12 ต.ค. 2022 เวลา 22:58 • ไลฟ์สไตล์
28 ก.ย. พ.ศ. 2536
วันเผาศพพุทธทาสภิกขุ
สังขารทั้งปวงย่อมไม่เที่ยงแท้ ท่านพุทธทาสเมื่อวัยชรามีโรคภัยไข้เจ็บเริ่มเบียดเบียน เมื่อปี พ.ศ. 2528 ท่านอาพาธหนักมากครั้งหนึ่ง ท่านมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
เมื่อปี พ.ศ. 2534 ท่านอาพาธอีกครั้ง ทุกครั้งท่านขอรักษาตัวอยู่ ณ สวนโมกข์ เมื่ออาการทุเลาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ท่านได้แสดงธรรมแก่แพทย์ที่รักษาท่านตอนหนึ่งว่า
“การป่วยเป็นเช่นนั้นเอง
เป็นอิทัปปัจจยตา
ตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
ไม่ต้องทุกข์ร้อน
รักษาก็เช่นนั้นเอง
หายหรือไม่หายก็เช่นนั้นเอง
หายก็ได้ ไม่หายเจ็บต่อก็ได้
ตายก็ได้ ไม่ทุกข์ใจ
ทุกอย่างเป็นอิทัปปัจจยตาเสมอ
เป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่ง
การรักษาเป็นเพียงปัจจัย
ปรุงแต่งให้ถูกต้องพอดี”
.
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 ท่านพุทธทาสอาพาธหนัก คณะศิษย์และญาติโยม จึงนำท่านเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและโรงพยาบาลศิริราช จนในที่สุดท่านได้มรณภาพเมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536
รวมอายุได้ 87 ปี
ท่านได้เขียนพินัยกรรมเอาไว้ ซึ่งน่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนทั่วไป ตอนหนึ่งกล่าวว่า
.
"ให้จัดงานศพเป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด ให้พระครูศีลวัฒน์เป็นผู้จัดการศพทั้งหมดและเก็บศพไว้ในโลงที่มิดชิด ละเว้นการเปิดดูและละเว้นการรดน้ำศพ สวดศพ และฉีดยาศพ ให้เผาศพภายใน 3 เดือน หรือถ้าจำเป็นไม่เกิน 1 ปี โดยจัดการให้ง่ายที่สุด ให้เผาศพที่เขาพุทธทอง โดยปักเสา 4 มุม และคาดผ้าขาวเป็นเพดานเท่านั้น"
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. พ.ศ. 2536 ได้มีการเผาศพท่านพุทธทาส ณ เขาพุทธทอง ตามที่ท่านสั่งไว้ในพินัยกรรม โดย พระครูปลัดศีลวัฒน์ (โพธิ์ จนฺทสโร) ผู้ได้รับมอบหมายจากพุทธทาสภิกขุให้เป็นผู้จัดการงานศพ ได้อธิบายว่าเลือกวันเผาศพเป็นวันที่ 28 กันยายน 2536 เพราะตรงกับ "วันเยี่ยมสวนโมกข์"
หรือ "วันทำวัตรท่านอาจารย์พุทธทาส" ซึ่งสมัยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสยังมีชีวิตอยู่จะจัดงานนี้ทุกปีในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐
การเผาศพกระทำอย่างเรียบง่าย มีประชาชน คณะศิษย์และญาติโยมไปร่วมงานจำนวนมาก โดยมีท่าน ปัญญานันทภิกขุ เป็นประธานและนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ไปร่วมงานเผาศพครั้งนี้ด้วย
หมายเหตุ ผู้สนใจสามารถดูเอกสารต้นฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเผาศพพุทธทาสภิกขุได้ที่ ฐานข้อมูล เอกสารจดหมายเหตุ
พุทธทาส อินทปัญโญ
.
#พุทธทาส #สวนโมกข์กรุงเทพ #สงบเย็นและเป็นประโยชน์
โฆษณา