15 ต.ค. 2022 เวลา 14:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในวันหน้า
จากผลสำรวจจาก Bloomberg เปิดเผยว่าอันดับประเทศที่มีเงินบำนาญหลังเกษียณทั่วโลกดีที่สุด 3 อันดับแรกในปี 2022 ได้แก่ ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ค ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับรั้งท้าย และอยู่ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ อาเจนติน่าและอินเดีย (ที่มา : https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-11/these-are-the-world-s-best-and-worst-pensions-in-2022)
ถึงแม้ว่า Bloomberg จะไม่ได้บอกชัดเจนว่าระบบเงินบำนาญที่สำรวจในที่นี้ หมายถึงระบบสวัสดิการเฉพาะกลุ่มที่คนที่ทำงานราชการ กลุ่มคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือมีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร แต่เรื่องนี้กำลังบอกกับเราว่ากลุ่มคนในประเทศไทยที่ถูกสำรวจมีความเสี่ยงที่จะมีเงินใช้จ่ายไม่เพียงพอ อยู่ในภาวะวิกฤติหลังเกษียณ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง หรือแม้แต่อาจจะไม่สามารถเลิกทำงานได้เมื่ออายุมากแล้ว
ดังนั้นการวางแผนการเงินเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเกษียณอายุการทำงานเป็นเรื่องสำคัญและต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการทำงาน ไม่ว่าจะทำอาชีพใดก็ตาม
ทั้งนี้การวางแผนเกษียณ ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน เพียงแต่ต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนและอาศัยระยะเวลาในการเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อวันเกษียณมาถึง
สรุป 5 ขั้นตอนวางแผนเกษียณเบื้องต้น
เราสามารถวางแผนเกษียณได้ด้วยตัวเอง โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดอายุที่ต้องการเกษียณ
เช่น นาย A ต้องการเกษียนตอนอายุ 60 ปี ตอนนี้อายุ 30 ปี ดังนั้นนาย A จะมีเวลาทำงานเก็บเงินและเตรียมตัวเพื่อการเกษียณอีก 35 ปี
2. ประเมินช่วงเวลาหลังเกษียณ
นาย A ประเมินว่าหลังเกษียณจะใช้ชีวิตถึงอายุ 90 ปี แสดงว่าหลังเกษียณแล้ว นาย A ต้องมีเงินสำหรับใช้ชีวิตรวมทั้งหมด 30 ปี
3. ประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
ทำได้โดยประเมินค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมการใช้ชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับ lifestyle ของแต่ละคน เช่นค่ากิน ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อน ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ
สมมติว่า นาย A ประเมินแล้วคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ 50,000 บาทต่อเดือน หรือ 600,000 บาทต่อปีดังนั้นนาย A จะต้องมีเงินสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณรวมแล้วเท่ากับ 18 ล้านบาท (คิดตามจำนวนปีหลังเกษียณที่ 30 ปี)
ทั้งนี้เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น ยังไม่รวมผลจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นการประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของนาย A จะต้องรวมผลจากเงินเฟ้อไปด้วย (ประมาณ 3-5% ต่อปี) ซึ่งทำให้เบ็ดเสร็จแล้วนาย A อาจจะต้องเตรียมเงินเพื่อการเกษียณมากกว่า 18 ล้านบาท
4. ประเมินแหล่งเงินสำหรับการเกษียณ
จะต้องประเมินปัจจุบันมีแหล่งเงินสำหรับการเกษียณเป็นอย่างไรบ้าง เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม RMF ประกันบำนาญ บัญชีเงินฝาก หรือแหล่งเงินทุนต่างๆ จากนั้นประเมินว่าแหล่งเงินที่มีอยู่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อเกษียณแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่พอ ขาดเงินอีกเท่าไหร่ เพื่อเอาไปวางแผนหาเงินเพิ่มต่อ
5. วางแผนออมเงิน, ลงทุนและทำประกัน
จากตัวอย่างในข้อ 1. จะทราบว่านาย A ยังมีเวลาเตรียมความพร้อมเพื่อเก็บเงินเตรียมเกษียณอีก 35 ปี ดังนั้นในช่วงเวลานี้ นาย A ควรวางแผนนำเงินที่ได้จากการทำงานลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทำธุรกิจ ทำประกันบำนาญ ประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือเก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินพร้อมสำหรับการเกษียณตามที่วางแผนไว้
ในภาวะที่ค่าครองชีพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อัตราค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น ระบบการช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐที่อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นการวางแผนเกษียณเพื่อดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตตามที่ต้องการจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคงไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาวะแบบประโยคฮิตที่ว่า “น่าเสียดาย ตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด สุดสลดใช้เงินหมดแล้วแต่ยังไม่ตาย”
โฆษณา