14 ต.ค. 2022 เวลา 02:42 • ความคิดเห็น
8 ข้อคิด ฝึกวางให้เป็น
พศิน อินทรวงค์
1. เมื่อมีความทุกข์ ให้สังเกตว่า ไม่ว่าทุกข์ใด ๆ ล้วนตั้งอยู่คงทนไม่ได้ กำลังทุกข์อยู่ เพียงได้ยินเสียงเพลง จิตใจวูบหนึ่งก็ไปจับอยู่ที่เพลง แล้วกลับมาทุกข์ใหม่ สักพัก เมื่อมีเรื่องราวสำคัญต้องทำ ทุกข์นั้นก็หายไปชั่วคราว จิตใจก็ไปจับในเรื่องที่สำคัญกว่า วนเวียนสลับไปเช่นนี้ตลอดเวลา ถึงจุดหนึ่ง ทุกข์ก็เลือนลางไปตามกาลเวลา ความเข้าใจทุกข์เข้ามาแทนที่ ชีวิตเคลื่อนไปเช่นนี้ไม่รู้จบ
2. เมื่อมีความสุข สุขนั้นก็ตั้งอาศัยอยู่ได้ไม่นาน แปรเปลี่ยนไปตามสิ่งกระทบไม่ต่างจากความทุกข์ แม้เราจะเรียกว่าความสุข แต่ความสุขก็เป็นสิ่งที่เราจะยึดติดไม่ได้ จำเป็นต้องฝึกฝนปล่อยวาง เมื่อปล่อยใจให้ยึดสุข ใจเดียวกันนี้ย่อมยึดความทุกข์ไปด้วย สุขทุกข์คือเหรีญสองด้าน ที่สุดแล้ว จำเป็นต้องวางทั้งคู่เสมอกัน
3. มนุษย์เรามักผูกใจยึดมั่นในรูปกาย โดยเฉพาะสุภาพสตรี ความจริงแล้ว ร่างกายของเราเสื่อมสภาพอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดมาแล้ว เท่ากับนับเวลาถอยหลังไปสู่ความแก่ชรา เจ็บ และตาย ทว่า คนส่วนใหญ่มักตั้งตนอยู่ในความประมาท การดูแลรักษาร่างกายของ
ตนเป็นเรื่องดี แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความตระหนักรู้ในความจริง มิใช่อยู่บนพื้นฐานคิดต่อสู้เอาชนะความจริง ทุกครั้งที่แต่งหน้า ทาปาก ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก รักษาหุ่น ถ้าให้ดีควรมีสติ หมั่นพิจารณาธรรมประกอบไปด้วย รูปร่างหน้าตา ไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้ ดูแลรักษาได้ตามสมควร แต่ต้องรู้เท่าทัน มิเช่นนั้นแล้ว ยิ่งดูแลตนเองไปมาก ความยึดติดในกายก็จะมีมาก ต่อเมื่อสูญเสีย ความทุกข์ใจย่อมมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
4. ความโกรธ เกิดขึ้นแล้วหายไป ความเกลียด เกิดขึ้นแล้วหายไป ความรักเกิดขึ้นแล้วหายไป ความเมตตา เกิดขึ้นแล้วก็หายไป ความรู้สึกทั้งปวง ทั้งฝ่ายดีงาม และฝ่ายชั่วร้าย ล้วนตั้งอาศัยอย่างมั่นคงไม่ได้ ใครที่อยากมีความสุขตลอดไป ย่อมพบกับความผิดหวัง แม้ใครคิดประหลาด อยากมีความทุกข์ตลอดไป ก็เป็นไปไม่ได้ ขอให้สังเกตความจริงในข้อนี้ แล้วคลายความยึดมั่นในอารมณ์ของตน เมื่ออารมณ์ใด ๆ เกิดขึ้น ลองยับยั้งชั่งใจ ยุติการเสพติดอารมณ์ของตนเอง
5. วัตถุ เงินทอง ยศ ตำแหน่ง คำสรรเสริญ คำยกย่อง สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง ส่วนใหญ่แล้ว ความไม่เที่ยงของมัน ก็มิได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของเรา แต่ขึ้นกับหลายเหตุปัจจัย ทั้งคน สถาณการณ์ สภาพสังคม มีบ้านหลังโต ใครเล่ารับรองได้ว่า ฟืนไฟจะไม่ไหม้บ้าน ขึ้น
สูงแค่ไหน วันหนึ่งก็ต้องถึงเวลาลง วันนี้เขามอบดอกไม้ ใครจะรู้ว่า วันพรุ่งนี้เขาอาจปาก้อนหินใส่ก็ได้ ยามชีวิตขาขึ้น จงอย่าหลงใหล ยามชีวิตขาลง จงอย่าท้อแท้ ดีที่สุดคือไม่ปล่อยใจให้ขึ้นลงตามสิ่งเหล่านี้ ถือครองสิ่งเหล่านี้ด้วยความรู้สึกกลาง ๆ แล้วปัญญาทางธรรมย่อมคุ้มครองใจผู้เห็นธรรม
6. มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คนหนึ่งคนมีความสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย หลายชีวิตที่พบพาน ควรทำดีต่อกันไว้ ทุกครั้งที่พบกัน ใครบอกได้ว่า นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ก่อนออกจากบ้าน กอดคนในครอบครัวบ้างก็ดี จะได้ไม่เสียใจภายหลัง วันไหนอยากดุด่าต่อว่า เก็บคำพูด
