19 ต.ค. 2022 เวลา 10:00
รู้ทัน ‘การฟอกเงิน’ ต้นเหตุดราม่า ฝากเงินสดผ่านตู้ ต้องเสียบบัตร
แอพธนาคาร, QR-Payment, ตู้กดเงิน-ฝากเงินอัตโนมัติ สิ่งเหล่านี้คือเทคโนโลยีทางการเงินที่คนไทยรู้จักกันดี ช่วยลดขั้นตอน ลดจำนวนบัตรในกระเป๋า ลดเวลาในการทำธุรกรรมทางการเงิน หากแต่เมื่อเร็วๆนี้ กลับมีดราม่าว่าด้วยการฝากเงินสดผ่านเครื่อง CDM (เครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ) เมื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป ต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิตทุกครั้ง หากจะฝากเงินกับเครื่อง
1
รู้ทัน ‘การฟอกเงิน’ ต้นเหตุดราม่า ฝากเงินสดผ่านตู้ ต้องเสียบบัตร
กรณีนี้ ทำเอาประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นกันเป็นอย่างมาก บ้างก็ว่านี่จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนในการจ่ายค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตของธนาคาร ขณะที่อีกหลายความเห็นวิจารณ์ประสิทธิภาพบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดที่มีอยู่เดิม ซึ่งเอาเข้าจริงกลับไม่สามารถทำธุรกรรมได้ และไอเดียแสดงบัตรก่อนฝากเงิน เปรียบเสมือนการถอยหลังให้ต้องไปกลับไปใช้บัตรของธนาคาร หรือกลับไปพัฒนาระบบบัตรประชาชนใหม่
1
ถึงเช่นนั้นจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด มีประเด็นสำคัญอย่างเรื่อง “การฟอกเงิน” ที่เราต้องเข้าใจกัน นั่นเพราะสาเหตุของการมีหลักเกณฑ์แสดงบัตร มาจากการที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกรายงานวิเคราะห์ภัยคุกคามด้านการฟอกเงินผ่านธุรกิจธนาคาร ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่ง ระบุว่าช่องทางบริการที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินนี้ มักเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์, ตู้ ATM, และตู้ CDM เช่น การค้ายาเสพติดที่คนร้ายฝากเงินผ่านบัญชีของผู้อื่น
1
อย่าลืมว่า “การฟอกเงิน” (Money Laundering) นั้นอยู่คู่กับธุรกิจผิดกฎหมาย อย่างเช่น ยาเสพติด, การพนัน, หวยใต้ดิน, การเก็บส่วย ฯลฯ มาทุกยุคทุกสมัย และเมื่อการฟอกเงินในรูปแบบต่างๆนี้มีหลักการสำคัญคือ “การทำเงินสกปรกให้สะอาด” เหตุนี้ธนาคารจึงเปรียบเสมือนด่านแรกในการนำเงินเข้าระบบ และการวางหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อถกเถียงกันก็มาจากสาเหตุนี้เป็นสำคัญ
2
เราอาจเคยได้ยินขบวนการฟอกเงินเฉพาะในภาพยนตร์อาชญากรรมสนุกๆ แต่การฟอกเงินนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าใครที่ได้เงินมาแบบไม่สุจริตก็อยากจะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ปกปิดแหล่งที่มาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นการฟอกเงินจึงเกิดขึ้นจริงในทุกๆวัน โดยที่ “ขั้นตอนการฟอกเงิน” จะมีหลักๆ ใหญ่ๆ 3 ขั้นตอน ได้แก่
2
1. การนำเงินเข้าระบบ (Placement) ซึ่งขั้นนี้เป็นขั้นการนำเงินสดไปเข้าในบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย และในหลายประเทศ ธนาคารจะมีหน้าที่รายงานกรณีพบธุรกรรมเงินสดที่มีมูลค่าสูง เช่น ในประเทศไทย ธนาคารจะต้องทำรายงานธุรกรรมฝากเงินสดเกิน 2 ล้านบาทต่อ ปปง. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
การนำเงินเข้าสู่ระบบมีมากมายหลายวิธี ตั้งแต่การทยอยหรือแบ่งกันฝาก โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่กำหนดปริมาณเงินขั้นต่ำ ขณะที่อีกทางเลือกหนึ่ง คือการตั้งบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างใบเสร็จรับเงินปลอมๆ ขึ้นมา แล้วนำเงินสกปรกเข้าสู่ระบบโดยใช้บริษัทเป็นฉากหน้า เสมือนว่าเงินเหล่านั้นมาจากการทำมาหาได้แบบสุจริต
2. ขั้นตอนการทับซ้อนธุรกรรม (Layering) หลักการของขั้นตอนนี้มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือทำให้หน่วยงานป้องปรามการฟอกเงินตามหาแหล่งที่มาของเงินเหล่านั้นไม่เจอ โดยการโอนเงินหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ซับซ้อนและแนบเนียนที่สุด ทั้งการเปลี่ยนแปลงยอดการโอน เปลี่ยนชื่อบัญชี ธนาคาร เปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนสกุลเงิน บางครั้งอาจรวมถึงการซื้อสินทรัพย์มูลค่าสูง เช่น บ้านและที่ดิน ก่อนจะแปลงกลับมาเป็นเงินฝากธนาคารอีกครั้ง
1
3. ขั้นตอนการปนทรัพย์ (INTEGRATION) ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการเปลี่ยนเงินสกปรกให้สะอาด โดยขั้นตอนนี้คือการทำให้เงินถูกทำให้อยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย เช่น การ แสดงรายได้ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมาจากการขายธุรกิจหรือสินทรัพย์ที่ใช้เงินสกปรกซื้อ การโอนเงินผ่านระบบที่ซับซ้อนและองค์กรที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ เป็นต้น
เมื่อถึงตรงนี้ ก็จะเห็นว่า การนำเงินสดเข้าสู่ธนาคาร คือขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้เงินสกปรกผ่านการ “ฟอก” จนกลายเป็นเงินสะอาด และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมที่มาของการนำเงินเข้าระบบจึงสำคัญ และกลายเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 15พฤศจิกายนนี้
ถึงเช่นนั้น การตรวจสอบเงินที่จะนำเข้าระบบเพื่อความโปร่งใส ก็เป็นคนละเรื่องกับความสะดวกสบาย ความประหยัดค่าใช้จ่ายแบบที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ นั่นเพราะกลัวว่าหลักเกณฑ์ใหม่ที่มีขั้นตอนมากขึ้นจะพรากสิ่งเหล่านี้ไป โดยเฉพาะการอยู่ในสังคมไร้เงินสด (Cashless) ไร้บัตร (Cardless)
ซึ่งประเด็นนี้ ธปท. ได้ยืนยันว่า จะเร่งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถรองรับการยืนยันตัวตนรูปแบบอื่น ๆ เช่น การใช้บัตรประชาชน หรือการยืนยันตัวตน ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าทั้งความสะดวก ความประหยัด และความปลอดภัยจะเดินไปพร้อมๆกันได้อย่างไร?
2
อ้างอิง : ผลการประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รายภาคธุรกิจ สำนักงาน ปปง., ชุดวิชา กฎหมายกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการควบคุมและปราบปรามอาชญากรรมในประเทศและข้ามชาติที่สำคัญ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
โฆษณา