Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มองปรากฏการณ์
•
ติดตาม
12 ต.ค. 2022 เวลา 04:43 • ประวัติศาสตร์
ฝรั่งเศสกับการทำรัฐประหารรัฐบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
อยุธยาเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของพ่อค้าชาวยุโรปและเอเชียมาเนิ่นนาน มีความมั่นคงและมั่งคั่งจนเป็นที่ประจักษ์แก่นครต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีอำนาจ แต่กระนั้นก็มาสะดุดลงในช่วงที่เสียกรุงให้แก่พม่าครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 กว่าจะมีการฟื้นฟูฐานะทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ก็ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถและสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งก็เริ่มเข้าสู่ช่วงปลายของราชวงศ์สุโขทัยแล้ว
การที่เป็นชุมทางการค้าของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้อยุธยาคลาคล่ำไปด้วยชาวต่างชาติ ไม่เพียงแค่ในฐานะพ่อค้าและนักบวชเท่านั้น แต่ในฐานะขุนนางก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชสำนักของ “ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช “ แห่งราชวงศ์ปราสาททอง แน่นอนว่านอกจากความเจริญทางการเงินการคลังแล้ว อยุธยายังได้รับการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการใหม่ ๆ จากโลกภายนอก แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเมืองภายใน ถึงขั้นต้องมีการทำรัฐประหาร จนอำนาจตกไปอยู่ในมือของราชวงศ์ “ บ้านพลูหลวง “
กบฏและรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้งในทุกราชวงศ์ จนไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับสังคมอยุธยา พิจารณาเฉพาะองค์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ปราสาททอง ก็ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แม้กระทั้งองค์สมเด็จพระนารายณ์เองก็ยังทรงร่วมก่อการถึง 2 ครั้ง
ครั้นเมื่อได้ราชสมบัติก็ยังมีผู้ก่อกบฏอีกหลายครั้ง “ ความมั่นคงของราชบัลลังก์ “ ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่พระมหากษัตริย์อยุธยาต้องประสบแทบจะทุกพระองค์ หนึ่งในสาเหตุสำคัญก็เห็นจะไม่พ้นเรื่อง “ ความไม่ชัดเจนในตำแหน่งรัชทายาท “ ซึ่งเปิดโอกาสให้เชื้อพระวงศ์ที่เชื่อในศักดิ์และสิทธิ์ของพระองค์เอง ได้ร่วมกับขุนนางซ่องสุมไพร่พลจนนำไปสู่การก่อกบฏ หลายต่อหลายครั้งก็มีชาวต่างชาติเข้าร่วมสมทบ
การมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่เป็นชาวต่างชาตินั้น เคยมีมาแล้วในหลายรัชกาลก่อนหน้านี้ แต่ที่พระมหากษัตริย์อยุธยาทรงโปรดปรานเป็นพิเศษเห็นจะไม่มีใครเกิน “ คอนแสตนติน ฟอลคอน “ นักแสวงโชคชาวกรีก ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวบ้านธรรมดา จับพลัดจับพรูมากับเรือสินค้าอังกฤษ เขามีโอกาสรับราชการในกรมพระคลังจนได้เป็นออกหลวงสุระสงคราม ออกพระฤทธิ์กำแหง และได้เป็น ” ออกญาวิไชเยนทร์ “ ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
ฟอลคอนเป็นขุนนางที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยที่สุด เพราะเขาสามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ๆ ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการค้าและการต่างประเทศ นำทรัพย์สมบัติเข้าท้องพระคลังได้เป็นกอบเป็นกำ งานที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของฟอลคอนนั้นก็คือ การนำอิทธิพลของฝรั่งเศสเข้ามาในพระราชอาณาจักร
แน่นอนว่าการที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีที่ปรึกษาคนสนิทเป็นชาวกรีก มีราชองครักษ์และข้าราชการส่วนที่ขึ้นตรงต่อพระองค์เป็นชาวโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิหร่าน มาลายู จีน ญี่ปุ่น และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ย่อมมองได้ว่าพระองค์น่าจะทรงมีความระแวงการก่อกบฏของขุนนางอยุธยาอยู่ไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกอำมาตย์ที่มีอำนาจในการควบคุมไพร่พล เพราะเพียงแค่ 2 เดือน หลังจากที่พระองค์ทำรัฐประหารสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาสำเร็จ พระองค์ก็ต้องเผชิญหน้ากับกบฏพระไตรภูวนาทิตย์ ดังนั้นการลดทอนอำนาจทางเศรษฐกิจ และการกำจัดขุนนางผู้ซึ่งเชื่อว่าเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ดังที่ดำเนินการมาแล้วนับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงได้รับการสานต่อและปรับปรุงเป็นอย่างดีในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์
การเพิ่มอำนาจและผลประโยชน์ให้กับขุนนางต่างชาติ ควบคู่ไปกับการลดทอนอำนาจและผลประโยชน์ของขุนนางอยุธยา จะว่าไปแล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง มิเช่นนั้นสมเด็จพระนารายณ์ก็คงไม่สามารถอยู่ในราชบัลลังก์ได้ถึง 32 ปี ซึ่งถือว่ายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์อยุธยาหลายพระองค์
ถ้าจะถามว่าจุดเริ่มต้นของความเสื่อมพระราชอำนาจอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะทรงเป็นจักรพรรดิราชหรือเป็นธรรมราชา ย่อมหนีไม่พ้นอำนาจที่มีอยู่จริงนั้นก็คืออำนาจของ “ ขุนนาง “
ถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงยอมให้ผู้ใดได้ควบคุมไพร่พลมากจนเกินไป แต่ขุนนางที่ไต่เต้าไปไม่ถึงจุดสูงสุดของชีวิตราชการเหล่านั้น ย่อมมีรากเหง้าที่ฝังลึกอยู่ในแผ่นดิน จากครอบครัวและเครือญาติ ทักทอความสัมพันธ์ผ่านการแต่งงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมที่มีร่วมกันมายาวนาน การเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์ร่วมกัน ก่อให้เกิดแนวร่วมต่อต้านนโยบายของราชวงศ์ปราสาททอง ที่ค่อย ๆ ปะทุขึ้นตลอดเวลา การที่ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทด้านศาสนาและการทหาร จึงว่าเป็นการเติมเชื้อไฟที่มีอยู่แล้วให้แรงยิ่งขึ้นไปอีก
ในความเป็นพุทธนั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้อยุธยาเปิดกว้างในเรื่องการเป็นมิตรกับคนต่างลัทธิความเชื่อ ดังจะเห็นได้ว่าชาวพุทธซึ่งเป็นประชาการหลัก ยังสามารถนับถือพราหมณ์และผีได้ ในขณะเดียวกัน ชาวพุทธก็ยังคบหาสมาคมกับคริสต์ศาสนิกชนและมุสลิมได้ โดยไม่มีข้อรังเกียจเดียดฉันท์แต่อย่างใด
ชาวโปรตุเกสจึงตั้งหลักปักฐานและเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมาก่อนหน้านั้นร่วมร้อยปี แต่การที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งคณะทูตและบาทหลวงชุด “ เชอวาลิเอร์ เดอ โชมอนต์ “ มาอยุธยาใน พ.ศ. 2228 และ ชุด “ ซิมอง เดอ ลาลูแบร์ “ ใน พ.ศ. 2230 นั้น ต่างมีความพยายามโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเข้ารีตเป็นคริสตัง จึงแตกต่างไปจากการเผยแผ่ศาสนาของพวกโปรตุเกส ที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่องค์พระประมุขแห่งรัฐ
การเปลี่ยนศาสนาถือเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของขุนนางและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะศาสนากับการเมืองต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แม้ว่าประเพณีการปกครองของราชวงศ์ปราสาททองจะโน้มเอียงไปในทางที่ยกสถานะกษัตริย์ให้เป็น ” จักรพรรดิราช “ มากกว่าที่จะเป็น “ ธรรมราชา “
มีการรื้อฟื้นคติจักรวาลแบบขอมในสถาปัตยกรรมและประติมากรรมหลายอย่าง เช่นวัดไชวัฒนาราม รวมทั้งพระพุทธรูปแบบทรงเครื่องคล้ายเทวดาเป็นต้น แต่กระนั้นก็ต้องไม่เกินเลยไปจากกรอบของพุทธนิกายเถรวาทมากจนเกินพอดี ซึ่งองค์สมเด็จพระนารายณ์ย่อมทรงตระหนักในจุดนี้อยู่แล้ว
พระองค์จึงทรงผัดผ่อนคณะทูตฝรั่งเศสไปอย่างละมุนละม่อม ทรงหลีกเลี่ยงการทำลายน้ำใจชาวฝรั่งเศส ที่พระองค์ทรงเชื่อมั่นในแสนยานุภาพ อย่างไรก็ตาม การที่คณะบาทหลวงฝรั่งเศสเดินหน้าเผยแผ่คริสต์ศาสนาและการศึกษา ด้วยการอุปถัมภ์ของ คอนแสตนติน ฟอลคอน และราชสำนัก อย่างออกหน้าออกตา เช่นการพระราชทานราชทรัพย์ในการก่อสร้างโบสถ์ของนักบวชฝรั่งเศส ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความหวาดระแวงขึ้นในหมู่คณะสงฆ์ ประชาชน และ ขุนนาง ให้มากขึ้นไปอีก
ผู้นำขุนนางฝ่ายที่แสดงความไม่เห็นด้วย ต่อการขยายอิทธิพลของ คอนแสตนติน ฟอลคอน และฝรั่งเศสคือ “ ออกพระเพทราชา “ ขุนนางผู้นี้เป็นเจ้ากรมคชบาล แม้จะไม่ได้มีบรรดาศักดิ์เป็นออกญา แต่ก็อยู่ในกรมที่คุมไพร่พลมากพอสมควร และด้วยความที่เขาเป็นลูกชายของพระนมในสมเด็จพระนารายณ์ ประกอบกับได้ให้น้องสาวถวายตัวเป็นพระสนม อีกทั้งมีต้นตระกูลอยู่ที่บ้านพลูหลวงเมืองสุพรรณบุรี ที่ไม่ไกลจากอยุธยามากนัก
และถ้าเรื่องการชุบเลี้ยง “ ออกหลวงสรศักดิ์ “ ที่เชื่อกันว่าเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์เป็นจริง ย่อมทำให้บารมีของเขามีมากกว่าขุนนางอยุธยาทั่วไป
ฟรังซัว อังรี ตุรแปง ได้บรรยายคุณลักษณะของเขาไว้ว่า “ พระเพทราชาถึงแม้จะมีรูปร่างเล็ก แต่ก็มีจิตใจสูง รูปร่างหน้าตาเป็นที่น่าสนใจ ดวงตาที่คมวาวดูเหมือนจะมองทะลุเข้าไปในความคิดและจิตใจของคนทั่วไป แม้ว่าจะมีอายุถึง 56 ปีแล้วก็ตาม เขายังดูเป็นหนุ่ม ลักษณะการพูดจาที่คล่องแคล่วสามารถชนะจิตใจทุกคน เขาเป็นที่รู้จักรักใคร่ของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่กับศัตรูเขาไว้ท่าเสมอ “
ยิ่งนานวันเท่าใด เงื่อนไขที่นำไปสู่การทำรัฐประหารก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ความล่อแหลมต่อนโยบายเปิดรับฝรั่งเศสไม่ได้มีแค่เพียงแค่นัยทางศาสนาเท่านั้น แต่ในทางการเมืองและการทหารก็สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับขุนนางอยุธยาอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่ยอมให้ฝรั่งเศสมีฐานที่มั่นในเมืองมะริดและบางกอก ตามข้อตกลงที่มีต่อคณะทูตฝรั่งเศสชุดลาลูแบร์ ในปี พ.ศ. 2230 ซึ่งมีทหารฝรั่งเศสประจำการเฉพาะที่บางกอกก็ร่วม 500 นาย เกินกว่าที่เคยตกลงกันไว้หลายเท่าตัว จริงอยู่ที่ทหารฝรั่งเศสจำนวนเท่านี้ อาจไม่เพียงพอที่จะยึดรัฐอยุธยาได้ในทันทีทันใด แต่ถ้าปล่อยให้ลงหลักปักฐานจนมั่นคงในป้อมปราการที่แข็งแรงแบบยุโรป และทยอยเพิ่มทหารจนมีกำลังที่กล้าแข็ง ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้ำสมัยกว่า อยุธยาก็อาจจะถูกปิดล้อมโดยไม่ยากเย็นจนเกินไป
