10 ต.ค. 2022 เวลา 16:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"การหลอมรวมของการปฏิบัติการไซเบอร์และสงครามอิเล็กทรอนิกส์"
สรุปและเรียบเรียงโดย พ.อ. ชัยยศ ศุภมิตรกฤษณา
การหลอมรวมผลกระทบของ Cyber Operations และ Electronic Warfare
การปฏิบัติการไซเบอร์ (CO : Cyber Operations) คือ “การใช้ขีดความสามารถทางไซเบอร์สเปซที่มีความมุ่งหมายหลักคือการบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในหรือผ่านไซเบอร์สเปซ” ส่วนสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (EW : Electronic Warfare) คือ “การปฏิบัติทางทหารที่เกี่ยวกับการใช้แม่เหล็กไฟฟ้าและพลังงานเพื่อควบคุมแถบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเพื่อโจมตีข้าศึก” คำนิยามดูเหมือนแทบจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ทั้ง 2 เรื่อง กลับมีแนวทางปฏิบัติที่เหมือนกัน 3 ประการ คือ การปฏิบัติการเพื่อ โจมตี (attack) ป้องกัน (defense) และสนับสนุน (support)
ในขณะที่ “การปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์” (OCO : Offensive Cyber Operations) แสดงพลังโดยใช้แอปพลิเคชั่นโจมตีทั้งในและผ่านไซเบอร์สเปซ “การโจมตีทางอิเล็กทรอนิกส์” (EA : Electronic Attack) เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโจมตีบุคคล สิ่งอํานวยความสะดวก หรือยุทโธปกรณ์ โดยมีเจตนาที่จะลดทอน ทําให้เป็นกลาง หรือทําลายความสามารถในการต่อสู้ของศัตรู
“การปฏิบัติการป้องกันทางไซเบอร์” (DCO : Defensive Cyber Operations) ใช้ขีดความสามารถเชิงรุกและรับในการป้องกันข้อมูล เครือข่าย ขีดความสามารถในการใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง และระบบที่ได้รับมอบหมาย ในขณะที่ “การป้องกันทางอิเล็กทรอนิกส์” (EP : Electronic Protection) คือการปฏิบัติเพื่อปกป้องกำลังพล สิ่งอำนวยความสะดวก และยุทโธปกรณ์จากผลกระทบในการใช้แถบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งจากศัตรูหรือฝ่ายเราซึ่งมีผลทำให้ขีดความสามารถในการรบของฝ่ายเราถูกลดทอน ทำให้เป็นกลาง หรือถูกทำลาย
“การปฏิบัติการเครือข่ายสารสนเทศ” (INO : Information Network Operations) คือการปฏิบัติเพื่อ ออกแบบ สร้าง ปรับแต่ง ทำให้ปลอดภัย ควบคุม ดูแลรักษา และดำรงระบบสื่อสารและเครือข่ายในแนวทางที่สร้างและทำให้ข้อมูลพร้อมใช้งาน ไม่ซ้ำซ้อน เชื่อถือได้ ตลอดจนการรับรองความถูกต้องหรือการปฏิเสธผู้ใช้
ในขณะที่ “การสนับสนุนทางอิเล็กทรอนิกส์” (ES : Electronic Support) คือการปฏิบัติเพื่อค้นหา ดักรับ ระบุที่ตั้งของแหล่งแพร่พลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ มีความมุ่งหมายเพื่อระบุภัยคุกคาม กำหนดเป้าหมาย วางแผน และนำการปฏิบัติในอนาคต
CO และ EW ต่างเริ่มต้นที่เลเยอร์ 1 (ชั้นกายภาพ) ของโมเดล OSI (Open Systems Interconnection คือ มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงถึงวิธีการในการส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งผ่านเครือข่ายไปยังคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่ง) การรวม Internet Protocol (IP) เข้ากับระบบการสื่อสาร ทำให้การรบกวน (jamming) การสื่อสาร ต้องใช้เทคนิคและความรู้ของ IP ความเข้าใจในเรื่องนี้คือจุดที่หลอมรวมขีดความสามารถของ CO และ EW เพื่อบรรลุภารกิจทางทหาร
ภาพแสดงความสัมพันธ์ของ EW และ Cyber
การรวมความสามารถ IP ในระบบที่ใช้ความถี่วิทยุ (RF : Radio Frequency) สําหรับการสื่อสาร ทำให้เกิดช่องโหว่จากการรวมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ต่อไปนี้คือตัวอย่างการหลอมรวมพลังอำนาจของ CO และ EW ที่เพิ่มความยากลำบากให้ศัตรูในการโต้ตอบอย่างมีประสิทธิผลและยากที่จะค้นหาที่มาของการโจมตี
กรณีศึกษากรณีที่ 1 ระบบ IP over radio ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงทางอากาศ แม้ว่าจะได้กับการป้องกันการโจมตีผ่านเครือข่ายโดยใช้โปรโตคอลไร้สายเฉพาะ แต่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการถูกรบกวนความถี่ย่านความถี่กลางที่มีระดับพลังงานต่ำมาก การถูกรบกวนดังกล่าวจะทำให้ระบบผิดพลาดแล้วปฏิเสธการให้บริการ (denial of service)
กรณีที่ 2 การใช้ OCO ร่วมกับ EW โจมตีเครือข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม (SATCOM) OCO ถูกใช้เพื่อเข้าถึงและระบุเครือข่าย SATCOM แล้วระบุสถานีภาคพื้นดิน แล้วรบกวนความถี่ให้เป้าหมายใช้วิธีการสื่อสารแบบอื่น ดังนั้นจึงเป็นช่องทางการโจมตีใหม่ที่อาจเกิดขึ้นด้วยช่องโหว่ของตนเอง
กรณีที่ 3 การโจมตีด้วย CO และ EW ที่ประสานกันบนเครือข่ายตรวจจับ (sensors) ให้เกิดการการปฏิเสธการให้บริการ (denial of service) และรบกวนความถี่ ทําให้เครือข่ายถูกลดทอนประสิทธิภาพอย่างรุนแรง กีดกันข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ทําให้ไม่เกิดการแจ้งเตือน
ประเทศมหาอำนาจต่างเข้าใจขีดความสามารถที่หลอมรวมนี้ และใช้ CO และ EW ภายใต้ “สงครามข่าวสาร” (IW : Information Warfare) คือใช้การข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง ในการรวบรวมหรือหรือบิดเบือนข่าวสาร ใช้ระบบ CO และ EW ในการลดประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์และการรับส่งข้อมูลของศัตรู ใช้ปฏิบัติการจิตวิทยากดดันศัตรู ใช้การโจมตีที่แม่นยำทำลายเครื่องมือควบคุมบังคับบัญชา
1
ผู้เรียบเรียง : เราไม่ควรหลงลืมว่า การปฏิบัติการทางทหารซึ่งมี "การเคลื่อนที่และการดำเนินกลยุทธ" (Movement and Maneuver) เป็นหนึ่งใน "ระบบปฏิบัติการร่วมทางทหาร" (Joint Function) ย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการควบคุมบังคับบัญชาโดยใช้การสื่อสารผ่านความถี่วิทยุได้
ปัจจุบันเราใช้การสื่อสารข้อมูลผ่านความถี่วิทยุ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (TDL : Tactical Data Link) การส่งข้อมูลภาพเหตุการณ์แบบ real time จากพื้นที่ปฏิบัติการ การควบคุมยุทโธปกรณ์จากระยะไกลโดยใช้ความถี่วิทยุ เช่น การควบคุมโดรน ได้ทวีความสำคัญและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในสนามรบจึงเต็มไปด้วยแถบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ทั้งจากฝ่ายเรา ฝ่ายศัตรู ฝ่ายเป็นกลาง และกิจการอื่นๆ การหลอมรวม CO กับ EW จึงเป็นมิติใหม่ของสงครามในปัจจุบัน
ที่มา : "Convergence of Cyberspace Operations and Electronic Warfare Effects" By MAJ Michael Senft | January 04, 2016
โฆษณา