14 ต.ค. 2022 เวลา 16:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
5 ปัจจัยที่ต้องรู้ก่อนเลือกลงทุนหุ้นด้วยตัวเองหรือลงทุนผ่านกองทุนรวม
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น มักมีคำถามว่า ระหว่าง “ลงทุนหุ้นด้วยตัวเอง” กับ “ลงทุนผ่านกองทุนรวม” ควรเลือกแบบไหนดี
ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ เราลองมาดูเกณฑ์ในการพิจารณากันซักนิดว่าการลงทุนในหุ้นทั้ง 2 แบบแตกต่างกันยังไงบ้างครับ
1.การคัดเลือกหุ้น
การลงทุนหุ้นด้วยตัวเอง นักลงทุนมีอิสระในการคัดเลือกหุ้นได้เต็มที่ ตามความรู้ความสามารถและเป้าหมายในการลงทุน,  แต่การลงทุนในกองทุนรวม จะไม่สามารถเลือกหุ้นที่จะลงทุนเองได้โดยตรง ที่ทำได้คือการเลือก “นโยบายการลงทุน” ของกองทุนรวมที่สนใจและตรงกับเป้าหมายการลงทุน ที่เหลือคือปล่อยให้ทีมผู้จัดการกองทุนเป็นผู้คัดเลือกหุ้นที่ตรงกับนโยบายการลงทุนครับ
ซึ่งบางครั้ง (หรือหลายๆครั้ง) หุ้นในกองทุน ก็ไม่ใช่หุ้นที่นักลงทุนต้องการลงทุนซักเท่าไหร่นะครับ (เจอแบบนี้ก็ต้องทำใจนิดนึง)
2.การกระจายพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation)
Asset Allocation เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในทุกสภาวะตลาด โดยกระจายความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นหลายๆกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้นสำหรับคนที่ต้องการลงทุนด้วยตัวเอง ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจลักษณะของธุรกิจในแต่อุตสาหกรรมให้ดีก่อนลงทุน ต้องคัดเลือกหุ้นและกระจายการลงทุนด้วยตัวเอง
สำหรับการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยปกติแล้วจะมีการกระจายการลงทุนในหุ้นต่างๆอยู่แล้ว แต่อย่างที่บอกไปในข้อ 1. ว่าเราไม่สามารถเลือกหุ้นเองได้นั่นเอง
หรือถ้าต้องการลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม แบบนี้ก็สามารถทำได้โดยกระจายพอร์ตการลงทุนไปลงทุนในกองทุนรวมหลายๆกองแทนเช่น กองทุนรวม Health Care, กองทุนรวมหุ้น Technology เป็นต้น
3.เงินปันผล
นักลงทุนหลายราย ตัดสินใจลงทุนในหุ้นเพราะต้องการสร้าง “กระแสเงินสด” จากเงินปันผล ซึ่งการลงทุนในหุ้นเป็นรายตัวด้วยตัวเอง ถึงแม้ว่าจะเจอภาวะหุ้นตก แต่ถ้าธุรกิจยังมีผลประกอบการที่ดี นักลงทุนก็ยังได้รับเงินปันผลจากธุรกิจนั้นอยู่
ในทางกลับกัน การลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ในภาวะหุ้นตก มีโอกาสที่จะ “งดจ่าย” เงินปันผลออกมา  เนื่องจากผลการดำเนินงานของกองทุนอาจ “ขาดทุน” ทำให้ไม่มีเงินสดปันผลออกมาจ่ายนักลงทุนนั่นเอง
4.ค่าใช้จ่ายในการลงทุน
สำหรับการลงทุนในหุ้นด้วยตัวเอง การซื้อ-ขายหุ้นผ่าน Streaming , Broker หลายรายคิดค่าธรรมเนียมค่อนข้างต่ำหรือบางรายก็ไม่คิดค่าธรรมเนียมเลย แต่มีเงื่อนไขต้องผูกบัญชีธนาคารและสมัครบริการ e-statement ตามที่กำหนด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรเลย
ในขณะที่การลงทุนในกองทุนรวม จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆตามมามากขึ้นทั้งที่เรียกเก็บจากนักลงทุนและเรียกเก็บจากกองทุน เช่นค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขาย (เช่น 1.5%), ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (ส่วนมากอยู่ราวๆ 1-3% )
ในส่วนของค่าบริหารจัดการ ถึงแม้ว่านักลงทุนจะขาดทุนจากกองทุนรวม แต่ก็ยังคงต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ ยิ่งค่าใช้จ่ายสูง ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับก็น้อยลงด้วย
กองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ากองทุนทั่วไป มักเป็นกองทุนรวมดัชนีซึ่งเป็น Passive Fund อย่างกองทุนรวมดัชนีที่อ้างอิง SET Index, SET50 Index เป็นต้น ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนมากนัก Warren Buffet เองก็แนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนประเภทนี้ เพราะค่าใช้จ่ายต่ำมาก แต่ยังให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาด
5.การลงทุนหุ้นต่างประเทศ
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายพอร์ตการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ การเลือกลงทุนด้วยตัวเอง จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เพื่อให้คุ้มค่ากับค่า Commission หรือค่าธรรมเนียมการซื้อขาย นอกจากนี้ยังต้องมีเวลาติดตามผลการดำเนินงานของธุรกิจที่จะลงทุน รวมถึงต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงจากอัตราการแลกเปลี่ยนของสกุลเงินด้วย
สำหรับการลงทุนผ่านกองทุนรวม ใช้จำนวนเงินในการลงทุนน้อยกว่า บางบลจ.ขั้นต่ำคือ 1 บาทเท่านั้น ก็สามารถลงทุนหุ้นต่างประเทศได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญในการคัดเลือกและวางแผนการลงทุนให้ รวมถึงบางกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินด้วยครับ
ทีนี้กลับมาที่คำถามว่า ในฐานะนักลงทุนจะลงทุนหุ้นเองหรือผ่านกองทุนรวมดีกว่ากัน?
มุมมองส่วนตัวจะขอตอบว่า เลือกลงทุนทั้ง 2 แบบ ตามระดับความเชี่ยวชาญในการประเมินศักยภาพทางธุรกิจ จำนวนเงินลงทุนและการพิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีของนักลงทุนครับ
สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการลงทุน แต่สนใจสร้างผลตอบแทนให้งอกเงย อาจเริ่มต้นจากการลงทุนในกองทุนรวม SSF, RMF อ้างอิงดัชนีก่อนก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากจะลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้เทียบเท่าตลาดอีกด้วย
สำหรับคนที่เริ่มศึกษาความรู้ด้านการลงทุนมาระดับนึง ต้องการลงทุนด้วยตัวเองแต่ยังไม่เชี่ยวชาญมากนัก อาจแบ่งเงินไปลงทุนหุ้นด้วยตัวเอง และลงทุนผ่านกองทุนรวม ตามระดับความเชี่ยวชาญของตัวเอง เช่น ในช่วงแรก แบ่งเงินลงทุนหุ้นเองก่อน 20% อีก 80% ที่เหลือลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยยอมเสียค่าธรรมเนียมให้กับบลจ. เป็นค่าบริหาร ระหว่างนี้ก็ฝึกฝนทักษะการลงทุน เพื่อทยอยปรับสัดส่วนมาลงทุนหุ้นด้วยตัวเองให้มากขึ้นครับ
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ถ้ามีความสามารถในการลงทุนระดับนึงแล้ว สามารถติดตามผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ลงทุนได้และมีเงินทุนมากพอ แนะนำว่าการลงทุนหุ้นเองก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้ามีเงินลงทุนจำกัดและยังต้องการกระจายพอร์ตการลงทุน การลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า เพราะใช้จำนวนเงินลงทุนน้อยกว่า และถ้าลงทุนหุ้นต่างประเทศในกองทุน SSF, RMF ยังได้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเลือกลงทุนหุ้นด้วยตัวเองหรือลงทุนผ่านกองทุนรวม ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การลงทุน ความสามารถและเป้าหมายทางการเงินของนักลงทุนแต่ละคนครับ เลือกแนวทางและวิธีการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองจึงจะเป็นวิธีการลงทุนที่ดีสุดนะครับ
โฆษณา