อิทธิพลของฝรั่งเศสจึงมากเกินเหตุผลของการคานอำนาจฮอลันดาและอังกฤษ อย่างกรณีฮอลันดาถึงแม้จะเคยมีความขัดแย้งทางการค้ากับอยุธยาอยู่บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ตกลงกันได้ตามสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2207 ที่สำคัญก็คือทั้งฮอลันดา อังกฤษ หรือแม้กระทั่งโปรตุเกสนั้น ต่างมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ ไม่ได้มีพฤติกรรมที่มุ่งหมายเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความเชื่อและแทรกแซงการเมืองอยุธยาอย่างจริงจังเฉกเช่นฝรั่งเศส
และคงก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากอิทธิพลของฝรั่งเศสมากที่สุดเห็นจะไม่มีใครเกิน คอนแสตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิไชเยนทร์ ดำรงตำแหน่งจักรี ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงสุดในเวลานั้น
แต่การที่ฟอลคอนมีอำนาจอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยพระบารมีของสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้น ตัวฟอลคอนเองไม่ได้มีเทือกเถาหล่อกอที่จะยึดโยงไพร่พลเป็นฐานกำลังได้ ดังนั้นการที่มีพรรคพวกเข้ารีตกับฝรั่งเศสมากขึ้น ผนวกกับกองกำลังติดอาวุธทันสมัย ทั้งที่บางกอกและลพบุรี จึงเป็นหลักประกันความมั่นคงของฟอลคอนได้ในระดับที่น่าพอใจ
ฝ่ายองค์สมเด็จพระนารายณ์เองก็อาจจะทรงคิดเพียงว่า อิทธิพลของฝรั่งเศสจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจและช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก อาจไม่ได้ทรงคิดไปถึงขั้นที่ว่า ฝรั่งเศสจะฉวยโอกาสมีอำนาจเหนือรัฐอยุธยาของพระองค์
เชื่อว่าฟอลคอนก็คงไม่ได้ถวายคำปรึกษาแบบตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของตน ด้วยเหตุดังนี้เอง ที่เขาพยายามปกปิดข่าวการประชวรหนักของสมเด็จพระนารายณ์ ไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อม ๆ กับเตรียมการแต่งตั้งพระมหากษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอื่นไกล นอกจาก “ พระปีย์ “ พระราชโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์นั่นเอง
การที่ฟอลคอนไม่เลือกที่จะถวายราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย ที่มีสิทธิธรรมค่อนข้างชัดเจน ก็อาจเป็นเพราะเขาไม่มั่นใจว่า พระอนุชาทั้งสองพระองค์จะสานต่อนโยบายของสมเด็จพระนารายณ์ได้หรือไม่ ผิดกับพระปีย์ผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยกับเขามายาวนาน อีกทั้งยังมีฐานกำลังที่พร้อมจะสนับสนุนอยู่ที่พิษณุโลก ที่สำคัญพระปีย์ได้เข้ารีตนิกายโรมันคาทอลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงพร้อมด้วยประการทั้งปวงตามหลักการของฟอลคอน และแน่นอนว่าจะต้องเป็นที่พึงพอใจแก่ฝรั่งเศสเช่นกัน
อย่างไรก็ตามข่าวเรื่องการประชวรหนักของสมเด็จพระนารายณ์ และการเคลื่อนไหวของฟอลคอน เพื่อเตรียมการสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ย่อมไม่สามารถปกปิดไว้ได้นานอย่างแน่นอน ท้ายที่สุดก็ต้องเล็ดลอดไปสู่เครือข่ายทางการเมืองบ้านพลูหลวงจนได้
ออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ ผู้มีวาสนาได้เป็นกษัตริย์องค์ที่ 29 และ 30 จึงชิงลงมือ ยึดพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์ที่ลพบุรีไว้ได้ก่อน พร้อมกันนั้นก็จับกุมบุคคลสำคัญทางการเมืองของราชวงศ์ปราสาททองไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคอนแสตนติน ฟอลคอน พระปีย์ และพระอนุชาทั้งสองพระองค์ ตามมาด้วยการสำเร็จโทษบุคคลดังกล่าว แล้วกวาดล้างอิทธิพลของฝรั่งเศสทั้งที่ลพบุรีและอยุธยา
การก่อรัฐประหารในครั้งนั้น มีลักษณะพิเศษกว่าการรัฐประหารทุก ๆ ครั้ง เพราะออกพระเพทราชาสามารถปลุกระดมสร้างแนวร่วมที่เป็นพระสงฆ์และพลเมืองขึ้นมาได้ แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำขึ้นได้ภายในวันเดียว หากต้องมีการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าด้วยระยะเวลาที่มากเพียงพอ บนพื้นฐานปัญหาที่สัมผัสได้จริง
เพราะโดยธรรมชาติแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอยุธยาที่ผ่านมานั้น แทบจะไม่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคณะสงฆ์และชาวบ้านโดยตรง
แต่พอมีประเด็นเรื่องการพยายามให้องค์รัฏฐาธิปัตย์เปลี่ยนศาสนา มีการแปรพระราชฐานเกือบจะเป็นการถาวรไปที่ลพบุรีในช่วงปลายรัชสมัย รายล้อมไปด้วยข้าราชสำนักชาวคริสต์ ระยะห่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนาง สมณะชีพราหมณ์ และอาณาประชาราษฎร์ จึงยิ่งเพิ่มมากไปกว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่ห่างมากกว่าทุกรัชกาลอยู่แล้ว
ประกอบกับพฤติกรรมที่ฝรั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารฝรั่งเศสข่มเหงชาวบ้าน ดูถูกเหยียดหยาม ลามไปถึงการที่ฟอลคอนสั่งสึกพระให้ออกมาใช้แรงงงาน ก่อให้เกิดกระแสการเกลียดชังฝรั่งอย่างรุนแรง รอเพียงแค่เงื่อนไขเวลาและสถานการณ์ที่ได้เปรียบ ออกพระเพทราชาจึงเลือกที่จะทำรัฐประหาร ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรหนัก เพราะโอกาสที่จะก่อการสำเร็จนั้น มีมากกว่าที่จะกระทำในช่วงที่พระองค์ทรงมีพลานามัยสมบูรณ์
ก็ไม่แน่เหมือนกัน ถ้าหากสมเด็จพระนารายณ์ยังทรงมีสภาพพระวรกายเพียงพอที่สั่งการได้ พระองค์อาจระดมกำลังจากผู้ที่จงรักภัคดีทั้งฝ่ายเสวกและอำมาตย์ ทั้งจากประชาคมต่างชาติและชาวอยุธยาเอง เชื่อว่ายังมีอยู่ไม่น้อยที่พร้อมจะสู้เพื่อพระองค์
ที่สำคัญคือทหารฝรั่งเศสร่วม 500 นาย ของนายพล “ เดอฟาร์จ “ ในป้อมปราการ ณ เมืองบางกอก พร้อมไปด้วยอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายล้าง มากว่าอาวุธของฝ่ายออกพระเพทราชา ซึ่งเตรียมการที่จะเคลื่อนกำลังสู่อยุธยาและลพบุรี เมื่อได้รับสัญญาณที่ชัดเจนจากฟอลคอน จึงไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าออกพระผู้มากบารมีท่านนี้ จะก่อการสำเร็จโดยไม่มีสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่
แต่ในเมื่อความจริงคือการประชวรหนัก ที่ประเมินได้ว่าใกล้สวรรคต สุญญากาศทางการเมืองจึงเกิดขึ้น องค์รัฏฐาธิปัตย์ถูกปิดล้อมไว้ด้วยไพร่พลของออกพระเพทราชา บรรดาผู้ที่มีศักดิ์และสิทธิ์ในราชบัลลังก์ รวมทั้งผู้รั้งตำแหน่งจักรีอย่างฟอลคอน ก็ถูกจับสำเร็จโทษเสียจนหมดสิ้น ขุนนางอยุธยาจึงไม่มีศูนย์กลางอำนาจให้ยึดโยงอีกต่อไป
