14 ต.ค. 2022 เวลา 02:54 • ข่าวรอบโลก
การโหวตงดออกเสียงในข้อมติการประณามรัสเซีย จากกรณีการผนวกดินแดน4ดินแดน (Donestk,Luhansk, Kherson, Zaporizhia) อย่างผิดกฎหมายของรัสเซีย เป็นข้อมติเพื่อนสนับสนุน อธิปไตย,เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดน ของยูเครนนั้น ย้อนแย้งและไม่สง่างาม
BFSS มองว่าการจะพิจารณาท่าทีของไทย ในการลงมติของข้อมติในครั้งนี้ ถ้าหากต้องการให้ครอบคลุม คงต้องพิจารณาโดยการอ่านเอกสาร Explanation Of Vote หรือ EOV ที่คณะผู้แทนถาวรไทยแห่งสหประชาชาติ ได้ส่งให้กับประธานสมัชชาใหญ่UN (UNGA) และเผยแพร่ออกมาให้ได้รับทราบกันด้วย ทั้งนี้ BFSS ก็ไม่เห็นด้วยกับการโหวตงดออกเสียงครั้งนี้อยู่ดี แม้จะอ่านเหตุผลแล้วก็ตาม วันนี้จะขอไล่เรียงเหตุผลที่ กต.ชี้แจง เสียก่อน แล้วBFSS จะขอให้เหตุผลเช่นกันว่าทำไม เราถึงยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี
การชี้แจงเหตุผลประกอบ ชี้แจงออกมาด้วยกัน4 ข้อ 4 ย่อหน้า ด้วยกัน ประเด็นแรก ผู้แทนไทยเน้นย้ำว่า กฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสิ่งแรกและสิ่งเดียวที่ต้องปกป้อง เราให้พันธะสัญญาอย่างชัดเจนว่าจะเคารพต่อหลักการในเรื่องของ "อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน" ที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีจุดยืนและนโยบายที่เข้มแข็งใรการที่จะต่อต้าน การใช้กำลังที่ละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดๆก็ตาม และรวมถึง การพยายามยึดดินแดนผู้อื่นด้วยการใช้กำลังที่ปราศจากการยั่วยุุใดๆ
ในข้อที่ 2 และ3 เป็นการให้เหตุผลว่าทำไม ไทย จึง "งดออกเสียง" เหตุผลคือไทยมองว่า บริบทในการลงข้อมติครั้งนี้ เต็มไปด้วยความเดือดดาลที่พร้อมปะทุและอารมณ์ที่จะทำให้บรรยากาศแย่ลง และลดทอนโอกาสในการใช้การทูตแก้ไขวิกฤต ที่จะนำมาซึ่งการเจรจาด้วยสันติวิธีในการขจัดข้อขัดแย้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การทำให้โลกเข้าสู่ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์และการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจโลก
ไทยมีความกังวลอย่างมากต่อการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองในทางอุดมการณ์และหลักการของระบบระหว่างประเทศ ซึ่งกลายเป็นการลดทอน ต่อต้าน วิธีการที่จะนำไปสู่การจบสงคราม การประณามอาจเป็นการยั่วยุทำให้เกิดกาี "ดื้อด้าน" และลดโอกาสการร่วมมืออย่างก่อเกิดผลได้
หลังจากให้เหตุผลของการโหวตงดออกเสียงแล้ว ไทยยังสำทับในบทสรุปข้อที่ 4 ว่า ประเทศไทย เศร้าโศกและเสียใจกับการทำลายทั้งทางกายภาพ สังคม มนุษยธรรมในยูเครน และการเผชิญความยากลำบากอย่างสุดขั้วของชาวยูเครน ประเทศไทยขอเน้นย้ำความจำเป็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายของโศกนาฏกรรมในยูเครน ที่จะต้องลดความขัดแย้งและความรุนแรง แสวงหาหนทางอย่างสันติที่จะผสานความแตกต่าง โดยคำนึงถึงสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติและความกังวลของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ไทยเน้นย้ำเพิ่มเติมในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ และบทบัญญัติตามมาตรา 3 แห่งคำประกาศสิทธิมนุษย์ชนสากล ( Everyone has the right to life,liberty and security of the person ) และรับรองสิทธินั้นให้กับชาวยูเครน และผู้อื่นอีกหลายล้านคนทั่วโลก, สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญ ขององค์กร ที่จะนำสันติภาพและชีวิตปกติกลับคืนสู่ชาวยูเครน ซึ่งไม่ใช่ด้วยวิธีการรุนแรง แต่เป็นวิธีการกลไกทางการทูตเท่านั้นที่สามารถนำสันติสุขที่เป็นไปได้และยั่งยืน
นี่คือเหตุผลทั้งหมดที่คณะผู้แทนไทยส่งให้กับที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ อันที่จริง เหตุผลทั้งหมดนี้ สามารถนำไปประกอบการลงข้อมติ "เห็นด้วย" หรือ "ประณาม" รัสเซีย ได้เลยนะ ท่านใดที่คิดว่า การที่ไทยโหวตงดออกเสียงเพราะ "เชียร์" ท่านปูติน อาจต้องคิดใหม่
เพราะแต่คำที่ออกมา เช่น การพยามผนวกดินแดนรัฐอื่นด้วยกำลังทั้งๆที่ไม่ได้เกิดจากการยั่วยุ , การประณามอาจนำไปสู่ความ "ดื้อด้าน" (หมายถึงใครล่ะที่ดื้อด้าน) หรือการบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยูเครนเป็นการทำลายทางกายภาพ สังคม และมนุษยธรรม พูดง่ายๆ มันคือการด่า"รัสเซีย" โดยไม่มีคำว่า "รัสเซีย" อยู่ในนั้น นั่นเอง แต่ทั้งนี้ แม้การพรรณา ทั้งหมดเราจะคล้อยตามอยู่บ้าง แต่ BFSS ก็ไม่เห็นด้วยกับการงดออกเสียงข้อมตินี้อยู่ดี
แม้เหตุผลจะเต็มไปด้วยการพรรณาเชิงประณามรัสเซียอยู่ในที และสามารถจะใช้เป็นเหตุผลในการโหวตเห็นด้วยกับข้อมติได้เลยด้วยซ้ำ แต่ BFSS มองว่า การโหวตงดออกเสียงด้วยเหตุผลนี้นั้น "ย้อนแย้ง" และ"ไม่สง่างาม" กล่าวคือ แม้ไทยจะให้เหตุผลว่า เพราะการลงข้อมติ ไม่ช่วยอะไร เป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทำให้เกิดความดื้อด้าน และลดโอกาสการใช้การเจรจาและวิธีทางการทูต ในการยุติสงคราม "แต่" การลงข้อมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่UN ก็เป็น "วิธีการทางการทูต" วิธีการนึง ตามกฎบัตร UN มิใช่หรือ???
การลงข้อมติ จึงเป็นวิธีการทางการทูต ที่จะส่งผ่านจุดยืน ความไม่เห็นด้วย และความกังวล ไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในวิกฤตการยูเครน ตามที่ประเทศไทยต้องการ ซึ่งพรรณาไว้ในเอกสารEOV หรือไม่อย่างไร ถ้ามิเช่นนั้น แล้วเราเองเห็นอยู่แล้วว่า ไม่ว่าด้วยวิธีการอื่นใด ก็ไม่สามารถนำไปสู่การเจรจาอย่างสันติได้ แล้ววิธีการทางการทูตแบบใดล่ะ ที่ไทยมองว่าเป็นไปได้?
ความ"ย้อนแย้ง" ยิ่งนำมาสู่ ความ"ไม่สง่างาม" เมื่อเหตุผลทั้งหมด ทุกแปะไว้ด้วยคำว่า"งดออกเสียง" ในเมื่อประเทศไทย ย้ำหนักหนา ว่าไทยเคารพในกฎบัตรสหประชาชาติ ในเรื่องของ อธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดน (และไทยก็ให้ความสำคัญของเรื่องนี้มากดูจากรัฐธรรมนูญก็ได้) แม้! ไทยจะมองว่า การลงมติไม่ช่วยอะไร หรือทำให้แย่ลง
แต่! สิ่งเหล่านี้มันสามารถเอาชนะจุดยืน และความเคารพต่อหลักการอันแข็งแกร่งของไทย จนต้องลงมติ"งดออกเสียง" ได้เลยหรือ "การงดออกเสียง" เป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ของไทยอย่างไรในกรณี จนถึงขั้นที่เราสามารถ ทรยศต่อหลักการที่สำคัญที่สุดของ "รัฐ" สมัยใหม่ ได้เลยกระนั้นหรือ
หากในอนาคต ประเทศไทยเองเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น เช่น เราโดนรุกรานยึดดินแดนที่เป็นข้อพิพาทกับประเทศรอบบ้านบ้าง หรือการต้องการแบ่งแยกดินแดนบางพื้นที่ วันนั้น ประเทศไทย จะเรียกร้องต่อประชาคมระหว่างประเทศอย่างไร หรือหาเสียวสนับสนุนได้อย่างไร หากไทยต้องการข้อมติเพื่อต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น ในเมื่อวันนี้ ไทยเองยังไม่ยืนหยัดต่อหลักการมากพอ เพราะมองว่า "มันไม่เกิดประโยชน์" แล้ววันนึงข้างหน้า ถ้าเกิดเหตุกับเราและนานาชาติมองแบบเดียวกับเราตอนนี้หรือ ย้อนกลับเราแบบนี้เราจะรู้สึกอย่างไร
ถ้าเพียงแต่ไทย ให้เหตุผลแบบเดียวกันนี้แหละ 4 ข้อแบบนี้ แต่ปิดท้ายบทสรุป แบบสวยงามว่า "แม้การประณามอาจจะไม่เกิดประโยชน์ หรือลดทอนโอกาสในการเจรจา เพราะอาจไปยั่วยุให้เกิดความดื้อด้าน แต่ข้อทตินี้เป็นวิธีการอย่างสันติวิธีเดียว ที่จะส่งผ่าน ความยืนหยัดและเคารพในหลักการและความห่วงใยต่อสถานการณ์ยูเครน" พร้อมกับการลงข้อมติ "เห็นด้วย" จะทำให้ไทย "สง่างาม" มากกว่านี้หรือไม่อย่างไร
หรือ ถ้าจะให้สิ่งที่ไทยพรรณาออกมานั้นสมเหตุสมผล ในเมื่อไทยมองว่าสิ่งที่สหประชาชาติ กำลังทำ ไม่เกิดผลต่อการยุติของสงครามด้วยสันติวิธีแล้วไซร้ ไทยเองเสนอวิธีการได้หรือไม่ ว่าจะทำอย่างไร หรือเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเจรจาหรือไม่ ไทยมีศักยภาพพอที่จะเล่นบทนั้นหรือเปล่า ถ้าทำได้ สิ่งที่ไทยพรรณาออกมา ก็จะถือว่าสมเหตุสมผลได้
ทั้งหมดทั้งมวล แม้เหตุผล ประกอบการงดออกเสียง จะทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมจึงแสดงท่าทีเช่นนั้น แต่อย่างที่เรากล่าวไป การไม่ยืนหยัดต่อหลักการอย่างที่เราพรรณาไว้ ย่อม"ย้อนแย้ง" และ"ไม่สง่างาม"
เอวัง
#bfss #รัสเซีย #ยูเครน #ไทย #งดออกเสียง
โฆษณา