16 ต.ค. 2022 เวลา 04:13 • อาหาร
มะตูมซาอุ เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ อาร์เจนตินา ปารากวัย และ บราซิล คนไทยเรียกชื่อว่ามะตูม เพราะมีกลิ่นคล้ายมะตูม หรือเรียกว่าสะเดา เพราะใบคล้ายสะเดา แต่ในทางพฤกษศาสตร์แล้ว มะตูมซาอุ ไม่ได้เป็นพืชวงศ์เดียวกับมะตูม หรือสะเดา แต่อย่างใด ที่
จริงแล้วมะตูมซาอุ เป็นพืชวงศ์เดียวกับมะม่วง (วงศ์ Anacardiaceae) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schinus terebinthifolius Raddi ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ใบอ่อนมีสีแดง ใบย่อยขอบหยัก ขอบเป็นหนามสั้นๆ กว้างยาวประมาณ
2.5x5 ซม. ดอกช่อ ยาวประมาณ 15 ซม. ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกย่อยขนาดเล็ก สีขาวนวล ออกดอกทั้งปี ผลชนิดมีเนื้อแบบ drupe ผลอ่อนสีเขียวและเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม และเปลือกแห้ง ติดเมล็ดคล้ายพริกไทย มีรสเผ็ดร้อน ชาวอเมริกาใต้ใช้ผลแทนพริกไทย
มะตูมซาอุ มีประโยชน์หรือไม่
ใบมะตูมซาอุ ไม่มีรายงานเรื่องสารอาหาร แต่จากลักษณะความกรอบ มันของใบ ทำให้การรับประทานใบมะตูมซาอุแบบดิบๆน่าจะมีกากเส้นใยอาหารประเภทไม่ละลายน้ำในปริมาณสูง ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วมีกากมากทำให้ขับถ่ายได้ดี การใช้ยาแบบพื้นบ้านของประเทศ
ทางอเมริกาใต้ ก็มีหลากหลาย เช่น ชาชงใบใช้รักษาอาการปวดข้อ และสูดดมรักษาหวัด ลดความดันโลหิต และ อาการซึมเศร้า ใบต้มน้ำรักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ ชาชงทำจากเปลือกต้น เป็นยาระบาย ยางเป็นยาระบาย และขับปัสสาวะ ทั้งต้น หรือ น้ำมันและชัน (oleoresin) ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อสำหรับทาแผลภายนอก รักษาแผล ห้ามเลือด แก้ปวดฟัน มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของส่วนต่างๆ
ของมะตูมซาอุหลายอย่าง เช่น สารสกัดใบลดอาการปวด และลดความดันโลหิต เมื่อทดลองในสุนัขและหนู น้ำมันหอมระเหยจากใบและ เปลือกต้น มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราบางชนิด เปลือกต้น สกัดด้วยแอลกอฮอล์สมานแผลในทางเดินอาหาร สารสกัดจากส่วนผลลดความดันโลหิตได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การกินมะตูมซาอุ แนะนำให้ใช้เป็นอาหารเท่านั้น เพราะไม่มีประสบการณ์การใช้เป็นยาในประเทศไทย และงานวิจัยที่กล่าวมาก็เป็นทดลองในสัตว์ ขนาดวิธีใช้ รวมถึงความเป็นพิษยังไม่ชัดเจน
ใบแกล้มลาบเป็ดอร่อยมาก
โฆษณา