18 ต.ค. 2022 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
ม้าลาย Polka Dot ลายจุดที่เป็นจุดเด่นหรือจุดด่าง?
ที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเคนย่า ขณะที่ช่างภาพกำลังถ่ายภาพสัตว์ต่างๆอยู่ จู่ๆเขาก็ไปสะดุดตาเข้ากับลูกม้าลายตัวหนึ่ง ลักษณะของมันนอกจากจะแตกต่างจากม้าลายตัวอื่นในฝูงแล้ว ยังดูเด่นแปลกตามากสำหรับเขา
ลูกม้าลายตัวนี้อายุได้ราวๆ 1 สัปดาห์ โดยสิ่งที่ทำให้มันดูเด่นกว่าตัวอื่นๆคือม้าลายปกติจะมีลายทางสลับดำขาว แต่ลูกม้าลายตัวนี้กลับมีลายจุดแทน บางตำแหน่งก็เป็นลายเส้นสีขาวเล็กๆ สีผิวพื้นฐานก็เป็นสีน้ำตาลแดง
ภาวะนี้ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “pseudomelanism” คือการกลายพันธุ์อย่างหนึ่งของยีนส์ในสัตว์ที่แสดงความผิดปกติออกมาทางผิวหนัง และปรับเปลี่ยนสีหรือลายให้ต่างไปจากเดิม โดยธรรมชาติแล้วเซลล์บนผิวหนังของเราชื่อ Melanocytes จะเป็นตัวผลิตเม็ดสี Melanin (เมลานิน) หลังจากนั้นเมลานินเองจะเป็นตัวบ่งบอกสีเข้าหรือ่อน ขึ้นอยู่กับว่ามีเมลานินชนิดสีไหนมากหรือน้อย
ในกรณีของลูกม้าลายตัวนี้ นักวิชาการเชื่อว่ามันมีเซลล์ Melanocytes กระจายทั่วผิวหนังเป็นปกติดี แต่หลังจากผลิตเมลานินออกมาแล้ว ตัวเมลานินน่าจะทำงานผิดปกติจนเป็นเหตุให้ลายทางบนผิวไม่เกิด และเกิดเป็นสีขาวจุดแทน
จากมุมมองของคนดูอย่างพวกเราก็อาจจะมองลูกม้าลายตัวนี้มีลายจุดที่แปลกตาและมีความโดดเด่นดี แต่ในทางธรรมชาติแล้ว นี่อาจจะการสร้างปัญหาให้มันในการใช้ชีวิต อย่างเช่น มีงานวิจัยว่าในป่านั้นมีแมลงอยู่มาก ลายทางบนตัวของม้าลายนั้นทำให้แมลงเหล่านี้สับสนและหาทางลงมาเกาะบนผิวได้ลำบาก การมีลายจุดแทนลายทางอาจจะทำให้ข้อได้เปรียบตรงนี้หายไป และเจ้าลูกม้าลายตัวนี้อาจจะกลายเป็นเหยื่อของแมลงที่มาคอยกัดได้ ซึ่งจะตามมาด้วยโรคต่างๆที่แมลงพกพามาด้วย
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ การที่ม้าลายอาศัยกันอยู่เป็นฝูงนั้นทำให้ทุกตัวดูเหมือนๆกัน แต่การมีลายจุดจะทำให้มันดูแตกต่าง เมื่อมีนักล่าอย่างเช่น สิงโต คอยดักซุ่มโจมตี การมีลายจุดที่แตกต่างจะทำให้มันเป็นเป้าโจมตีได้ง่ายๆ ในขณะที่ถ้ามีแต่ม้าลายปกติเมื่อวิ่งหนีกันเป็นกลุ่ม จะทำให้นักล่าสับสนในเป้าหมายและพลาดเป้าได้ง่ายกว่า
อ้างอิง
1.Katie Stacey, September 18, 2019, Rare polka-dotted zebra foal photographed in Kenya, nationalgeographic
2.Wikipedia
โฆษณา