดจาก telomere shortening เมื่อเซลล์มันแก่แบ่งตัวไม่ได้ ณ จุดจุดหนึ่ง เซลล์ก็เลือกที่จะจำศีล แบบไม่ทำอะไรเลย ไม่ผลิตโปรโตงโปรตีนอะไรทั้งนั้น ดังนั้นเนื้อเยื่อของคนแก่ก็จะมีเปอร์เซ็นต์ของเซลล์ชรามากกว่าคนหนุ่มสาว
7. Stem cell exhaustion: สเต็มเซลล์อ่อนล้า
สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์อ่อนที่แบ่งตัวไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆของร่างกาย (เหมือนยูมีร์จากเรื่อง Attack on Titan ก็ว่าได้) ทีนี้แบ่งบ่อยๆก็เหนื่อย ก็แบ่งได้ช้าลง น้อยลง
8. Altered Intercellular Communication: สื่อสารมั่ว
ปกติแล้วแต่ละเซลล์จะสื่อสารไม่ใช้กระแสจิต แต่ก็ใช้พวกโปรตีนนี่แหละ โดยเฉพาะกลไกการอักเสบจะมีการส่งสารไปเรียกพรรคพวกมา ณ จุดเกิดเหตุ ทีนี้พอเซลล์แก่ก็สื่อสารมั่วชอบแชร์เฟคนิวส์ไปเรื่อยเปื่อย เซลล์อักเสบก็มาเพียบ เกิดการอักเสบมหาศาล หลอดเลือดก็พัง เนื่อเยื่อก็พังละทีนี้
9. Epigenetic Alterations: ปัจจัยเหนือยีนส์
ปัจจัยเหนือยีนส์ฟังดูไม่เข้าใจเลย ถ้าอธิบายว่า เป็นคำสั่งเบื้องหลังการสั่งการของนายกรัฐมนตรีอีกทีนึง จะเข้าใจมั้ย 5555 เป็นสิ่งที่ควบคุมการแสดงออกของยีนส์อีกที ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะผ่านร่างกฎหมายไหนบ้าง เอ้า ผิดๆๆ จะสังเคราะห์โปรตีนไหนเมื่อไหร่ ซึ่งพวกนี้ส่วนหนึ่งก็ถูกกำหนดโดย lifestyle ของเรานะ
เอ้าครบแล้ว มาสรุปหน่อย 9 ประการมีอะไรบ้าง
  • 1.
    genomic instability: ยีนส์ขาดเสถียรภาพ
  • 2.
    telomere attrition: เทโลเมียร์สึกกร่อน
  • 3.
    Loss of Proteostasis: ผลิตโปรตีนขาดคุณภาพ
  • 4.
    Deregulated Nutrient-sensing: สารอาหารเร่งแก่
  • 5.
    Mitochondrial dysfunction: ไมโตรคอนเดรียพัง
  • 6.
    Cellular Senescence: เซลล์ชรา
  • 7.
    Stem cell exhaustion: สเต็มเซลล์อ่อนล้า
  • 8.
    Altered Intercellular Communication: สื่อสารมั่ว
  • 9.
    Epigenetic Alterations: ปัจจัยเหนือยีนส์
เราได้อะไรจากเรื่องนี้?
ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีทางการแพทย์จะลงลึกแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ตามกลไกทั้ง 9 ที่กล่าวมา ทั้งนี้สิ่งที่เราสามารถแก้ไขได้เองโดยไม่ต้องรอยาหรือเทคโนโลยีอะไรเลยคือ
- บริโภคอาหารแต่พอดี (ลดข้อ 4)
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแบบ Cardio/HIIT เพื่อให้ mitochondria ทำงานได้ดีขึ้น (ลดข้อ 5)
- หลีกเลี่ยงสารพิษทั้งในอาหารและสิ่งแวดล้อม ลดความเครียด นอนให้ดี เพื่อลดอนุมูลอิสระในร่างกาย (ลดข้อ 1, 3, 6, 9)
ที่เหลือ ก็เป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยี ยา หรือสารอาหารเข้ามาบำบัดเพิ่มเติม
  • Ref: López-Otín C, Blasco MA, Partridge L, Serrano M, Kroemer G. The hallmarks of aging. Cell. 2013 Jun 6;153(6):1194-217. doi: 10.1016/j.cell.2013.05.039. PMID: 23746838; PMCID: PMC3836174.
จบล่ะ ยาวสุดๆ เอาไว้จะมาต่อเรื่องมะเร็งนะ อันนั้นน่าจะยาวกว่านี้อีก 5555
<3 Dr.Dream

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา