14 ต.ค. 2022 เวลา 15:48 • สุขภาพ
วิเคราะห์เจาะลึกแบบประกันสุขภาพ
“ประกันสุขภาพ” เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่สำคัญที่ทุกคนควรมีติดตัวไว้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า อัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนไทยนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ไม่น้อยหน้าอัตราเงินเฟ้อ
ตัวเลือกที่ประหยัดกว่านั้นคือใช้บริการที่โรงพยาบาลรัฐแทน แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่า ถ้าต้องการบริการที่ดีและความสะดวกสบายในการเข้ารับการรักษา การใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
ดังนั้นถ้าอยากใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน การวางแผนค่าใช้จ่ายไว้แต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ และเราสามารถใช้ “ประกันสุขภาพ” เป็นเครื่องมือช่วยวางแผนการเงินได้
แต่ประกันสุขภาพที่มีอยู่ในท้องตลาดเองก็มีอยู่หลายประเภท ตามความต้องการของลูกค้า และความรุนแรงของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
ทีนี้มาทำความรู้จักประกันสุขภาพแต่ละประเภทกันก่อน
ประกันสุขภาพทั่วไป
เป็นรูปแบบประกันสุขภาพที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี คือเน้นความคุ้มครองในกรณีที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายที่คุ้มครอง ก็จะครอบคลุมตั้งแต่
ค่าห้อง/ค่าอาหาร
ค่าบริการพยาบาล
ค่าแพทย์ตรวจประจำวัน
ค่าผ่าตัด
ค่าอุปกรณ์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ
ค่าตรวจทางรังษีวิทยา
ประกันรูปแบบนี้ ยังให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลกรณีที่เป็น day case บางรายการได้ แม้ไม่ได้ค้างคืนที่โรงพยาบาล เช่น การสลายนิ่ว การฉีดสีตรวจหัวใจ การผ่าตัดอวัยวะบางประเภท ซึ่งการรักษาแบบ day case ที่สามารถเคลมได้สามารถตรวจสอบได้จากบริษัทประกันผู้ให้บริการครับ
ส่วนเบี้ยประกันก็มีหลายระดับ ขึ้นกับวงเงินความคุ้มครอง ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ ก็จะมีกำหนดเพดานของวงเงินที่สามารถเคลมได้ไว้อยู่
ตัวอย่างเช่น
เบี้ยประกันสุขภาพ 10,000 บาท  ให้ความคุ้มครอง
ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการพยาบาล 3,000 บาท/วัน
ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล 30,000 บาท
ถ้ามีค่ารักษาพยาบาล 15,000 บาท และพักค้างคืนที่โรงพยาบาล 3 คืน อัตราค่าห้องพัก 4,000 บาท/วัน ด้วยวงเงินความคุ้มครองตามที่ระบุ สามารถเคลมประกันส่วนของค่ารักษาได้เต็มจำนวนเพราะไม่เกิน 20,000 บาท แต่สำหรับค่าห้อง ผู้เอาประกันต้องเสียส่วนต่างเพิ่มอีก (4,000-3,000) x3 = 3,000 บาท เนื่องจากวงเงินค่าห้องไม่เพียงพอ
ประกันสุขภาพแบบมี OPD
ประกันลักษณะนี้ ความคุ้มครองมาตรฐานจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายกรณีที่เป็นผู้ป่วยในเหมือนประกันสุขภาพทั่วไปเลย แต่จะมีความคุ้มครองเสริมกรณีที่เป็น “ผู้ป่วยนอก (OPD)” เพิ่มเข้ามาด้วย คือไม่ต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาลก็สามารถใช้สิทธิเคลมประกันได้ และบางแบบประกันยังครอบคลุมการล้างไต การทำเคมีบำบัด รังสีบำบัดด้วย
แน่นอนว่าเบี้ยประกันที่สามารถเคลมแบบ OPD ได้ก็จะสูงขึ้นกว่าปกติ
ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย
เป็นประกันสุขภาพกรณี IPD ที่ให้วงเงินความคุ้มครองต่างจากประกันสุขภาพทั่วไป ตรงที่กำหนดวงเงินต่อปีมาให้เลยก้อนนึง สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลต่างๆรวมกันแล้วเท่าไหร่ก็ได้ในปีนั้น แต่ต้องไม่เกินวงเงินก้อนนี้ ยกเว้นค่าห้อง ค่ายา และค่าแพทย์ตรวจประจำวัน ที่มีกำหนดเพดานสูงสุดเอาไว้แยกต่างหาก
สำหรับคนที่กำลังมองหาประกันสุขภาพเพื่อเป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงทางการเงิน ควรทำความเข้าใจประกันแต่ละรูปแบบก่อนตัดสินใจทำประกัน เพื่อให้ประกันนั้นตรงกับแผนการเงินของตัวเองให้มากที่สุดครับ
โฆษณา