Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
chatchawassa
•
ติดตาม
18 ต.ค. 2022 เวลา 08:49 • สิ่งแวดล้อม
หาดแสงจันทร์ เป็นชายหาดที่ตั้งอยู่ในเมืองระยอง อยู่ระหว่างนิคมฯ มาบตาพุดและ IRPC ซึ่งสามารถที่จะพูดได้ว่า เป็นชายหาดที่สวยงามแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง
ในสมัยก่อนนั้นนอกจากจะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมงที่ขยายตัวมาจากปากน้ำเมืองระยองแล้วยังมีผู้คนมากมายทั้งจากท้องถิ่นเองและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้ใช้ประโยชน์ในด้านสันทนาการ
แต่ปัจจุบันชายหาดแห่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปแล้ว โดยชายหาดแห่งนี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ดังกล่าวได้ ซึ่งผู้เขียนเองได้สังเกตุเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ถ้าหันหน้าออกทะเลแล้วมองไปทางซ้ายมือ ก็จะเห็นโรงงานและท่าเรือของบริษัท IRPC
การกัดเซาะชายหาดนั้นเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่ง ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว ปัญหาการกัดเซาะชายหาดนี้ได้เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากเป็นวัฏจักรทางธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดจากวัฏจักรนี้เกิดขึ้นช้ามาก เนื่องจากกระบวนการกัดเซาะชายหาดของคลื่น-ลมตามธรรมชาตินั้น จะมีการนำทรายจากใต้ท้องทะเลขึ้นมาแทนที่ด้วย เปรียบเสมือนเป็นการเสริมและทดแทนของธรรมชาติ
การกัดเซาะชายหาดจะรุนแรงมากเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพทางกายภาพและภูมิศาสตร์ของชายหาดนั้นๆ เอง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านองศาความชันของชายหาด ปริมาณประการังและหญ้าทะเลในบริเวณนั้นแต่ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ระดับความรุนแรงของการกัดเซาะชายหาดเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น ปัจจัยนั้นก็คือกิจกรรมของมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณนั้นนั่นเอง โดยที่มนุษย์เหล่านั้นไม่รู้ตัวและคาดไม่ถึงว่ากิจกรรมที่ทำนั้นจะส่งผลกระทบต่อชายหาดรุนแรงถึงเพียงใด
เมื่อมองไปทางขวามือไกลๆ นั่นก็คือบริเวณท่าเรือน้ำลึกของนิคมฯ มาบตาพุดและโรงไฟฟ้า BLCP
หาดแสงจันทร์แห่งนี้ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปเมื่อมีการถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกของนิคมฯ มาบตาพุดและท่าเรือของบริษัท IRPC ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเลนี้ ทำให้กระแสคลื่นและลมเปลี่ยนแปลงทิศทาง มุ่งโจมตีชายหาดแห่งนี้อย่างรุนแรง
การกัดเซาะของน้ำทะเลได้รุกเข้ามาถึงถนนเลียบชายหาด ส่งผลให้ถนนดังกล่าวเกิดความเสียหาย และมีแนวโน้มว่าบ้านเรือนของประชาชนจะถูกผลกระทบจากการกัดเซาะด้วย ทางราชการที่เกี่ยวข้องจึงต้องสร้างถนนใหม่ให้ถอยร่นเข้ามาและมีการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันคลื่นน้ำทะเลกัดเซาะชายหาด
เปรียบเสมือนการจำลองเอาท่าเรือทั้งสองแห่งมาอยู่ใกล้กัน
เมื่อปัญหาเกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาจึงเกิดตามมา ในยุคสมัยหนึ่งทางราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นเพื่อหยุดยั้งการกัดเซาะดังกล่าว แต่เนื่องจากความไม่รู้ถึงธรรมชาติของคลื่น-ลมและการกัดเซาะ ทำให้สร้างเขื่อนเป็นเขื่อนหินและวางเป็นช่วงๆ ตลอดชายหาด การทำเช่นนี้มันก็คือการจำลองท่าเรือทั้งสองแห่งมาไว้ใกล้ๆ กันนั่นเอง ผลก็คือชายหาดทั้งแนวถูกคลื่น-ลมกัดเซาะเป็นช่วงๆ จนกลายเป็นรูปเกือกม้าดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะเกิดการกัดเซาะเข้ามาในแผ่นดินอีกต่อไป
สาเหตุที่แท้จริงในการที่ทำให้ชายหาดแห่งนี้เปลี่ยนสภาพไป สามารถที่จะสรุปได้ว่าเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมนั่นเอง ถึงแม้ว่าการพัฒนาดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่จะสามารถดึงเงินลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาเสริมเศรษฐกิจ แต่ความผิดพลาดของรัฐ ที่มองเห็นแต่ตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน อีกทั้งขาดการวางแผนในการแก้ปัญหาที่ดีและรอบครอบนั้น เป็นอันตรายต่อการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ สภาพพื้นที่ภูมิศาสตร์ชายฝั่งของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่จึงต้องแตกต่างกันไปด้วย เมื่อผู้รับผิดชอบขาดความรู้ ความเข้าใจถึงสภาพการณ์ แล้วนำแบบอย่างการแก้ไขปัญหาของต่างพื้นที่เข้ามา จึงทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีประสิทธิผล อีกทั้งยังจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างมากมาย
นี่จึงเป็นบทเรียนหนึ่งที่สอนว่า การที่มนุษย์เข้าไปแทรกแทรงธรรมชาติอย่างเกินพอดีทั้งๆ ที่ไม่มีแผนแม่บทรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระบบนิเวศ และภูมิศาสตร์อย่างรุนแรง ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้นมนุษย์ที่จะต้องรับไป และไม่สามารถที่จะหลีกเีลี่ยงได้
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย