15 ต.ค. 2022 เวลา 15:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนทำ Asset Allocation
Asset Allocation เป็นเทคนิคบริหารความเสี่ยงทางการลงทุน ด้วยการสร้าง Portfolio การลงทุนของเราขึ้นมา และกระจายเม็ดเงินที่มีอยู่ไปลงทุนตาม asset แต่ละประเภทที่มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนแตกต่างกัน
ซึ่งความเสี่ยงขาดทุนและโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน ก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของ asset แต่ละประเภทใน Portfolio ของนักลงทุนนั่นเอง
ทีนี้โดยทั่วไปอาจจะคุ้นเคยกับการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ซึ่งเป็น asset ที่มีความเสี่ยงสูงแต่เข้าถึงง่าย เอาง่ายๆเลยคือถ้าซื้อ SSF, RMF เพื่อลดหย่อนภาษี นั่นคือกำลังเลือกลงทุนในหุ้นแล้วครับ
แต่การลงทุนในหุ้นอย่างเดียวก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงมากทีเดียว ถึงแม้โอกาสในการสร้างผลตอบแทนจะสูงก็ตาม สำหรับคนที่ไม่สามารถรับผลจากการขาดทุนได้มาก การสร้างพอร์ตการลงทุนโดยใช้ Asset Allocation เข้ามาช่วยคือคำตอบ
ทีนี้ เราลองมาดูกันซักนิด ว่าก่อนที่คิดจะทำ Asset Allocation จำเป็นจะต้องรู้อะไรบ้าง
ความเข้าใจใน asset class แต่ละประเภท
นอกจากหุ้นแล้ว ยังมี asset อื่นที่สามารถลงทุนได้เช่น ตราสารหนี้, พันธบัตร, หุ้นกู้, commodity ต่างๆ, ทองคำ, ที่ดิน, อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่ “เงินสด” ก็จัดเป็นส่วนประกอบของการสร้าง portfolio ทางการลงทุน
สิ่งแรกที่นักลงทุนต้องทำคือ การทำความเข้าใจว่า asset แต่ละตัวมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร , โอกาสสร้างผลตอบแทนมาก-น้อยเท่าไหร่, สภาพคล่องของ asset แต่ละตัวเป็นอย่างไร
ถ้าพิจารณาเป็นราย asset อย่างเช่นหุ้น ก็ควรจะต้องทำความเข้าใจเชิงลึกให้มากขึ้น เช่น จะลงทุนในหุ้นรายตัวเอง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นตามบลจ. ต่างๆ, จะลงทุนหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศ, กิจการที่ไปลงทุนซื้อหุ้นมีแนวโน้มธุรกิจเป็นอย่างไร, รูปแบบการลงทุนของกองทุนหุ้นที่เราสนใจเป็นอย่างไร, มีเงินปันผลหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้คือการบ้านที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจให้ดีระดับนึงก่อนที่คิดจะลงทุนใน asset class ใดๆก็ตามครับ
ความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุน
ความเสี่ยงทางการลงทุนที่แต่ละคนรับได้นั้นแตกต่างกัน โดยหลักๆจะขึ้นอยู่กับภาระทางเงินของทั้งตัวเอง/ครอบครัว และระดับผลตอบแทนทางการลงทุนที่คาดหวัง
ยิ่งรับความเสี่ยงได้มากและคาดหวังผลตอบแทนสูง ดังนั้นในการจัด Portfolio ของนักลงทุนก็สามารถเพิ่มสัดส่วน asset ประเภทหุ้นเข้าไปได้มากขึ้น
อีกเรื่องที่จัดว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือ “สภาพคล่อง”, ถ้าต้องการให้ Portfolio มีสภาพคล่องทางการเงินสูงระดับนึง การมี asset ประเภทอสังหาอยู่ใน port เยอะอาจจะไม่เหมาะ เพราะใช้เวลานานกว่าจะขายและได้เงินสดมา ดังนั้นควรเพิ่มสัดส่วนของเงินสดหรือตราสารหนี้ ซึ่งมีสภาพคล่องสูงแทนจะดีกว่า
Portfoilo การลงทุนต้องมีการทบทวนอยู่เสมอ
การทำ asset allocation ไม่ใช่ว่าแบ่งเงินลงทุนกระจายตาม asset ต่างๆแล้วถือว่าจบกัน นักลงทุนต้องทำการบ้านโดยหมั่นทบทวนคุณภาพของ asset ใน portfolio อยู่เสมอ (เช่น ทุก 3 เดือน, ทุก 6 เดือน) เพื่อประเมินว่าจำเป็นต้องปรับสัดส่วน asset ต่างๆใน port หรือไม่
ตัวอย่างเช่น เดิมมีหุ้นใน port อยู่ 30% (คิดจากจำนวนเงิน) , 1 ปีผ่านไป หุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี ทำให้สัดส่วนหุ้นใน port ปรับเพิ่มเป็น 40%(คิดจากจำนวนเงิน) นักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยง อาจพิจารณาปรับ port โดยการขายหุ้นออกบางส่วน และนำกำไรจากการขายหุ้นไปลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นแทน
 
ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์
เสริมอีกนิดสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนใน asset ต่างประเทศ โดยส่วนตัว คิดว่าควรมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์พื้นฐานและติดตามข่าวสารการเมืองเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มเติม
ถามว่าเพราะอะไร? ก็เพราะว่านี่คือยุคที่แต่ละประเทศมีความเชื่อมโยงถึงกันทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งด้านระบบ supply chain วัตถุดิบและสินค้า,ระบบการเงิน, การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงค่าเงิน USD อาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกของประเทศในแถบเอเชีย, ประชากรวัยแรงงานที่ลดน้อยลงในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเติบโตได้ดีขึ้น จากการลงทุนสร้างฐานการผลิตใหม่เนื่องจากมีวัยแรงงานจำนวนมาก หรือการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีในอเมริกา สามารถสร้างรายได้จากผู้ใช้งาน internet ได้จากทุกที่ในโลก เป็นต้น
จากตัวอย่างข้างบน จึงมีความจำเป็นที่นักลงทุนที่กระจายการลงทุนไปยัง asset ต่างประเทศ ควรมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นและติดตามข่าวสารระหว่างประเทศอยู่เสมอ เพื่อสามารถประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อ port การลงทุน และแนวทาง action ของ port ได้อย่างเหมาะสมครับ
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณลงทุนในหุ้นจีน เมื่อเงินหยวนแข็งค่า อย่างน้อยๆ ก็ควรมีความเข้าใจว่าค่าเงินอ่อน-แข็งคืออะไร? ดูยังไง? ส่งผลต่อผลตอบแทนของเราอย่างไร? หรืออย่างใรช่วงที่อเมริกามีการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ก็อาจจะต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้มีโอกาสส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเราด้วยหรือไม่? เราจะ action อย่างไรกับ Port ลงทุนของเราต่อ? เป็นต้น
สุดท้ายนี้ การสร้าง Portfolio ทางการลงทุน ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ระดับนึง ในฐานะนักลงทุน ต้องหมั่นพัฒนาฝีมือในด้านนี้อยู่เสมอครับ
โฆษณา