15 ต.ค. 2022 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก
🌐เมื่อวิกฤตขาดแคลนพลังงานทำให้เยอรมนีต้องละทิ้งจุดยืนของตนเอง
1
การขาดแคลนพลังงานในยุโรป เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศจุดยืนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย สาเหตุที่ทำให้พลังงานขาดแคลนมาจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการสำรองก๊าซธรรมชาติในยุโรปอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ รวมถึงพลังงานทางเลือกสามารถผลิตพลังงานได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างรัสเซีย ไม่ได้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากทางรัสเซียก็กำลังกักตุนสำรองก๊าซธรรมชาติสำหรับประเทศตนเองเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อหลายประเทศในยุโรปกระโจนเข้าสู่วงล้อมสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน พร้อมกับประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย จึงเป็นการกระตุ้นให้การขาดแคลนพลังงานที่มีอยู่เดิมยกระดับเป็น"วิกฤต"
ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศหนึ่งที่มีอาการน่าเป็นห่วง ในวิกฤตพลังงานครั้งนี้ เยอรมนีได้ขู่ว่าจะยกเลิกโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 กับรัสเซียหากรัสเซียบุกยูเครน ซึ่งเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะทำให้รัสเซียขาดรายได้อย่างมหาศาล
1
แต่สถานการณ์กับพลิกผัน เยอรมนี กลับกลายเป็นผู้รับผลกระทบในวิกฤตขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรง เนื่องจากการดำเนินนโยบายพลังงานในประเทศของตนเอง จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลเยอรมันยังไม่มีทางออกในขณะนี้
1
เดิมประเทศเยอรมนีมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสิ้น 17 โรง อดีตนายกรัฐมนตรี อัลเกลา แมร์เคิล ได้วางยุทธศาสตร์พลังงานไว้หลังเหตุการณ์วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะในปี 2554 โดยวางแผนปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในปี 2565 และเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานแสงอาทิตย์) ใช้เป็นพลังงานหลักของประเทศ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ
2
การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นความคาดหวังที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก็จะทำให้เกิดการสร้างงานสำหรับชาวเยอรมัน ซึ่งในขณะนั้นประเทศเยอรมนีเองก็ประสบปัญหาการกักเก็บกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งเก็บไว้ในเหมืองเกลือหินที่เดิมเคยเชื่อว่าน่าจะปลอดภัย แต่กลับพบน้ำซึมเข้าไปและปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงสู่น้ำใต้ดิน ชาวเยอรมันเห็นว่า การใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงสูง และมีของเสียกัมมันตภาพรังสีเป็นภาระแก่คนหลายสิบรุ่นในอนาคต
2
รัฐบาลเยอรมนีชุดปัจจุบันต้องเผชิญกับสถานการณ์เฉพาะหน้าจากปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง เช่นเดียวกับหลายชาติในยุโรป เนื่องจากสงครามในยูเครนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน หลัง Gazprom บริษัทพลังงานรัสเซีย ประกาศตัดการจ่ายก๊าซผ่านท่อส่ง Nord Stream 1 โดยอ้างว่าเพื่อการซ่อมบำรุง
1
เยอรมนี จึงต้องดิ้นรนเพื่อเพิ่มพลังงานหมุนเวียน และเร่งสร้างระบบสายส่งใหม่ พร้อมทั้งประกาศนำมาตรการประหยัดไฟฟ้าออกมาใช้
จากประเทศที่เคยมีความคิดก้าวหน้าถึงขั้นยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด แต่เพราะมาตรการระหว่างประเทศจึงส่งผลถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศตนเอง ทำให้เยอรมนีต้องกลับลำ เก็บโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเยอรมนี คือ Isar 2 และ Neckarwestheim โดยให้เปิดทำการตลอดฤดูหนาวปีนี้จนถึงปีหน้า
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Isar 2
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายฉุกเฉินเพื่อเปิดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน นายโรเบิร์ต ฮาแบค (Robert Habeck) รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "มันคือความเจ็บปวดที่จำเป็น"
ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่ารัสเซียพร้อมที่จะส่งก๊าซให้แก่ สหภาพยุโรป ผ่านทางท่อส่ง Nord stream 2 และขณะนี้อยู่ที่การตัดสินใจของ EU ว่าจะรับข้อเสนอของรัสเซียหรือไม่
รัฐบาลเยอรมนียืนยันว่าจะไม่รับข้อเสนอของรัสเซียที่จะส่งก๊าซให้แก่สหภาพยุโรป (EU) ผ่านทางท่อส่ง Nord Stream 2 อย่างไรก็ดีรัฐบาลเยอรมนีระบุว่าหากรัสเซียต้องการส่งก๊าซให้แก่ยุโรป ก็สามารถทำได้ด้วยการส่งผ่านท่อส่ง Nord Stream 1 เนื่องจากไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตร ส่วนกรณีรัสเซียบังคับใช้สกุลเงินรูเบิลในการชำระค่าก๊าซเยอรมนียังไม่ได้ตัดสินใจ
2
สำหรับประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจในสงครามพลังงานครั้งนี้💸
ข้อมูลบางส่วนมาจาก สำนักข่าวซินหัว และรอยเตอร์ส
โฆษณา