จริงอยู่ที่มีขุนนางทั้งผู้น้อยและผู้ใหญ่จำนวนมากพอสมควร ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของออกพระเพทราชา แต่ทว่าการทำรัฐประหารซ้อนเพื่อชิงบัลลังก์คืนแด่องค์พระมหากษัตริย์ที่จะสวรรคตในอีกไม่นาน และไม่มีผู้สืบสันตติวงศ์เหลืออยู่อีกเลย ผนวกกับกระแสสังคมที่เกลียดชังฝรั่งอยู่ด้วยแล้ว ดังนั้นจึงไม่ก่อประโยชน์อันใดที่จะต้องเอาชีวิตเข้ามาเสี่ยง ขนาดเสนาบดีจตุสดมภ์อย่างออกญาโกษาธิบดี ที่เรามักจะเรียกกันว่า “ โกษาปาน “ หัวหน้าคณะทูตอยุธยาที่ไปฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229 ก็ยังมาเข้าด้วยกับฝ่ายบ้านพลูหลวง
ฝ่ายนายพลเดอฟาร์จไม่มีโอกาสได้เคลื่อนกองทัพฝรั่งเศสเข้าอยุธยาและลพบุรี ด้วยเหตุที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ จนออกพระเพทราชาควบคุมอำนาจเหนือ 2 เมืองสำคัญไว้ได้สำเร็จ กองทัพขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพของเขาจึงไม่เพียงพอที่จะก่อการใหญ่ได้อีก ทำได้แค่เพียงตั้งมั่นอยู่ที่บางกอกอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย เพื่อรอคอยข่าวสารจากมิชชันนารีและเพื่อนร่วมชาติชาวฝรั่งเศส รวมทั้งรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่ ที่คาดคะเนได้ไม่ยากว่า ไม่ใช่มิตรของพวกเขาอย่างแน่นอน
รัฐบาลของราชวงศ์บ้านพลูหลวงก่อตัวขึ้นในทางปฏิบัติ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ยังทรงพระชนม์ชีพในช่วงกลางปี พ.ศ. 2231 มีวาระเร่งด่วนคือการทำลายอิทธิพลของมิชชันนารี พ่อค้า และทหารฝรั่งเศส ให้ปลาสนาการไปจากรัฐอยุธยาโดยเร็ววัน
ครั้นเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสู่สวรรคาลัยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2231 จึงถือเป็นการสิ้นราชวงศ์ปราสาททองอย่างสมบูรณ์ เกิดเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่มีอำนาจทั้งในทางทฤษฏีและปฏิบัติ
ภายใต้การบริหารของรัฐบาล “ สมเด็จพระเพทราชา “ พระองค์ทรงมอบหมายให้ท่านโกษาปานไปเจรจากับนายพลเดอร์ฟาร์จที่บางกอก ซึ่งเดอร์ฟาร์จก็ย่อมประเมินได้ด้วยตนเองอยู่แล้วว่า ถ้าเขาคิดสู้กับกองทัพของสมเด็จพระเพทราชา ที่มีกำลังทหารมากกว่าหลายเท่าตัว ลำพังแค่ทหารไม่ถึง 500 นาย ถึงแม้จะมีอาวุธที่ดีกว่า ก็คงไม่เพียงพอที่จะฝ่าวงล้อมออกไปได้ทั้งหมด
และในที่สุดฝรั่งเศสก็ต้องยอมถอนทัพออกไปจากบางกอก ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ถือเป็นการปิดฉากความสัมพันธ์ทางการทูตที่ล่อแหลมระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศสโดยบริบูรณ์
ข้อมูลอ้างอิง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง . โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ . พ.ศ. 2544
นิธิ เอียวศรีวงศ์ . การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ . สำนักพิมพ์มติชน . พ.ศ. 2543
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ . คำแปลปาฐกถาเรื่องคติฝรั่งเข้าเมืองไทย . โรงพิมพ์โสภณ . พ.ศ. 2478
ศรีศักร วัลลิโภดม . กรุงศรีอยุธยาของเรา . สำนักพิมพ์มติชน . พ.ศ. 2543
สมศรี เอี่ยมธรรม . ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา ฉบับตุรแปง . หสน.สหประชาพาณิชย์ . พ.ศ. 2522 .
ประวัติศาสตร์
การเมือง
ความรู้
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย