9 มี.ค. 2023 เวลา 08:00 • สุขภาพ

“ป้ายล้างมือ” สัญลักษณ์สากล บอกอะไรเราบ้าง?

Wash your hands, ล้างมือให้สะอาด, lávese las manos, lave les mains และอีก ฯลฯ ภาษา ที่เราสังเกตได้ในห้องน้ำตามสถานที่ท่องเที่ยว โดยที่ความหมายของทั้งหมดคือ “เรื่องเดียวกัน” นั้นคือ “โปรดล้างมือของคุณให้สะอาดก่อนออกจากห้องน้ำ”
นอกจากสัญลักษณ์เพศ หญิง-ชาย, ผู้พิการ, ทางข้ามถนน, ลิฟต์ ถ้าจะหาสัญลักษณ์ที่มีความเป็นสากล มีการสื่อความหมาย ที่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันสำหรับคนทั่วโลก น่าจะมี “ป้ายล้างมือ” รวมอยู่ในนั้น เพราะป้ายนี้ปรากฏอยู่ที่ใด สัญลักษณ์ภาพมือถูสบู่ สายน้ำ และอากัปกิริยาต่างๆ ก็จะเป็นที่เข้าใจได้
ครั้งหนึ่งการ “ล้างมือ” เคยเป็นเพียงการสร้างสุขลักษณะนิสัย ที่มักสื่อสารให้กับกลุ่มเด็กในโรงเรียน หากแต่เมื่อประชาคมโลกรู้จักกับ Covid-19 ตั้งแต่ปลายปี 62 เมื่อนั้นการล้างมือก็กลายเป็นเรื่องซีเรียสขึ้นมากว่าเดิม โดยเฉพาะในวิถีการดำเนินชีวิตยุค New Normal ที่การล้างมือคือความเคร่งครัด เพราะและแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องล้างมือบ่อยครั้ง ทั้งก่อนและหลังสัมผัสสิ่งของในที่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ
ล้างมือคือวิถีที่มีความสำคัญมายาวนาน และในวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันล้างมือโลก” (Global Handwashing Day) วันสำคัญที่ว่านี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2008 ซึ่งเป็นการเลือกโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ พร้อมกับเลือกให้ปีดังกล่าวเป็นปีสากลแห่งการรักษาอนามัยขณะที่เนื้อหาของวันดังกล่าวคือคือการรณรงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยสบู่เผยแพร่เกี่ยวกับสุขอนามัยมือที่ดีสู่ เพื่อสุขภาพที่ดีให้เกิดขึ้นทั่วโลก
“ป้ายสัญลักษณ์ล้างมือ” เป็นหนึ่งในตัวแทนการสื่อสารที่ปรากฏอยู่ทั่วโลก และไม่ว่าคุณจะเดินทางไปที่ไหน ประเทศใด คุณก็จะเห็นกับป้ายสัญลักษณ์นี้ไม่มากก็น้อย ต่างภาษา ต่างการออกแบบ แต่ที่ป้ายเหล่านั้นมักจะประกอบด้วย
- ข้อความล้างมือในภาษาต่างๆ เช่น ล้างมือให้สะอาด, Wash your hands, lávese las manos (Spanish)
- ข้อความจากผู้ผลิตโปสเตอร์
- ขั้นตอนการล้างมือในกรอบ ซึ่งจำนวนกรอบการเล่าเรื่อง ขึ้นอยู่กับการออกแบบของโปสเตอร์นั้นๆ
อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุมี 7 ขั้นตอนสำคัญได้แก่
1. ฝ่ามือถูฝ่ามือ ก่อนนำฝ่ามือทั้งสองข้างประกบกันและถูให้ทั่ว จนรู้สึกสะอาด
2. ฝ่ามือถูหลังมือ ปาดฟองสบู่มาที่หลังมือ แล้วล้างมือต่อโดยการใช้ฝ่ามือถูหลังมือและซอกนิ้วให้สะอาด จากนั้นสลับข้าง วิธีนี้จะทำให้ฆ่าเชื้อโรคบริเวณหลังมือที่เรามักลืมกันไป
3. ประกบฝ่ามือถูซอกนิ้ว พลิกมือกลับมาประกบกัน ก่อนจะล้างมือให้สะอาดด้วยการถูซอกนิ้วด้วยสบู่ให้สะอาดหมดจด
4. ฝ่ามือขัดหลังนิ้ว กำกำปั้นข้างหนึ่งขึ้นล้างมือต่อ โดยใช้ฝ่ามืออีกข้างหนึ่งขัดบริเวณหลังนิ้ว สลับข้างทำแบบเดียวกันจนรู้สึกว่ามือสะอาด
5. ถูนิ้วหัวแม่โป้ง กางนิ้วหัวแม่โป้งก่อนใช้ฝ่ามืออีกข้างกำรอบแล้วหมุนวนด้วยฟองสบู่เป็นวงกลม ทำให้สะอาดทั้งสองด้าน
6. ขัดฝ่ามือด้วยปลายนิ้ว แบมือข้างหนึ่ง แล้วใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างขัดฟองสบู่ตามแนวขวางจนทั่ว แล้วสลับข้างทำวิธีเดียวกัน
7. ถูรอบข้อมือ กำมือรอบข้อมือข้างหนึ่ง แล้วถูวนไปรอบๆ จากนั้นเปลี่ยนข้าง ทำเช่นเดียวกัน วิธีนี้จะช่วยให้ข้อมือสะอาด
สำหรับระยะเวลาทำความสะอาด ควรใช้เวลาล้างมือทั้ง 7 ขั้นตอนรวมกันไม่น้อยกว่า 20 วินาที (เพลง Happy Birthday) โดยล้างให้ครบ 2 รอบ นอกจากนี้การทำให้มือแห้ง ควรใช้กระดาษเช็ดมือแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดมือร่วมกันหลายคน และหลังเช็ดมือแล้ว ให้ปิดก๊อกน้ำโดยสัมผัสผ่านกระดาษเช็ดมือ ไม่ควรใช้มือสัมผัสที่ก๊อกโดยตรง
ยังไม่มีข้อมูลใดระบุว่า “ป้ายล้างมือ” ชิ้นแรกเกิดขึ้นเมื่อใด หากแต่การสื่อสารในวิธีนี้ยังทรงพลัง และยังถือว่าใช้ได้ดีตามห้องน้ำสาธารณะ ในประเทศต่างๆ ทุกมุมโลก นั่นเพราะป้ายเล็กๆนี้ คอยย้ำเตือนให้ผู้คนไม่ลืมที่จะทำสิ่งสำคัญก่อนออกจากห้องน้ำ โดยมีวันที่ 15 ตุลาคม ของทุกปี ช่วยบอกกับทุกคนอีกครั้ง ให้ ใส่ใจกับการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
โฆษณา