11 ต.ค. 2022 เวลา 19:12 • ธุรกิจ
อยากนำ Innovation มาใช้งานต้องมี Project Management Skill
การนำนวัตกรรม (Innovation) มาใช้งานเพื่อต่อยอดธุรกิจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้นวัตกรรมจากผู้พัฒนาภายนอกหรือแม้แต่การสร้างขึ้นมาใหม่ แต่การนำนวัตกรรมใดๆมาใช้งานให้ประสบความสำเร็จ ได้ผลลัพทธ์ตรงกับที่คาดหวังกลับไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องอาศัยทักษะหลายด้านและความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
ทักษะการบริหารโครงการ (Project Management Skill) จึงเป็นทักษะสำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการนำนวัตกรรมมาใช้งานได้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ โดยที่ยังสามารถบริหารจัดการ resource ที่มีอยู่ทั้งทีมงาน ระยะเวลาและงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Project Management เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างทักษะทางด้าน Hard Skill และ Soft Skill เข้าด้วยกัน และต้องอาศัยประสบการณ์ผ่านการลงมือทำจริงอยู่พอสมควร ดังนั้นถ้าต้องการนำนวัตกรรมมาใช้งานกับธุรกิจ ผู้ประกอบการควรสนับสนุนให้มีทีมที่ทำหน้าที่ Project Manager ขององค์กรช่วยดำเนินการเองหรือจัดหาผู้พัฒนาที่มี Project Manager คอยช่วยดำเนินการในส่วนนี้ให้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละองค์กร
ต่อไปนี้เป็นทักษะการบริหารโครงการที่ Project Manager ควรให้ความสำคัญและนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ
วิธีบริหารโครงการ (Project Management Methodology)
การบริหารจัดการโครงการตั้งแต่ต้นจนจบมีวิธีการที่หลากหลาย แต่โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่การบริหารโครงการแบบ Water Fall และการบริหารโครงการแบบ Agile ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบต่างมีข้อดี-ข้อเสียและความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้ที่แตกต่างกัน
แต่การบริหารโครงการทั้งแบบ Water Fall ทั้ง Agile นั้นไม่มีวิธีไหนผิดหรือถูก ขึ้นอยู่กับบริบทของการนำมาใช้เป็นหลัก เช่น ถ้าโครงการนั้นมีการจ้าง Vendor ภายนอกเข้ามาช่วยพัฒนาโครงการ การกำหนด Scope of Work รวมถึงระยะเวลาในการส่งมอบงานแต่ละเรื่องให้ชัดเจน การเลือกบริหารโครงการแบบ Waterfall อาจเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า ในขณะที่โครงการที่ประกอบด้วยทีมงานขององค์กรเอง จะมีความยืดหยุ่นในการแก้ไขและพัฒนาที่มากกว่า ดังนั้นการเลือกวิธีบริหารโครงการแบบ Agile จะเหมาะสมกว่า
การเริ่มต้นโครงการ (Project Initiation)
บางองค์กรอาจเรียกว่า Kick-off แต่โดยรวมหมายถึงทักษะในการเริ่มต้นการพัฒนาโครงการ ทั้งการกำหนดจุดประสงค์และเป้าหมายในการพัฒนาโครงการ, การจัดทำแผนของโครงการ, Stakeholder ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการเตรียมเอกสารและอธิบายข้อมูลของโครงการที่จะพัฒนาให้กับผู้เกี่ยวข้องรับทราบ เห็นข้อมูลตรงกัน ซึ่งเปรียบได้กับการติดกระดุมเม็ดแรกของการพัฒนาโครงการ
การจัดทำงบประมาณ (Budgeting)
การประเมินงบประมาณในการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม ตรงกับเป้าหมายของโครงการ ไม่ประเมินค่าใช้จ่ายสูงหรือต่ำเกินไปจนทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนา เป็นอีกสิ่งนึงที่จะทำให้การพัฒนาโครงการเป็นไปด้วยความราบรื่น
ในทางปฏิบัติ การประเมินค่าใช้จ่ายอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับ Project Manager คนเดียวเท่านั้น แต่ทีมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจะเป็นคนคอยช่วยประเมินค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดความแม่นยำ แต่ Project Manager ควรทำความเข้าใจที่มาของค่าใช้จ่าย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสื่อสาร การจัดลำดับความสำคัญของงาน การกำหนดแผนงาน หรือการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นได้
การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
การพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จ ย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนได้ตลอดลอดฝั่ง ในทางปฏิบัติย่อมพบกับอุปสรรคมากมาย ที่มีโอกาสทำให้โครงการไม่สำเร็จตามแผนที่วางไว้เช่น ใช้เวลาพัฒนาเกินกว่าแผน งบบานปลาย มีการเปลี่ยน Scope of Work, ทีมงานลาออก เป็นต้น
การบริหารความเสี่ยงของโครงการจึงเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ project manager ประเมินโอกาสและรายการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และหาวิธีป้องกันแก้ไขล่วงหน้าได้ หาทางหนีทีไล่ได้ทัน และช่วยทำให้การพัฒนาโครงการไม่สะดุด
เครื่องมือบริหารโครงการ (Project Management Tools)
ปัจจุบันมี Software มากมายที่ช่วย support การพัฒนาโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Jira, Asana, Microsoft Office 365 , Google Drive, Google Sheet เป็นต้น Project Manager ควรมีทักษะในการใช้ Software เหล่านี้เพื่อช่วย support การทำโครงการทั้งด้านการสื่อสารระหว่างผู้เกี่ยวข้อง การกำหนดแผนงาน การติดตามกรณีงานไม่เป็นไปตามแผน การแชร์ข้อมูลหรือ File ระหว่างกัน ทั้งนี้การเลือกใช้ Software ใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและบริบทขององค์กร
การสื่อสาร (Communication)
การพัฒนาโครงการใดๆก็ตามย่อมเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลายฝ่าย ยิ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่หรือมีความซับซ้อน ยิ่งเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ดังนั้นการสื่อสารเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูล เข้าใจตรงกัน เมื่อมีปัญหาสามารถขอความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อสรุป รวมถึงการให้ข้อมูลเป็นระยะตามความถี่และวิธีการที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาโครงการเป็นไปด้วยความราบรื่น
ความเป็นผู้นำ (Leadership)
เพราะการพัฒนาโครงการเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย มีอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด ทักษะความเป็นผู้นำที่ดีจะช่วยให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนแต่ละฝ่าย ช่วยให้เกิดการตัดสินใจแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงการ motivation ให้กับทีมงานแม้ในช่วงเวลาที่อาจเจออุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามแผน
การจัดการ (Organization)
การพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วยงานย่อยๆที่ต้องจัดการเป็นจำนวนมาก Project Manager ที่สามารถวางแผนงานย่อยแต่ละส่วน วางแผนการสื่อสาร ติดต่อประสานงานกับทีมงานแต่ละฝ่ายได้ดี จะช่วยให้การพัฒนาโครงการเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถแก้ปัญหาที่เจอได้เร็ว
การนำนวัตกรรมมาใช้งานกับธุรกิจมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามากมาย การมีทีมงานที่มีทักษะในการบริหารโครงการ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำนวัตกรรมมาปรับใช้ได้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ ภายใต้ระยะเวลาและงบประมาณที่วางไว้
โฆษณา