27 ต.ค. 2022 เวลา 11:00 • ครอบครัว & เด็ก
มีใครบนดาวอังคารนะ
“คำนิยม ดาวอังคาร
เด็กๆ มองเห็นได้ไกลแค่ไหน
คำตอบคือมองเห็นได้เท่าที่ตาเห็น
อธิบายเพิ่มเติมว่ามองเห็นได้เท่าที่ตาของ “ตัวเอง” มองเห็น แต่ที่เราอยากให้เด็กทำได้ด้วยคือมองเห็นได้จากมุมมองของ “คนอื่น” หรือแม้กระทั่งของ “สิ่งอื่น”
ยิ่งไปกว่านั้นคือมองเห็นสิ่งที่ดวงตามองไม่เห็น
 
นิทานประกอบภาพสำหรับเด็กคือเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาพื้นฐานเรื่องนี้
หนังสือมักเริ่มต้นด้วยวางตำแหน่งของตัวเอก (protagonist) ไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของหนังสือและมีขนาดเล็กพอสมควร
ด้วยวิธีนี้เท่ากับการกำหนดจุดอ้างอิงว่าเด็กของเราหรือลูกของเราจะเริ่มต้นที่ตรงไหน ส่วนที่เหลือของหน้ากระดาษคือโลกทั้งหมด (whole)
จากนั้นเด็กของเราจะเริ่มออกเดินทางเพื่อไปมีปฏิสัมพันธ์กับสรรพสิ่ง ทั้งที่เห็นด้วยตาเปล่าของ “ตนเอง”
และทั้งที่เห็นด้วยตาเปล่าของ “เขาเอง” คือตัวเขาเองที่กำลังมองดูรูปตัวเอกและโลกในหนังสือ
 
ยกตัวอย่างหนังสือเล่มนี้ตัวเอกคือนักบินอวกาศ เขาจะได้เห็นพื้นผิวดาวอังคาร ดอกไม้ และกล่องของขวัญ แต่เขาจะไม่เห็นอะไรนอกจากนี้
ในขณะที่เด็กของเราที่กำลัง “อ่าน” หนังสืออยู่จะมองเห็นสิ่งที่นักบินอวกาศมองไม่เห็น ดีกว่านี้คือตอนจบ
อ่านไปให้ถึงหน้าสุดท้ายเมื่อถึงจุดพลิกผันซ้อนพลิกผัน (anti-climax) ที่แสดงให้นักบินอวกาศรู้ตัวว่าเขาต้องมองไม่เห็นอะไรบางอย่างแน่ๆ
 
นำไปสู่เรื่องที่ดีกว่าตอนจบอีก
นั่นคือนำเด็กของเราไปสู่ความรู้ที่ว่าตัวเราเองต้องมองไม่เห็นอะไรบางอย่างแน่ๆ ซึ่งมิได้แปลว่าของสิ่งนั้นจะไม่มีอยู่จริง”
Cr.นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
โฆษณา