14 ต.ค. 2022 เวลา 01:24 • ปรัชญา
ในปี 1984 ฮาวเวิร์ด ดิกคินสัน อายุ 24 ปี กำลังเรียนระดับดุษฎีบัณฑิตภาควิชาปรัชญา ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา
วิทยานิพนธ์ที่เขากำลังตระเตรียมเพื่อจบการศึกษามีหัวข้อว่า
"ความสุขของคนได้มาจากไหน"
เขาได้เตรียมแบบสอบถามทั้งหมด 10,000 ชุด แจกจ่ายไปยังผู้คนต่างๆในเมืองนั้น แบบสอบถามของเขาได้สอบถามถึงข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคน ความคิดเห็นและมุมมองต่างๆในทัศนคติของพวกเขาในแต่ละคำถาม
และหนึ่งในคำถามของแบบสอบถามต้องการทราบว่า
"คุณมีความสุขระดับไหน"
โดยมีคำตอบให้เลือกอยู่ 5 ระดับ
A. มีความสุขมาก
B. มีความสุข
C. พอใช้ได้
D. เจ็บปวด
E. เจ็บปวดมาก
เขาใช้เวลาสองเดือนในการแจกจ่ายและรวบรวมคำตอบ สุดท้ายได้แบบสอบถามกลับมา 5,200 ชุด หลังจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว เขาพบว่า
มีเพียง 121 คนเท่านั้นที่บ่งบอกว่า ตน "มีความสุขมาก"
ลำดับถัดมา เขาได้ทำการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทั้ง 121 คนอย่างละเอียด
เขาพบว่า ใน 121 คนนี้ มีอยู่ 50 คนที่เป็นผู้ประสบความสำเร็จในเมืองนี้ ความสุขที่เขารู้สึกนั้นล้วนมาจากอาชีพหรือธุรกิจที่กำลังประสบความสำเร็จ
ในขณะที่ผู้คนอีก 71 คนนั้น
บางคนเป็นแค่แม่บ้านธรรมดา ชาวไร่ชาวนาก็มีไม่น้อย เป็นพนักงานในบริษัททั่วไปก็มี และบางคนยังเป็นพวกเร่ร่อนที่ต้องรับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลอยู่เป็นประจำ
ผู้คนที่แสนธรรมดาพวกนี้ ทำไมจึงมีความรู้สึกว่า เขา "มีความสุขมาก"
หลังจากที่ ฮาวเวิร์ด ดิกคินสัน ได้ติดต่อสัมภาษณ์เป็นการส่วนตัวเพิ่มเติมแล้ว เขาพบว่า
แม้พวกเขาจะมีอาชีพและอุปนิสัยที่แตกต่างกันไป แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต่างมีเหมือนกันทุกคน
นั่นคือ พวกเขาล้วนไม่ใช่พวกวัตถุนิยมเลย
พวกเขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย พยายามไม่ทุกข์ไม่ร้อน มีทั้งฐานะดีหน่อยหรือจนหน่อยปะปนกันไป แต่ล้วนมีความสุขกับชีวิตที่แสนธรรมดาในแต่ละวัน
บทวิเคราะห์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เขาอย่างมาก อันทำให้เขามีบทสรุปของการสำรวจดังต่อไปนี้
“บนโลกใบนี้ มีผู้คนที่มีความสุขมากอยู่ 2 ประเภท
ประเภทที่หนึ่งคือ ผู้คนที่เป็นคนธรรมดาๆ แต่พอใจกับความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของเขา
อีกประเภทหนึ่งก็คือ ผู้คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเส้นทางอาชีพของเขา”
ฮาวเวิร์ด ดิกคินสัน แนะนำไว้ว่า
“หากคุณที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป ก็สามารถฝึกฝนจิตใจคุณ ให้ลดทอนความอยากได้ต่อวัตถุต่างๆให้น้อยลง ความสุขก็จะเกิดขึ้นกับคุณ
แต่หากคุณเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายอาชีพ คุณสามารถมุ่งมั่นต่อยอดก้าวเดินต่อไป ความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นก็จะนำพาความสุขมาเพิ่มให้คุณเช่นกัน”
หลังจากคณะกรรมการผู้ตัดสินได้อ่านและศึกษาวิทยานิพนธ์ของเขาแล้ว ต่างให้ผ่านด้วยเกรดคะแนน A+
