14 ต.ค. 2022 เวลา 05:12 • ธุรกิจ
⦿ ‘Jamie Siminoff’ จากคนถังแตกสู่เศรษฐีพันล้าน ด้วยธุรกิจกริ่งประตูบ้านที่วิดีโอคอลได้
1
• ชื่อของ เจมี ซิมินอฟฟ์ (Jamie Siminoff) อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนในบ้านเรา แต่ในสหรัฐฯ นั้นเขาค่อนข้างมีชื่อเสียงพอตัวในฐานะนักธุรกิจ เจ้าของ และผู้ก่อตั้ง Ring กริ่งประตูที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ เพื่อแจ้งเตือนว่ามีคนมากดกริ่งประตูบ้าน และสามารถมองเห็นหน้าตาแขกผู้มาเยือนได้อีกด้วย
2
• Ring เป็นสินค้าที่ทำเงินให้ซิมินอฟฟ์มหาศาล ด้วยตัวเลข 1,000 ล้านเหรียญ (ราว 38,240 ล้านบาท) ด้วยเรื่องราวชีวิตอันน่าอัศจรรย์ของเขาที่หลายสื่อนำไปเล่าต่อกันมากมาย จากคนถังแตก แต่พลิกผันเป็นมหาเศรษฐีได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น วันนี้มาทำความรู้จักเขากันครับ
⦿ Jamie Siminoff อัจฉริยะนักคิด
• เจมี ซิมินอฟฟ์ เป็นทั้งนักธุรกิจและนักประดิษฐ์คิดค้น ในอดีตนั้นเขาเคยคิดค้นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาหลายตัว ขายดีบ้าง เจ๊งบ้าง โดยเขาและเพื่อน ๆ เคยทำแม้กระทั่งอาหารเสริมชื่อว่า “Body Mint” ที่มีส่วนผสมหลัก คือ ‘คลอโรฟิล’ และมีจุดขายสำคัญคือสามารถขจัดกลิ่นกายได้ แต่ข้อเสียก็คือมันทำให้อุจจาระออกมาเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นเหตุให้สินค้าตัวนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
1
• แต่ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จก็มี เช่น ‘SimulScribe’ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยเปลี่ยนข้อความเสียงเป็นข้อความตัวหนังสือได้ โดยผลิตภัณฑ์ตัวนี้ดึงดูดความสนใจของ DiTech บริษัทเทคโนโลยีให้มาร่วมเทเงินลงทุนด้วยถึง 17 ล้านเหรียญ (ราว 650 ล้านบาท) โดยการเซ็นสัญญาในครั้งนั้นทำให้ซิมินอฟฟ์ได้รับส่วนแบ่งมาด้วยมากกว่า 1 ล้านเหรียญ (ราว 38 ล้านบาท) ทำให้เขาเริ่มคิดอยากนำเงินไปต่อยอดด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีก
“สิ่งที่ผมประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานั้น มันยังไม่มีตัวไหนที่มีผลดีต่อโลกเราเลย” ซิมินอฟฟ์กล่าว
• ในปี 2011 เจมี ซิมินอฟฟ์ ในวัย 35 ปี เป็นปีที่ชีวิตเขาเริ่มพลิกผัน จุดเริ่มต้นชีวิตของเขานั้นเหมือนกับนักธุรกิจระดับโลกหลาย ๆ คน ที่ใช้โรงรถเป็นสำนักงาน ในแต่ละวัน ซิมินอฟฟ์ก็ชอบขลุกตัวอยู่แต่ในโรงรถกับเพื่อน ๆ ช่วยกันคิดค้นอุปกรณ์ใหม่ ๆ กันขึ้นมา
• แต่ปัญหาก็คือเมื่อเขาทำเสียงดังในโรงรถ พอไรเดอร์มาส่งของ กดกริ่งประตู ซิมินอฟฟ์ก็ไม่ได้ยิน เมียก็ตะโกนบ่นว่า มีคนมาส่งของแล้ว ซิมินอฟฟ์ก็ไม่ได้ยิน แล้วก็ไม่ออกไปรับเสียที ตรงนี้ละ ที่ทำให้ซิมินอฟฟ์เกิดปิ๊งไอเดีย เอาปัญหาที่เขาเจอมาต่อยอดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่เสียเลย มันคงจะดี ถ้าเราออกแบบเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกริ่งประตูบ้าน เข้ากับแอปบนโทรศัพท์มือถือซะ พอกดกริ่ง แอปก็เด้งเตือน แถมมีวิดีโอคอล มองเห็นหน้าแขกผู้มาเยือนอีกด้วย
1
⦿ เสี่ยงโชคในรายการ Shark Tank
• ปี 2013 ซิมินอฟฟ์ก็เทกระเป๋าลงทุนเปิดบริษัทใหม่ในชื่อ Doorbot แล้วผลิตกริ่งประตูอัจฉริยะล็อตแรกของเขาออกมา 5,000 ชิ้น โดยส่งไปผลิตในโรงงานที่ไต้หวัน รวมต้นทุนในการผลิตและขนส่งแล้ว ซิมินอฟฟ์ตั้งราคาขายไว้ที่อันละ 200 เหรียญ นับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงทีเดียว
• แน่นอนว่าสินค้าใหม่ บริษัทไม่เป็นที่รู้จัก และราคาค่อนข้างสูง ทำให้ซิมินอฟฟ์อยู่ในสถานะคนถังแตก เพราะเทเงินลงทุนไปหมดตัว จนมีนักลงทุนคนหนึ่งเสนอไอเดียว่า เขาควรลองไปออกรายการ Shark Tank รายการเรียลลิตี้โชว์เชิงธุรกิจ โดยในรายการจะมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จระดับพันล้าน ซึ่งเปรียบนักลงทุนเหมือนฉลาม (Shark) มาฟังผู้เข้าแข่งขันนำเสนอจุดเด่นของสินค้าหรือบริการ และแผนธุรกิจ ถ้าฉลามสนใจก็จะให้เงินไปร่วมลงทุนด้วย
2
• หลังสมัครไป ทางรายการ Shark Tank ก็สนใจ ให้ซิมินอฟฟ์มาออกรายการในเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 ซิมินอฟฟ์คาดหวังกับการออกรายการ Shark Tank อย่างมาก เขาคาดการณ์ไว้ว่าเขาจะได้เงิน 700,000 เหรียญ (ราว 26 ล้านบาท) เพื่อแลกกับสัดส่วนหุ้นในบริษัทที่ 10% เพื่อจะนำเงินก้อนนี้ไปต่อลมหายใจให้บริษัทได้
1
“เราเปรียบเสมือนบริษัทเส็งเคร็งเล็ก ๆ ในโรงรถที่ตายไปแล้ว การมาออก Shark Tank เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เรารอดต่อไปได้” ซิมินอฟฟ์กล่าว
1
• แต่โชคชะตาไม่เข้าข้าง เพราะเหล่าฉลามไม่ได้ให้ความสนใจกับธุรกิจของ Doorbot ส่วนซิมินอฟฟ์ก็ต้องผิดหวังกลับบ้าน แต่การออกรายการก็ยังมีข้อดี เพราะอย่างน้อยก็เปรียบเสมือนการได้โฆษณาสินค้าไปด้วย หลังออกรายการ เขาสามารถทำยอดขายสินค้าได้ถึง 1,000,000 เหรียญ (ราว 38 ล้านบาท) ภายในเวลาแค่เดือนเดียว แต่ลูกค้าก็ไม่พอใจกับคุณภาพของ Doorbot ต่างรีวิวกันอย่างเสียหายว่า เสียงกริ่งอู้อี้บ้าง สัญญาณ WiFi ห่วยต่อแล้วก็หลุด รีวิวที่รุนแรงที่สุดเขียนไว้บน Amazon ว่า “สินค้าโคตรแย่ที่ผลิตจากบริษัทที่ไร้จรรยาบรรณ”
2
• ยังมีนักรีวิวอีกหลายรายที่ไม่อยากเขียน แต่อยากโทรมาด่าด้วยตัวเอง ซึ่งซิมินอฟฟ์ก็มีสปิริตดีพอที่จะรับสายต่อว่าจากลูกค้าเอง ทั้งนี้ มีลูกค้าโทรมาต่อว่าถึง 50 ราย ภายในระยะ 9 เดือน ซึ่งซิมินอฟฟ์ก็รับสายเองและตอบอีเมลลูกค้าด้วยตัวเองทั้งหมด เขาค่อนข้างจริงใจกับลูกค้าด้วยการใส่อีเมลส่วนตัวลงบนกล่องสินค้าด้วย ไม่แค่นั้น เขาตั้งเป้าไว้ว่า จะออกไปซ่อมแซมกริ่งประตูให้ลูกค้าเองให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 บ้าน
⦿ หนทางเริ่มสว่างไสว
• หนทางของซิมินอฟฟ์เริ่มมีแนวโน้มสดใส ในเดือนมีนาคม ปี 2014 เมื่อ Foxconn บริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ที่เป็นโรงงานผลิต iPhone ให้ Apple สนใจร่วมลงทุนกับซิมินอฟฟ์ โดย Foxconn จะมาร่วมออกแบบให้ใหม่และปรับปรุงข้อบกพร่อง ซ้ำยังใจดีถึงกับลงทุนผลิตให้ด้วยในล็อตแรกจำนวน 30,000 ชิ้น แถมราคายังลดต่ำลงมาครึ่งหนึ่ง โดยตั้งราคาขายที่ชิ้นละ 100 เหรียญเท่านั้น
1
• แต่ซิมินอฟฟ์ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ เขายังต้องการขยายธุรกิจให้ใหญ่โตขึ้นไปอีก ด้วยการชักชวนนักธุรกิจรายอื่น ๆ ให้มาร่วมลงทุนใน Doorbot รายหนึ่งที่สนใจก็คือ แฮเม็ตต์ วัตต์ (Hamet Watt) เจ้าของ Upfront Ventures วัตต์เป็นคนเสนอไอเดียให้ซิมินอฟฟ์เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Doorbot เป็น Ring จะดีกว่า เพราะเป็นคำสั้น ๆ ที่ให้ความหมายตรงตัวได้ 2 อย่างคือ
1
เสียงกริ่งประตูดัง และเป็นกิริยาที่หมายถึงการโทรแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้อีกด้วย ซิมินอฟฟ์เห็นชอบ แต่ก็เจอปัญหาอย่างหนึ่งคือมีธุรกิจที่จดทะเบียนโดเมนเนม ring.com ไปก่อนหน้านั้นแล้ว ซิมินอฟฟ์ยอมควักกระเป๋า 1 ล้านเหรียญ ขอซื้อโดเมนเนมนี้ต่อจากเจ้าของเดิม
“ถ้าคุณต้องการเป็นผู้เล่นตัวจริงในตลาดนี้ คุณต้องดูเหมือนเป็นหนึ่งเดียว”
• ในปี 2015 Ring ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้มหาเศรษฐีชื่อดังอย่าง ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) ขอโดดมาร่วมทุนด้วยอีกคน เขาได้รู้จัก Ring โดยบังเอิญ เมื่อมีคนรู้จักมาเยี่ยมเยียนเขาที่เกาะส่วนตัว ระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้น แขกผู้นี้ก็พูดคุยกับพนักงานส่งของผ่านวิดีโอคอล นาทีนั้นแหละที่ Ring ดึงความสนใจของแบรนสันได้อยู่หมัด
1
“Ring ตอบโจทย์สำหรับผมมาก มันคือผลิตภัณฑ์ที่จะป้องกันบ้านของคุณไม่ให้ถูกยกเค้าได้ ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าฉลามใน Shark Tank ปล่อยผ่านเจมีไปได้ไง” แบรนสันกล่าว
• ปี 2016 ซิมินอฟฟ์เลือกวิธีการโปรโมตผลิตภัณฑ์ของเขาได้อย่างเฉียบแหลมมาก เมื่อเขาขอความร่วมมือจากสถานีตำรวจลอสแองเจลิส โดยซิมินอฟฟ์ขออนุญาตแจกฟรีกริ่งประตูอัจฉริยะของเขาให้กับชาวบ้านใน วิลเชียร์ พาร์ก ซึ่งเป็นชุมชนของคนชั้นกลางจำนวน 40 หลังคาเรือน เพราะว่าชุมชนนี้เดือดร้อนจากการถูกตีนแมวงัดบ้านบ่อยมาก
และ 40 หลังคาเรือนที่ติดตั้งกริ่งประตูอัจฉริยะนั้นก็เป็นสัดส่วนแค่ 10% ของชุมชนทั้งหมด แต่ผลที่ได้กลับน่าประทับใจมาก เพราะสถิติการถูกงัดบ้านนั้นลดลงไปถึง 55% ภายในระยะเวลา 6 เดือน เพราะที่ผ่านมานั้นโจรจะเลือกงัดบ้านที่มั่นใจว่าไม่มีคนอยู่ แต่ Ring ก็ช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้
• ถึงตอนนี้หลังบ้านเริ่มแข็งแรงแล้ว เงินทุนมีพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาที่ซิมินอฟฟ์จะพาสินค้าของเค้าเข้าสู่ตลาดใหญ่ กริ่งประตูอัจฉริยะของ Ring มีพร้อมจำหน่ายในทุกห้างสรรพสินค้าใหญ่ เขาเริ่มลงทุนทำโฆษณาทีวีต่อเนื่องหลายตัว โดยมีตัวซิมินอฟฟ์เองเป็นพรีเซนเตอร์ แล้วได้ แชค โอนีล (Shaquille O’Neal) อดีตนักบาสเอ็นบีเอ มาเป็นพรีเซนเตอร์ร่วม ซึ่งแชคไม่รับค่าตัวเป็นเงินสด แต่ขอรับเป็นสัดส่วนหุ้นใน Ring แทน
1
• ทั้งนี้ โฆษณาแต่ละตัวจะมีชาวบ้านที่อุปโลกว่าเป็นลูกค้ามาบอกเล่าข้อดีต่าง ๆ ของกริ่งประตู Ring โฆษณาประสบความสำเร็จ ก็ยิ่งช่วยดันยอดขายให้เพิ่มขึ้นไปได้อีก
2
⦿ เศรษฐี 1,000 ล้านเหรียญ ในวัย 41 ปี
• ปี 2017 Ring เติบโตขึ้นอย่างมาก เขามีสินค้าหลักถึง 10 ตัว มีพนักงานมากกว่า 1,300 คน มีสินค้าวางจำหน่ายใน 16,000 ร้าน ทั่วโลก ในปีเดียวกันนั้น Amazon เริ่มรุกตลาดเทคโนโลยี Smart Home ที่ต้องเจอกับคู่แข่งรายสำคัญทั้ง Google และ Nest
2
• โดยเริ่มจากที่ Amazon เข้าซื้อ Blink อีกหนึ่งผู้ผลิตกริ่งประตูอัจฉริยะ แล้วก็ร่วมลงทุนกับ Ring ในโปรเจกต์ที่ให้ Ring ช่วยพัฒนาความสามารถของ Alexa ระบบผู้ช่วยเสมือนภายในบ้าน ที่รับคำสั่งด้วยเสียงของ Amazon เพื่อให้ Alexa สามารถควบคุมกริ่งประตูบ้านได้ด้วย หลังจากร่วมงานกันมาได้ 1 ปี ก็ดูเหมือน Amazon จะมั่นใจในศักยภาพของ Ring และเจมี ซิมินอฟฟ์ จึงทำการเข้าซื้อ Ring ที่มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญ (ราว 38,240 ล้านบาท) ในปี 2018
• การเข้าซื้อครั้งนี้ ทำให้ เจมี ซิมินอฟฟ์ ในวัย 41 ปี กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับ 1,000 ล้านทันที เขายังคงดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของ Ring แต่สัดส่วนหุ้นของเขาลดเหลือเพียงแค่ 10% เท่านั้น
1
• หลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Amazon แล้ว Ring ก็มีศักยภาพในการทำตลาดมากขึ้น กริ่งประตูอัจฉริยะของ Ring สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้สูงถึง 97% ในสหรัฐอเมริกา แต่ Ring ก็ยังคงพัฒนากริ่งประตูอัจฉริยะให้มีความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อหนีคู่แข่งที่ตามมาอีกนับสิบยี่ห้อ โดย Ring รุ่นใหม่ ๆ จะมีกล้องที่สามารถจับภาพกลางคืนได้ มีลำโพง ไฟ LED ในตัว และส่งเสียงไซเรนได้ถ้าตรวจพบผู้บุกรุก
• และในปี 2018 เจมี ซิมินอฟฟ์ ก็สามารถลบล้างภาพความอับอายในอดีตของตัวเองได้หมดสิ้น เมื่อรายการ Shark Tank ได้เชิญเขาให้มาร่วมรายการในซีซันที่ 10 แต่รอบนี้เขากลับมาในฐานะ “ฉลาม” อย่างสมภาคภูมิ ทั้งนี้ ซิมินอฟฟ์นั้นถือว่าเป็นผู้เข้าแข่งขันคนแรกในประวัติศาสตร์ของรายการที่ได้กลับมาในฐานะ “ฉลาม” ได้สำเร็จ
1
‣ เรียบเรียง สุชยา เกษจำรัส
‣ อ่านข่าวอื่น ๆ คลิก https://bit.ly/BRIEFHOME
#Ring #JamieSiminoff #lifelesson #beartaiBRIEF
โฆษณา