20 ต.ค. 2022 เวลา 23:38 • หนังสือ
คลื่นกบาลสนทนา
โดย นำชัย ชีววิวรรธน์
ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ของสมองก้าวหน้าไปมากในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะนักวิทยาศาสตร์มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ศึกษาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น เช่น แค่หมวกครอบที่มีขั้วไฟฟ้าสัมผัสกับกระโหลกศีรษะ ก็สามารถวัดการทำงานจำพาะบางอย่างของสมองส่วนต่างๆ ได้แล้ว โดยไม่ต้องเปิดกระโหลกเพื่อฝังขั้วไฟฟ้าหรือตัวรับสัญญาณแปะติดกับเนื้อสมองโดยตรง
กรณีหลังนี้ยุ่งยากและมีความเสี่ยงที่จะก่ออันตรายสูงกว่ามาก
Photo by That's Her Business on Unsplash
ตัวชี้วัดทางตรงและทางอ้อมสำหรับข้อเท็จจริงนี้ก็คือ มีตำราด้านนี้ออกมามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมชื่อวิชาที่ใช้ว่า ประสาทวิทยา (neurology) ซึ่งฟังดูคับแคบเหมือนว่าศึกษาเกี่ยวกับเซลล์ประสาท (neuron) เท่านั้น ก็กลายมาเป็น ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) ที่ศึกษาปัจจัยทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาท รวมทั้งโครงสร้างและการทำงานของเซลล์ประสาทเอง
อุปกรณ์การแพทย์อย่าง X-ray CT (Computed Tomography) Scan และ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ที่ใช้สร้างภาพสามมิติหรือภาพตัดขวางของสมองหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับการวินิจฉัยโรค
แม้ว่ามีราคาแพงมากแต่ก็พบเห็นได้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยแล้วมีสัดส่วนเทียบกับประชากรมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศด้วยซ้ำไป
จนให้สงสัยว่าคนไทยเสพติดการใช้เทคโนโลยีไฮเทคจนเกินจำเป็นหรือไม่
Photo by Alexander Ant on Unsplash
นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบหลักการและการประยุกต์ใช้เทคนิคทั้งสองอย่างนี้ต่างก็ได้ครับรางวัลโนเบลกันถ้วนหน้า (ปี ค.ศ. 1979 และ 2003 ตามลำดับ) ยังมีเทคนิคอื่นๆ อีกมาก
จึงไม่น่าแปลกใจว่าพอถึงวันนี้ งานวิจัยด้านนี้จึงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก
มีการตีพิมพ์ผลงานการวิจัยที่เรียกว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงถึงรากฐานอย่างที่ฝรั่งใช้ว่า breakthrough ออกมาแทบจะรายไตรมาส และคงกลายเป็นรายเดือน รายปักษ์ หรือรายสัปดาห์ กันในไม่ช้า
สำหรับบทความนี้ผมจะเล่าเกี่ยวกับงานวิจัย 2 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม 2014 เรื่องแรกเกี่ยวกับการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมอง ซึ่งช่วยทำให้จดจำได้ดีขึ้น
ส่วนอีกเรื่องฟังดูไซไฟมากยิ่งขึ้นไปอีกหน่อยคือ การใช้ความคิดของคนหนึ่งไปบังคับแขนของอีกคนหนึ่งที่อยู่ไกลออกผ่าน ผ่านการเชื่อมต่อระบบประสาทของทั้งสองคนเข้าด้วยกัน (ผ่านอินเทอร์เน็ต)
นี่อาจจะเป็นเทคโนโลยี "โทรจิต" ที่คนพูดถึงกันมานาน !