หลังจบการศึกษา เขาอยู่ต่อในฐานะอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ชั่วพริบตาเดียว เวลาผ่านไป 20 ปี บัดนี้เขากลายเป็นนักวิชาการทีมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วอเมริกา
เขาได้หยิบเอาข้อมูลของทั้ง 121 คนออกมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ใช้เวลาสามเดือนติดต่อและส่งแบบสอบถามให้พวกเขาทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากได้รับแบบสอบถามคืนกลับมาแล้ว เขาพบว่า
บุคคลธรรมดาๆทั้ง 71 คนที่เคยระบุว่า ตนเป็นคนที่ "มีความสุขมาก" ได้เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน ที่เหลืออีก 69 คนนั้น มีความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
บางคนในพวกเขาได้ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจในสายงานอาชีพของเขา บางคนยังมีความเป็นอยู่แบบเดิมๆ บางคนเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ ชีวิตความเป็นอยู่ทุกวันนี้ยากลำบาก
แต่การเลือกคำตอบของพวกเขาก็ยังไม่แปรเปลี่ยน ทุกคนยังรู้สึกว่า ตนเอง "มีความสุขมาก"
ส่วนอีก 50 คนที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูงในสายอาชีพเขา การเลือกคำตอบในครั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าจับตามอง
มีอยู่แค่ 9 คนในหมู่พวกเขา ที่ทุกอย่างยังดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และยังคงยืนกรานคำตอบเดิมคือ "มีความสุขมาก"
มี 23 คนเปลี่ยนคำตอบเป็น "พอใช้ได้”
มีอยู่ 16 คนที่ประสบความขรุขระบนเส้นทางอาขีพ บางคนถึงกับล้มละลาย บางคนถูกลดตำแหน่งในหน้าที่การงาน กลุ่มนี้เปลี่ยนคำตอบเป็น "เจ็บปวด"
เหลือ 2 คนสุดท้าย เลือกคำตอบเป็น "เจ็บปวดมาก"
เมื่อผลสำรวจออกมาเป็นแบบนี้ ทำให้เขาต้องครุ่นคิดและวิเคราะห์อยู่เป็นนานสองนาน
หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์ ฮาวเวิร์ด ดิกคินสัน ได้เขียนบทความในเชิงวิเคราะห์ออกมาบทหนึ่ง ในหัวข้อที่ชื่อว่า
"เคล็ดลับของความสุข"
และบทความฉบับนี้ ได้ถูกหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ วอชิงตัน โพสต์ นำไปตีพิมพ์ทันที
ในบทความของเขา เขาได้บรรยายอีกครั้งถึงความเป็นมาของแบบสอบถามทั้ง 2 ครั้งอย่างละเอียด และเขาได้ให้บทสรุปในตอนท้ายบทความไว้ว่า
"ความสุขที่มาจากวัตถุนิยม มักอยู่กับเราไม่ได้ยั่งยืน เมื่อวัตถุจางหาย ความสุขก็จะอันตรธานหายไปด้วย
ส่วนจิตใจที่มีแต่ความสงบสุขนั้น จะทำให้กายใจเป็นสุขได้เสมอ นั่นคือแหล่งที่มาของความสุขที่แท้จริง"
บทความในเชิงวิเคราะห์นี้ ได้สร้างความฮือฮาและได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นอย่างมาก จนทำให้หนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ในฉบับเช้าวันนั้น ขายหมดเกลี้ยงตลาดภายในเวลาอันรวดเร็ว จนต้องพิมพ์เพิ่มอีกถึง 6 ครั้งในวันเดียวกัน
แม้วันเวลาจะผ่านไปนานพอสมควร แต่บทสรุปนี้ก็ยังเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้จนถึงทุกวันนี้
ขอขอบคุณที่มา :
Facebook:ห้องสมุดฟลิ้นท์
“ขจรศักดิ์”
แปลและเรียบเรียง
Credit: Social forward
โฆษณา