รุนแรงไว้บ้างก็ดี จะได้ไม่เสียใจภายหลัง ชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราต่างพบกันเพียงชั่วคราว ละวางเหตุผลส่วนตัวบางอย่างซึ่งอาจนำความขุ่นมัวมาให้ เดินผ่าน สวนทาง พูดจาทักทาย ให้กำลังใจกันได้ อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน คิดอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรหลงยึดว่าสิ่งใดแน่นอน จนเป็นเหตุให้ทุบทำลายความสุขของกันและกัน
7. อาหารแต่ละมื้อ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบำรุงร่างกาย มิใช่อะไรอื่น หมู ไก่ เป็ด ปลา มีสิ่งมีชีวิตมากมายสังเวยชีวิตของเขา เพื่อต่อชีวิตของเรา เขาก็รักชีวิตของเขา เช่นเดียวกับที่เราก็รักชีวิตของเรา เรามีเหตุผลของเรา ที่พรากชีวิตเขามาแล้ว ก็อย่าได้อกตัญญู
ต่อสรรพชีวิตเหล่านั้น กินแล้วมีกำลัง มีกำลังแล้ว เราเอากำลังที่มีไปกระทำสิ่งใด กล่าวกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่สัตว์เดรัจฉาน แม้ฆ่ากันก็เพียงเพื่อความอยู่รอด ทว่า สัตว์ที่เรียกตนว่าผู้ประเสริฐอย่างเรา กลับฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้น เราฆ่าเขาเพียงเพราะคำว่า “น่าอร่อย” เท่านั้นเอง
8. สิ่งที่แน่นอน ก็คือ ความไม่แน่นอน ความจริงข้อนี้เราท่องบ่นจนชินปาก แต่ไม่ตระหนักถึงใจ ทุกครั้งที่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งเรื่องเล็กใหญ่ ใจเราจะแล่นเข้าไปยึดตามความเคยชิน จึงเป็นที่มาของคำว่า นี่คือความสุขของฉัน นี่คือความทุกข์ของฉัน นี่คือชื่อเสียงของฉัน นี่คือศักดิ์ศรีของฉัน นี่คืออุดมคติของฉัน ฉันเป็นคนอย่าง
นั้น ฉันเป็นคนอย่างนี้ ความเป็นฉันของเรากว้างใหญ่ไพศาล เราแปะป้ายความเป็นเจ้าของของเราไปทั่วจักรวาลทั้งปวง ทั้งจักรวาลแห่งวัตถุธาตุอันประกอบด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม กระทั้งจักรวาลแห่งความรู้สึก ความเป็นฉันของเราเกาะเกี่ยวทั้งรูป และนาม ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้
แต่นี้เป็นต้นไป แม้เรามีความมุ่งหมายว่า จะฝึกใจให้คลายความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็อย่าได้ใช้ชีวิตตามความเคยชินในระบบยึดติด แต่ขอให้หันมาฝึกฝนสัญชาติญาณใหม่แห่งความไม่ยึด สิ่งใด ๆเกิดขึ้น อารมณ์ใด ๆเกิดขึ้น ทั้งด้านมืด และด้านสว่าง จงยับยั้งสัญชาติญาณเก่า อย่าไหลไปยึดตามความเคยชินว่า นี่คือความรู้สึกของตัว มีความดีใจ แต่ไม่มีผู้ดีใจ มีความเสียใจ แต่ไม่มีผู้เสียใจ เรามิใช่ผู้เป็น แต่เราเป็นเพียงผู้เห็นอารมณ์นั้น ๆ ด้วยความเป็นกลาง
ได้กลิ่น รู้รสชาติ เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ก็ขอให้ดึงจิตใจออกจากวงล้อมแห่งความเป็นเราที่เคยชิน ระดมสติเข้ามาทำหน้าที่สังเกต ทำเช่นนี้เนือง ๆ เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านครั้ง ความยึดมั่นถือมั่นย่อมคลายตัวเป็นลำดับ นี่คือที่มาของความดีและความสุขแท้ ที่มิต้องใช้ความพยายามในการแสวงหา
ความสุขและความดีที่มีตัณหาหล่อเลี้ยง
ยังเป็นสุขและดีที่อาบยาพิษ
เมื่ออัตตาตัวตนเบาบาง
ขุมพลังแห่งความเข้าใจความจริงตามธรรมชาติ
ย่อมเป็นต้นกำเนิด
แห่งความสุขและความดีตามธรรมชาติ
นี่คือที่สุดแห่งความสุขและความดี
อันเกิดจากการดับซึ่งความไม่รู้
อันเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้าย
และความทุกข์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในชีวิต…
***ขอบคุณที่มา คุณพศิน อินทรวงค์***
โฆษณา