14 ต.ค. 2022 เวลา 12:58 • นิยาย เรื่องสั้น
เยน วอน บาท
ทำหรือไม่ทำ ก็ไม่แตกต่าง เหรอ!?!?!?
สถานการณ์ “ค่าเงิน” เอเชียตอนนี้ สู้หรือไม่สู้ก็แทบไม่ผิดแผก
เดือน ก.ย. เพียงเดือนเดียว รัฐบาลทั่วทั้งเอเชีย ทุ่มแลกหมัด “สู้ค่าเงิน” ดุเดือด --- วอดวายไปแล้ว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (เอาญี่ปุ่นแค่เจ้าเดียว ก็ฟาดไปแล้ว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เหลือรวมกันอีก 3 หมื่นล้านดอลลาร์)
“เฟด” แบงก์ชาติอเมริกา ขึ้นดอกเบี้ย เร่าร้อน และ ระรัว --- ยากจะต้านปะทะ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF เพิ่งออกมาแนะ ให้บรรดาแบงก์ชาติเอเชีย ต้อง tightening รัดนโยบายการเงินให้ “ตึง” แน่น (ว่าง่ายๆ คือ ให้ “ขึ้นดอกเบี้ย”) เพื่อขืนมิให้เงินอ่อนยวบไปกว่านี้ มิฉะนั้น จะยิ่งนำเข้าสินค้าแพงขึ้น เงินจะเฟ้อขึ้นนั่นเอง
ทำแล้วไม่ใช่ไม่ทำ แต่ผลลัพธ์ ก็อย่างที่เห็นคาตา
🔴 { เงินเยน } ของญี่ปุ่น สดๆ ร้อนๆ ล่าสุดเพิ่งทำลายสถิติ “อ่อนสุด” รอบ 32 ปี --- แตกที่ 147.7 เยน/ดอลลาร์ (ส่วนขณะที่พิมพ์อยู่นี้ 147.4)
🔴 { เงินวอน } ของเกาหลีใต้ ขณะนี้อยู่ที่ 1,427 วอน/ดอลลาร์ --- ไล่เลี่ยระดับ “อ่อนสุด” รอบ 13 ปี (ที่ 1,445)
🔴 { เงินบาท } ของไทยแลนด์แดนสยาม วันนี้ ราว 38 บาท/ดอลลาร์ --- ใกล้เคียงสถิติ “อ่อนสุด” รอบ 16 ปี (ที่ 38.5)
ที่ลุย “สู้ค่าเงิน” ตุ้บตั้บก็มี
ที่ “ขึ้นดอกเบี้ย” ผัวะผะก็มี
ที่เต้นอยู่วงนอก ไม่แลกสู้ และขึ้นดอกเบี้ยแบบแย็บๆ ก็มี
ผลลัพธ์กลับกลายเป็นไม่ได้หนีจากกันเลย
หมายเหตุ
⚔ กระทรวงการคลังญี่ปุ่น โถมสู้ค่าเงิน เมื่อปลายเดือน ก.ย. แต่แบงก์ชาติญี่ปุ่น “คง” ดอกเบี้ย ณ -0.1% ดังเดิม --- คงมา 6 ปีแล้ว)
⚔ แบงก์ชาติเกาหลีใต้ “ขึ้น” ดอกเบี้ย รวมกันสะสม 2.5% นับตั้งแต่ ส.ค. ปีที่แล้ว ทำให้วันนี้ อยู่ที่ 3.0% แต่กระทรวงการคลังมิได้เข้าสู้ค่าเงิน
⚔ แบงก์ชาติไทย เริ่ม “ขึ้น” ดอกเบี้ยตั้งแต่ ส.ค. ปีนี้ ขึ้นรวมกันไปแล้ว 0.5% ทำให้ล่าสุดอยู่ที่ 1.0% และไม่มีการสู้ค่าเงิน
อีกหมายเหตุ
ไม่ได้มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายใดๆ ทั้งสั้น เพียงเทียบเคียงความแตกต่างให้เห็นภาพ
โฆษณา