Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิรุฬหก
•
ติดตาม
14 ต.ค. 2022 เวลา 08:37 • ปรัชญา
สังคมกับการเมือง #1 : ผู้ปกครอง และ ผู้ถูกปกครอง
ธรรมชาติของคนทุกคนล้วนต้องการสุข เกลียดกลัวความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น คนเราทุกคนต่างก็รักตัวเอง ต้องการตักตวงความสุขใส่ตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีสติปัญญา การตักตวงความสุขใส่ตนของคนจึงมีหลายประการที่ต่างจากสัตว์ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ คนรู้จักประนีประนอม เพราะเรียนรู้ว่า การใช้กำลังไม่ช่วยให้เราแสวงหาความสุขได้อย่างแท้จริง การประนีประนอมนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมการเมือง
เครดิตภาพ : https://pixabay.com/th/photos
โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เชื่อว่า คนเราทุกคนแม้จะเกิดมาแตกต่างกัน เช่น บางคนมีกำลัง บางคนอ่อนแอ บางคนฉลาด บางคนโง่ แต่ความแตกต่างที่ว่านี้ไม่ได้เป็นหลักประกันความปลอดภัย จริงอยู่ว่า คนที่แข็งแรงอาจสามารถใช้กำลังบีบบังคับคนที่อ่อนแอกว่าได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกโต้ตอบ เพราะต่อให้แข็งแรงอย่างไรก็จะต้องเผลอ ไม่ทันระวังตัว คนที่อ่อนแอกว่าก็สามารถใช้ช่วงเวลานั้นลอบทำร้ายได้ หรือ คนที่อ่อนแอกว่าก็จริง แต่หากรู้จักใช้เครื่องทุ่นแรง ก็สามารถทำร้ายคนที่แข็งแรงกว่าตนได้
เครดิตภาพ : https://web.facebook.com/jumsocial/photos
บางคนอาจใช้ความฉลาดเพื่อเอาเปรียบคนโง่ แต่ความฉลาดที่มีก็ไม่ได้เป็นหลักประกันความปลอดภัย เมื่อต้องเผชิญกับคนโง่ที่แข็งแรงดุดันกว่า สรุปคือ ไม่ว่าคนเราจะเกิดมาต่างกันอย่างไร มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ หากปล่อยให้อยู่ในภาวะไร้ระเบียบ ไร้กฎเกณฑ์ ทุกคนจะรู้สึกไม่มั่นใจในสวัสดิภาพของตนทั้งสิ้น ความไม่มั่นใจนี้เองที่ผลักดันให้คนทุกคนต้องตกลงสร้างสังคมการเมืองอยู่ร่วมกัน
สังคมนี้จึงต้องมีระเบียบกติกา ที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ ในการปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละคน หากแต่เมื่ออยู่ในภาวะที่ระเบียบ ไร้กฎกติกา ทุกคนจะรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อทุกคนเข้ามาอยู่ในประเทศที่มีกฎระเบียบ มีกฎหมาย มีกติกาในการอยู่ร่วมกันชัดเจนทุกคนก็จะรู้สึกปลอดภัย มั่นใจในสวัสดิภาพของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าหากคนเราอยู่นอกสังคมการเมือง ความปลอดภัยและความสงบสุขของชีวิต คือ ประโยชน์ที่ต้องสูญเสียไป
เครดิตภาพ : clipmass.com
แต่เมื่อเราอยู่ในสังคมการเมือง ประเทศ หรือ รัฐ จะมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์เหล่านี้ให้กับสมาชิกทุกคน เพื่อให้คนในชุมชนนั้นมีความรู้สึกมั่นใจว่ามีความอยู่กันอย่างมีกฎกติกา มีความสงบสุขชีวิตขั้นพื้นฐาน คณะบุคคลที่เรียกว่า รัฐบาล จึงเป็นคณะบุคคลที่ประชาชนทั้งหมดได้คัดเลือกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์และกติกาที่คนทั้งสังคมร่วมกันสร้างขึ้นมิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้