มาดูที่เรื่องแรกกันก่อนครับ
นักวิทยาศาสตร์รู้มาแน่ชัดสัก 30 ปีแล้วครับว่า หากปล่อยสนามแม่เหล็กหรือกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เข้าสู่สมองจะไปมีผลต่อความทรงจำด้วย
แม้ว่ากลไกจะยังไม่แน่ชัด และข้อจำกัดสำคัญคือสมองส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเรียนรู้และความจำที่ชื่อว่า ฮิปโปแคมปัส นั้น อยู่ลึกลงไปในก้อนเนื้อสมองพอสมควรทีเดียว จึงทดสอบได้ยาก
ในการทดลองที่ตีพิมพในวารสาร Science เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2014 นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ลองใช้สนามแม่เหล็กอ่อนๆ กระตุ้นสมองส่วนเปลือกนอกที่เรียกว่า Lateral Parietal Cortex (LPC) ซึ่งพบว่าทำงานควบคู่และสอดคล้องไปกับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสในกระบวนการเรียนรู้และจดจำ
ผลลัพธ์ที่ได้คือกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองที่มีสุขภาพดี มีอายุ 21-40 ปี รวม 16 คน ต่างก็สามารถทำแบบทดสอบความจำได้ดีขึ้นราว 30%
ข้อดีของการกระตุ้นที่ LPC คือ บริเวณดังกล่าวอยู่ตื้นกว่ามาก คือใกล้ชิดติดกับกระโหลกศีรษะมากกว่าจึงทดสอบได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบกลไกแน่ชัดอยู่ดีว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และที่สำคัญคือผลการกระตุ้นแบบนี้จะคงอยู่ได้นานเท่าใด
แต่ชวนให้คิดว่าหากไม่มีผลร้ายข้างเคียงชัดเจน เรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการสูญเสียความจำ ซึ่งก็คงต้องรอผลการทดลองต่อๆ ไป
อีกงานวิจัยหนึ่งซับซ้อนและน่าทึ่งมากยิ่งขึ้นไปอีก คู่หูนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันคือ ราเยช ราโอ (Rajesh Rao) กับแอนเดรีย สต็อกโค (Andrea Stocco) ทดสอบเบื้องต้นและพบว่าสามารถส่งต่อกระแสความคิดเพื่อบังคับบัญชาสมองของอีกคนหนึ่งผ่านอินเทอร์เน็ตได้
วิธีการคือราโอสวมหมวกที่มีขั้วไฟฟ้าติดอยู่ โดยมีสายต่อไปยังเครื่องอ่านคลื่นสมอง ซึ่งจะอ่านและส่งสัญญาณผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังอีกอุปกรณ์อีกเครื่องหนึ่ง ซึ่งอยู่ในอีกวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัย
โดยเครื่องหลังนี้ทำหน้ารับสัญญาณในรูป "รหัส" ที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ตมา และแปลงสัญญาณส่งต่อไปยังสมองของสต็อกโค ส่วนที่จำเพาะกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของมือ
เมื่อเริ่มการทดลอง ราโอจะจ้องจอคอมพิวเตอร์และพยายามเล่นเกมวิดีโอ "ด้วยความคิด" เพียงอย่างเดียว โดยคิดสมมติให้แขนขวาทำท่าราวกับเคลื่อนเคอร์เซอร์ (ตัวชี้บนจอ) ของคอมพิวเตอร์ไปมาแบบเดียวกับที่เราทำตอนเล่นยิงปืนบนจอ
แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวแขนขวาจริงๆ ของราโอแต่อย่างใดทั้งสิ้น มีแต่คลื่นสมองที่เกิดขึ้นเท่านั้นที่ถูกบันทึกและส่งผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังเครื่องรับ ซึ่งจะแปลงสัญญาณกลับเป็นคลื่นสมองและถ่ายทอดเข้าสู่สมองของสต็อกโคโดยตรง
ผลก็คือสต็อกโคที่ไม่เห็นจอคอมพิวเตอร์เลย แต่แขนของเขาสามารถเคลื่อนไปมาตามสัญญาณความคิด และเคาะแป้นยิงเป้าหมายได้ตามที่ราโอมองเห็นและคิดสั่งการมา !!!
สต็อกโคกล่าวถึงความรู้สึกขณะทดลองว่า "เป็นความรู้สึกที่ทั้งตื่นเต้นและพิลึกอยู่สักหน่อย ตอนที่รู้สึกได้ว่าสมองตัวเองแปลสัญญาณที่ได้รับมาจากสมองคนอื่นให้เป็นการกระทำ"
แต่นี่ยังเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว และนักวิจัยเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดการสื่อสารแบบสองทางได้ด้วย
ผลลัพธ์ที่ได้คงไม่ต่างอะไรไปจากการส่ง "โทรจิต" ถึงกัน...แบบที่เล่าขานกันมานานว่ามีผู้ทำได้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงนี่ ไม่ต่างอะไรจากเวทมนตร์จริงๆ ครับ !
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
หน้าปกหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน, สอบถามรายละเอียดดได้ที่ https://www.facebook.com/matichonbook
โฆษณา