13 ต.ค. 2022 เวลา 01:00
“เอเปค2022” โอกาสไทยโชว์ศักยภาพดึงลงทุน-ท่องเที่ยว-ขยายการค้าฟื้นศก.
“เอเปค2022” โอกาสไทยโชว์ศักยภาพดึงลงทุน-ท่องเที่ยว-ขยายการค้าฟื้นศก. ภายใต้คอนเซ็ป “Open. Connect. Balance”ปรับตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ในยุคหลังโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน
นับถอยหลังการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting หรือ AELM)ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่14-19พฤศจิกายน2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นับเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอเปค (APEC) เพื่อร่วมหารือ แลกเปลี่ยน และมองหาโอกาสในการพึ่งพาอาศัยกันและกันผ่านการรวมกลุ่มในเอเชียแปซิฟิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ
โดยหัวข้อหลักของเอเปค 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2565 แตกต่างจากเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพฯ ในปี2546 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวการณ์โควิด-19 ที่เอเปคกำลังปรับตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ไทยจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในยุคหลังโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน
ภายใต้คอนเซ็ป “Open. Connect. Balance”
โดยกำหนดหัวข้อหลักคือ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัล
และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
ทั้งนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ ประโยชน์ของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ
โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ไทยได้ประโยชน์อะไรจากการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน
ทั้งนี้ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ เช่น การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด
ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน การส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย
อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางกว้างขึ้น
และ (๓) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำเพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลัง โควิด ตามแนวคิด BCG Economy
ประเทศสมาชิกในเอเปคมีอยู่ 21 เขตเศรษฐกิต ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย ทั้งนี้ เอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
โฆษณา