ประเทศ หรือ รัฐ คือที่รวมของคนซึ่งได้ตกลงร่วมทำสัญญากัน หมายถึงคู่สัญญาทั้งหมดทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งในทางปฏิบัติ ของการร่วมกำหนดกติกาอาจมีคนบางส่วนในประเทศหรือในรัฐไม่เห็นชอบด้วย กรณีนี้ จึงมีการเสนอให้ใช้มติของคนส่วนใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสินว่ากติกาที่ออกจะมานั้น ได้ผ่านการเห็นชอบของคนทั้งหมดแล้ว
แม้จะมีสมาชิกบางส่วนไม่เห็นด้วย แต่เมื่ออกเสียงแล้ว ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่เห็นชอบ กฎหมายนี้จึงผ่านการพิจารณา ดังนั้น การที่มีกฎระเบียบบางอย่างออกมาใช้เพื่อเป็นกติกาสังคม เป็นไปได้ที่จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เป็นคนละเรื่องกับการละเมิดสัญญา หมายความแค่เพียงว่า ทุกคนถือว่าตนเองเป็นสมาชิกของสังคมการเมืองเดียวกันเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการออกกฎระเบียบ รุสโซ่ (Jean-Jacques Rousseau) ฮอบส์ (Thomas Hobbes)และ ล็อก (John Locke) มีความคิดเรื่องนี้คล้ายกัน
เครดิตภาพ : https://www.pier.or.th/abridged/2018/15/
เมื่อคนยังไม่รวมกันเป็นสังคมการเมืองเดียวกัน อาจจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นสังคมการเมืองเดียวกันแล้ว จะมีหลายเรื่องที่เราทำตามอำเภอใจไม่ได้ จริงอยู่ที่การเข้ามาอยู่ในสังคมการเมืองทำให้คนเราได้รับการปกป้องจาดกฎกติกา หรือ กฎหมาย แต่ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า สังคมการเมืองก็ทำให้เราสละสิทธิบางอย่าง เช่น การอ้างสิทธิที่จะทำอะไรตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้เหมือนอย่างตอนที่อยู่นอกสังคมการเมือง
ซึ่งคำว่าสิทธิ ในความหมายของ ฮอบส์ คือ สิทธิโดยธรรมชาติ (The Right of Nature) โดยที่คนทุกคนมีเสรีภาพที่จะทำอย่างไรก็ได้ ทั้งการปกป้องตนและการทำร้ายผู้อื่นเพื่อปกป้องชีวิตตนเองให้ยืนยาว ในท่ามกลางสังคมที่ไร้กฎกติกา ไร้ระเบียบแบบแผน
จริงอยู่ที่คนเรานั้นเวลาที่อยู่นอกสังคมการเมืองเราสามารถใช้เสรีภาพได้อย่างไม่จำกัด แต่เมื่อมาอยู่ในสังคมการเมืองแล้ว เสรีภาพนั้นจำเป็นต้องมีขอบเขต การเข้ามาอยู่ในประเทศ หรือ รัฐ ทำให้คนเราได้รับการปกป้องผลประโยชน์ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเสียสละบางสิ่งเป็นการตอบแทนผลประโยชน์ที่ได้รับมานั้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่า การเข้ามาอยู่ในสังคมการเมืองทำให้เราได้รับการคุ้มครองสิทธิ และ ต้องสูญเสียเสรีภาพบางส่วนไป
เครดิตภาพ : https://plus.thairath.co.th/topic/speak/102142
หากเราอยู่นอกสังคมการเมือง เราก็ไม่มีหลักประกันใดๆ รับรองว่าคนอื่นจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแทรงสิ่งที่เราครอบครอง เช่น บ้าน รถ ที่ดิน สังหา และอสังหาริมทรัพย์ หรือสมบัติส่วนตัวต่างๆ เป็นต้น
แต่เมื่อเข้ามาอยู่สังคมการเมืองแล้ว โดยหลักเราก็จะต้องได้รับการคุ้มครอง คือ รัฐ หรือประเทศรับรองว่าเรามีสิทธิในสิ่งเหล่านี้ ผู้ใดจะละเมิดสิทธิเหล่านี้ของเราไม่ได้ พร้อมกับการที่เราเองก็ต้องยอมรับในการจำกัดเสรีภาพที่จะไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วยเช่นกัน
ล็อก (John Locke) รุชโซ่ (Jean-Jacques Rousseau) และ ฮอบส์ (Thomas Hobbes) คิดเหมือนกันว่า อำนาจของผู้ปกครอง หรืออำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่ประชาชนละเมิดไม่ได้ ประชาชนมีหน้าที่เคารพเชื่อฟังผู้ปกครอง แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลสำคัญราษฎร ฐานะของรัฐบาลไม่มีความสำคัญเท่ากับประชาชน เพราะ เป็นเพียงคณะบุคคลที่ประชาชนเลือกมาเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์กฎระเบียบที่ประชาชนทั้งสังคมร่วมกันกำหนดขึ้น
จริงอยู่ ประชาชนที่ขัดขืนอำนาจรัฐ คือคนที่กำลังฝ่าฝืนกติกาที่ตนเองมีส่วนร่วมกำหนดขึ้น เว้นแต่ว่าอำนาจรัฐที่ฝ่าฝืนนั้นเป็นอำนาจที่สวนทางกับความคาดหวังของประชาชนเมื่อตัดสินใจเลือกรัฐบาล เมื่อประชาชนเลือกคณะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นเป็นผู้ปกครอง ประชาชนย่อมคาดหวังว่าตนเองจะได้รับการปกป้องผลประโยชน์จากคนเหล่านี้
เครดิตภาพ : https://www.infoquest.co.th/2022/200225
แต่เมื่อนอกจากรัฐบาลไม่ทำหน้าที่ ยังหันมาทำร้ายราษฎร ประชาชนย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาล ซึ่งหมายความว่าประชาชนได้ยกเลิกพันธะสัญญาที่มีไว้ต่อกัน กลายเป็นภาวะที่ปราศจากสังคมการเมืองนั่นเอง
หากคนเราแต่ละคนต่างคนต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวสัมพันธ์กัน ทุกคนอาจจะสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างไป เช่นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผลประโยชน์เหล่านี้จะได้รับการคุ้มครอง หากร่วมกันจัดตั้งสังคมการเมือง คนทุกคนที่มาร่วมกันสร้างสังคมการเมืองต่างเข้ามาเพราะเห็นว่าตนเองได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ ไม่มีใครมาเพราะเห็นว่าการมาของตนจะช่วยให้คนอื่นได้รับผลประโยชน์แท้จริง ทุกคนล้วนเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น ทฤษฎีการเมืองแบบนี้สะท้อนแนวคิดที่เชื่อว่า คนทุกคนต่างรักตัวเอง
จริงอยู่ที่ว่า เราอาจจะมีคนและสิ่งที่เรารักมากมาย หากมองลึกลงไป อะไรก็ตามที่เรารัก ไม่ว่าจะคนสัตว์สิ่งของ สิ่งนั้นที่เรารักล้วนเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับเรา เราจะไม่รักสิ่งที่ไม่รู้สึกว่าเกี่ยวกับเรา เรารักพ่อแม่ เพราะนั่นเป็นพ่อแม่เรา เราไม่ได้รักพ่อแม่ของคนอื่น เรารักหมา เพราะนั่นหมาของเรา ถ้าเป็นหมาของคนอื่นเราก็ไม่รัก เรารักวัดรักโรงเรียน รักสถาบันรักชาติเพราะวัด โรงเรียน สถาบัน และชาติเป็นของเรา เป็นต้น
สรุปได้คือ ความรักตัวเองคือศูนย์กลางและแรงดึงดูดให้คนเราร่วมกันสร้างสังคมการเมือง เมื่อมารวมกันอยู่เป็นรัฐ เป็นประเทศ เราอาจจะมีความรู้สึกผูกพันสิ่งเหล่านี้ แต่ความผูกพันที่ว่านั้นก็มีพื้นฐานมาจากความรักตัวเองอยู่ดี
วิรุฬหก
บันทึก
4
5
4
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย