11 ต.ค. 2022 เวลา 19:16 • สุขภาพ
วิเคราะห์เจาะลึกแบบประกันชีวิต
“ประกันชีวิต” เป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนการเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เป็นผู้มีหน้าที่หลักในการหาเงิน และเป็นห่วงว่าวันใดวันนึงหากจากไปก่อนเวลาอันควร คนข้างหลังจะต้องรับผิดชอบภาระหนี้สิน หรือจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร? ถ้าไม่เก็บเงินให้มากพอ การทำประกันชีวิตคือเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยสร้างมรดกเงินก้อนทิ้งไว้ให้กับคนข้างหลังได้ครับ
ปัจจุบันมีประกันชีวิตอยู่มากมายหลายประเภท การทำความเข้าใจข้อดี-ข้อเสียของประกันแต่ละประเภทก่อนตัดสินใจเลือกซื้อจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการวางแผนการเงิน ในบทความนี้เลยอยากแชร์มุมมองประกันชีวิตแต่ละแบบว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนสามารถเอาไปใช้พิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตให้สอดคล้องกับแผนการเงินของตัวเองครับ
เอาล่ะมาเริ่มกันเลย
ประเภทของประกันชีวิต
ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ (Saving)
ประกันประเภทนี้ มีจุดประสงค์ตามชื่อเลย คือเน้น “การออม” ดังนั้นเบี้ยประกันจะสูงแต่วงเงินคุ้มครองชีวิตค่อนข้างต่ำ
แต่มีโอกาสได้เงินคืนในช่วงที่คนทำประกันยังมีชีวิตอยู่ ข้อดีคือเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บออมเงินและต้องการให้เงินออมส่วนนี้สร้างประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตเพิ่มเติมด้วย มีเงินคืนระหว่างปีหรือได้เงินก้อนคืนพร้อมผลตอบแทนหลังจากครบกำหนดกรมธรรม์ แต่มีข้อเสียคือไม่เหมาะกับการทำควบคู่กับประกันสุขภาพ เพราะประกันออมทรัพย์มีระยะเวลาคุ้มครองจำกัด เมื่อครบอายุสัญญา ประกันสุขภาพที่ทำพ่วงไว้ก็จะหมดอายุการคุ้มครองตามไปด้วย
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)
ประกันประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองชีวิตจนถึงอายุ 80-99 ปี (แล้วแต่แบบประกัน) ซึ่งมีข้อดีคือวงเงินความคุ้มครองชีวิตสูงมาก เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่ายไปและเหมาะกับกับการทำควบคู่กับประกันสุขภาพ เนื่องจากจะให้ความคุ้มครองเรื่องค่ารักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่หมดอายุสัญญาไปพร้อมกับประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์ในช่วงเวลาสั้นๆ
แต่ก็มีข้อเสียคือจะไม่เหมาะกับคนที่วางแผนทำประกันชีวิตเพื่อคาดหวังเป็นเงินออม หรือต้องการเบี้ยประกันที่จ่ายคืนเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนด ยกเว้นแต่จะขอเวนคืนกรมธรรม์เอง โดยจำนวนเงินที่ได้คืนจะขึ้นอยู่แบบประกันที่เลือกทำ และมูลค่าเงินสดที่เหลืออยู่ของกรมธรรม์
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)
สำหรับคนที่เน้นความคุ้มครองหนักๆ ประกันประเภทนี้คือรูปแบบที่ตอบโจทย์ที่สุด เพราะวงเงินความคุ้มครองชีวิตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันที่จ่ายไป เพียงแต่ระยะเวลาคุ้มครองจะสั้น ราวๆ 10-20 ปีขึ้นอยู่กับแบบประกัน
ข้อดีคือเหมาะกับคนมีภาระหนี้สินเยอะ มีงบทำประกันไม่มาก และไม่อยากทิ้งภาระหนี้สินเอาไว้ให้คนข้างหลังหากตัวเองจากไป แต่มีข้อเสียคือเบี้ยประกันเป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง เน้นความคุ้มครองเป็นหลัก และมีระยะเวลาคุ้มครองสั้นๆเพียง 10-20 ปีตามแบบประกัน จึงไม่เหมาะทำควบคู่กับประกันสุขภาพ
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกทำประกันชีวิตรูปแบบไหน ล้วนมีข้อดีคือสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้
เมื่อทำความรู้จักข้อดี-ข้อเสียของประกันชีวิตแต่ละประเภทแล้ว ก็ลองพิจารณาไปใช้เป็นเกณฑ์เลือกซื้อประกันชีวิตให้สอดคล้องกับแผนการเงินของแต่ละคนกันนะครับ
โฆษณา