17 ต.ค. 2022 เวลา 02:39 • หนังสือ
วิธีสร้างพลังชีวิต
โดย นำชัย ชีววิวรรธน์
เคยแปลกใจไหมครับว่า ทำไมคนเราจำนวนถึงได้โมโหโกรธา หรือโกรธแค้นจำฝังใจกันได้เนิ่นนานอย่างเหลือเชื่อ
อันที่จริงต้องบอกว่าสำหรับหลายคนหลายคู่นั้น โกรธกันจนไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งคนเหล่านี้เคยญาติดีกันมาก่อน หรือเคยเป็นคู่ชีวิตกันมาก่อนด้วยซ้ำไป
ทำไมเวลาคนชมเชยเราจะจำไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่ถ้า ติเตียน ดุด่า ว่ากล่าว ทำไมเราจึงจำได้จำดีนัก
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
Photo by Jonathan Borba on Unsplash
นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องนี้แล้วก็พบว่า ปรากฏการณ์นี้มีสารเคมีมาเกี่ยวข้องด้วยสองชนิดคือ ในยามที่เราได้รับคำชมเชยร่างกายจะผลิตสารเคมีที่ชื่อ ออกซิโตซิน (oxytocin) ขึ้น
ฮอร์โมนชนิดนี้เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะทำให้เราสื่อสารถึงกันได้ มีความเชื่อถือกัน และร่วมมือกันได้ดียิ่งขึ้น
โดยมันจะไปกระตุ้นเครือข่ายการทำงานของสมองส่วน พรีฟรอนทัล คอร์เท็กซ์ (prefrontal cortex) ซึ่งเป็นสมองส่วนหน้าสุดที่ทำงานเกี่ยวกับเหตุผลและความคิดต่าง
และในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายสมองส่วนนี้ก็เจริญมากที่สุดในคนเรานี่เอง
แต่น่าเสียดายว่าฮอร์โมนออกซิโตซินนี่อายุสั้นครับ มันจะสลายไปเร็วมาก
ตรงกันข้ามกับออกซิโตซิน ฮอร์โมนชื่อ คอร์ติซอล (cortisol) ที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อโดนวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ หรือดูถูก กลับ "อยู่ตัว" กว่าเป็นอย่างมาก
ไม่ยอมหายไปง่ายๆ
เวลาที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้มากๆ จะมีผลข้างเคียงไม่ดีหลายอย่าง เช่น มันจะไปรบกวนหรือแม้แต่ปิดการทำงานของศูนย์กลางความคิด และไปกระตุ้นอารมณ์เกลียดชัด และกลไกการป้องกันตัว
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทันทีที่เราโดนตำหนิหรือดูถูก จะเกิดอาการ "เลือดขึ้นหน้า" จนใบหน้าร้อนผ่าว และความยับยั้งชั่งใจลดลงอย่างฮวบฮาบ อยากจะลุยกับคนที่ทำเช่นนั้นอย่างที่สุด
โครงสร้างฮอร์โมนคอติซอล https://en.wikipedia.org/wiki/Cortisol
คอร์ติซอลยังไปรบกวนการตัดสินใจ ทำให้เรามองโลกแง่ลบมากกว่าเดิม หลายคนมารู้สึกตัวได้อีกทีก็ภายหลัง เกิดเรื่องรุนแรงขึ้นแล้ว
จนอดคิดไม่ได้ว่าอันที่จริงแล้วเรื่องมันก็เล็กน้อยนิดเดียว
แต่ที่แย่ไปกว่านั้นอีกก็คือ คอร์ติซอลนี้อึดมากครับ อยู่ในร่างกายได้นานถึง 26 ชั่วโมง
ทำไมร่างกายต้องการฮอร์โมนที่รุนแรงอย่างคอร์ติซอลนี้ด้วย?
สมัยก่อนตอนที่ยังแวดล้อมด้วยสัตว์ร้าย ร่างกายต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อเรื่องไม่คาดฝันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เราไม่อาจรอให้ส่วนประมวลผลหรือระบบเหตุผลทำงานก่อน เพราะระบบคิดแบบนี้ใช้เวลามากกว่า จะทำให้แก้ปัญหาไม่ทัน
ร่างกายจึงใช้คอร์ติซอลปรับเข้าสู่โหมดสัญชาตญาณ ก็ทางเลือกในยุคนั้นมีแค่ หากพอสู้ได้ก็สู้ หากคิดว่าสู้ไม่ได้ก็ต้องหนีอย่างรวดเร็วนะครับ
สัญชาตญาณแบบนี้จึงเหมาะมาก
แต่สังคมปัจจุบันซับซ้อนกว่านั้นมากแล้ว ร่างกายจึงแสดงอาการล้าหลังให้เห็น วิธีการรับมือแบบหนึ่งก็คือ ต้องหาวิธีเสริมสร้างสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องให้สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีพอ ไม่ทำอะไรหุนหันพลันแล่นไป
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อ Creating WE Institute ที่เป็นบริษัทซอฟแวร์สำรวจความคิดเห็นแบบออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด ลองสำรวจดูก็พบว่าในบรรดาผู้จัดการที่เข้าร่วมการสำรวจนั้น พวกที่ถือว่าทำงานดีหรือทำงานเป็นคือ มีระดับพฤติกรรมเชิงบวก เช่น การคิดถึงคนอื่น ความซื่อสัตย์ ความใจกว้างรับฟังความคิดเห็น ฯลฯ เป็นหลัก
พฤติกรรมต่างๆ ที่ว่ามาล้วนแล้วสัมพันธ์กับฮอร์โมนออกซิโตซิน
ในทางตรงกันข้ามกับพวกที่ใจแคบไม่ค่อยเชื่อถือคนอื่น ไม่ค่อยฟังความเห็น มักฟังแค่พอเป็นพิธี หรือเอาแต่ใจคอยแต่จะโน้มน้าวใจคนอื่นให้ทำตามตลอดเวลานั้น ก็มักจะไดรับคะแนนการทำงานไม่ดี และพฤติกรรมเหล่านี้ก็เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลเช่นกัน
มีการทดลองสำคัญชุดหนึ่งที่แสดงอิทธิผลของอารมณ์บวกและลบต่อการทำงานของสมอง (Fredrickson BL. J Pers Soc Psychol. Nov. 2008; 95(5): 1045–1062)
กล่าวคือเมื่อนักวิจัยแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็นกลุ่ม แล้วให้พวกหนึ่งดูคลิปสั้นๆ ที่เป็นแบบเชิงบวก เช่น ดูแล้วสนุกสนาน มีความสุข มีความหวัง ฯลฯ
ส่วนอีกพวกหนึ่งให้ดูภาพที่ทำให้มีความรู้สึกขยะแขยง น่าละอาย น่ากลัว หรือทำให้โกรธ ฯลฯ เป็นต้น
โดยมีกลุ่มหนึ่งที่ดูภาพแบบกลางๆ ไม่กระตุ้นอารมณ์บวกหรือลบเป็นกลุ่มควบคุม
ผลก็คือเมื่อดูเสร็จแต่ละคนจะได้รับกระดาษที่เขียนตั้งต้นไว้ให้ว่า "ฉันอยากจะ..." แล้วให้แต่ละคนพยายามเขียนตอบลงในกระดาษนั้น
ผลชัดเจนว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมนั้น พวกที่มีอารมณ์บวกจะเขียนตอบได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ตรงกันข้ามกับพวกที่มีอารมณ์ลบอย่างชัดเจน
นักวิจัยสรุปว่าอารมณ์บวกหรือลบที่เกิดขึ้นไปรบกวนกระบวนการคิดในสมอง จนทำให้ความสามารถในการคิดและค้นหาตัวเลือกแปรปรวนไป
อีกการทดลองหนึ่งแบ่งนักศึกษาระดับปริญญาตรี 90 คนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งโดนบังคับให้หาเรื่องดีๆ มาบันทึกต่อกัน 3 วัน ส่วนอีกกลุ่มนั้นไม่ต้อง
พบว่าแม้แต่ 3 เดือนให้หลังกลุ่มที่เขียนเรื่องดีๆ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจโดยเฉลี่ยดีกว่าอย่างชัดเจน (น่าแปลกใจทีเดียว จากแค่ทำ 3 วันส่งผลไปได้ 3 เดือน !)
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบอีกด้วยว่าพวกที่นั่งสมาธิทุกวัน จะมีสุขภาพจิตดีกว่า มองโลกแง่บวกมากกว่า สอดคล้องกับความรู้เก่าๆ ที่สะสมมาในศาสนาต่างๆ เรื่องการพัฒนาศีลและสมาธิ ซึ่งจะไปมีผลต่อปัญญา
รู้กันอย่างนี้แล้ว ก็เหลือแค่รีบปฏิบัติ ... คิด ดู และทำ เรื่องดีๆ บวกๆ ให้เห็นผลจริงๆ จังๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเองนะครับ
บทความนี้ตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
ปกหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน, สอบถามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/matichonbook
โฆษณา