18 ต.ค. 2022 เวลา 16:09 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Our Times: Tang Palace Night Banquet
หลัง ๆ มานี้ เทซีรีส์จีนกลางคันไปหลายเรื่อง อาจเพราะดูมาเยอะเกินไป นาน ๆ จึงจะมีเรื่องที่ดูสนุกสักเรื่อง ซึ่งก็คงเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่ดูซีรีส์จีนแทบทุกเรื่องทุกแนวที่มีซับไทยและไม่มีซับไทยมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุด ลองเปิดดูเรื่องนอกกระแสสุด ๆ แถมแปลด้วย AI อีกต่างหาก
เอ้า...น้ำตาซึมเฉยเลย
Our Time ไม่แน่ใจว่าควรจะเรียกซีรีส์แนวนี้ว่าอย่างไรดี เป็นมินิซีรีส์หลายเรื่องในธีมเดียวกัน สำหรับเรื่องนี้มีมินิซีรีส์ 11 เรื่อง ๆ ละ 4 ตอน
ตอนแรก ชื่อ Tang Palace Night Banquet เป็นเรื่องราวของคณะนาฏศิลป์ ที่กำลังส่งการแสดงเข้าประกวด เป้าหมายย่อมหวังว่าจะได้รางวัล เป็นเกียรติเป็นศรี มีชื่อเสียง
ระหว่างการซ้อมเพื่อจะไปแข่งขัน ก็นำเสนอเรื่องราวของนักแสดง 3 คนไปพร้อม ๆ กัน
คนแรก นักแสดงนำเก่งสุดในคณะนาฏศิลป์ แต่อายุมาก และอยากเลิกแสดง เพราะรู้สึกว่าตัวเองแสดงมานาน อายุมากแล้ว และอยากมีลูกกับสามีนักแสดงเหมือนกันเสียที
คนที่สอง นักแสดงดาวรุ่ง เก่ง และคาดหมายว่าจะมาแทนที่คนแรก เจ้าตัวอยากแต่งงานกับลูกเศรษฐีมีชีวิตสุขสบาย พ่อแม่ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่นั่นหมายความว่าเธอต้องเลิกเป็นนักแสดงไปเลย เธอจะเลือกทางไหน
คนสุดท้าย นักแสดงไร้พรสวรรค์ มีแต่ความพยายามและความฝันว่าจะได้แสดงในทีวีสักครั้งเพื่อให้ย่า ญาติพี่น้อง ครอบครัวได้ภูมิใจ
ตัวแปรสำคัญของเรื่องคือ โปรดิวเซอร์หญิง ผู้สร้างสรรค์การแสดงที่ผสมผสานระหว่างนาฎศิลป์ดั้งเดิมกับไอเดียใหม่ ๆ ที่เข้าถึงคนดูรุ่นใหม่มากขึ้น
จุดที่น่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้ นอกจากดูสนุก ลุ้นไปกับตัวละครแล้ว ยังได้เห็นการตีความ วิธีคิดสร้างสรรค์ชุดการแสดง การใช้ความบันเทิงดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจประวัติศาสตร์ รากเหง้าความเป็นมาของตนเอง
ทุกอย่างเชื่อมโยงร้อยเรียงกันได้ลงตัวมาก
ชอบการแสดงของคณะนี้สุด ๆ น่ารักน่าหยิกมาก
ส่วนว่าทำไมน้ำตาซึม สำหรับคนอื่นอาจฟังดูเว่อร์วังไปหน่อย แต่เนื่องจากช่วงนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ครูนาฏศิลป์ผู้ใหญ่ เกี่ยวกับนาฏศิลป์ชั้นสูงสุดของไทย ก็เลยอ่อนไหวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ
เรื่องที่ทำให้แปลกใจจากคำให้สัมภาษ์ ก็คือ นาฏศิลป์ของไทย(จริง ๆ ก็คือศิลปะของไทยทุกแขนง) ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ หากแต่มีการคิดค้น ตีความ ต่อยอด ปรับปรุงการแสดงมาโดยตลอด
เป็นการพัฒนา คลี่คลายไปบนรากฐานที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี
อย่างไรก็ตาม นาฏศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ อันเป็น soft power ของเราจะสามารถสืบทอด ส่งต่อไปยังลูกหลานได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีคนดูหรือไม่ด้วย
ผู้เขียนโตมากับเพลง-หนัง-ซีรีส์ ตะวันตก เคยชอบหนังซีรีส์เกาหลีอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนมาอินเลิฟกับหนังซีรีส์จีน
ถึงอย่างนั้น ก็ยังตื่นตาตื่นใจกับนาฏศิลป์ไทยทุกครั้งที่ได้ดู และเคยได้ดูโขนศิลปาชีพมาหลายปี ชอบทุกปี โดยเฉพาะองค์สอง ฮามาก
ถ้าอยากรู้ว่าความบันเทิงชั้นครู ที่ไร้ซึ่งความหยาบคายเป็นอย่างไร ต้องไปดูกันค่ะ
(วนมาลงเรื่องนี้ได้ยังไงเนี่ย 555)
ปีนี้โขนศิลปาชีพ แสดงตอนสะกดทัพ แสดงวันที่ 30 ตุลาคม – 5 ธันวาคม 2565
หมายเหตุ เรื่องนี้เพิ่งดูได้ตอนเดียว ตอนอื่น ๆ ยังไม่ได้ดู ถ้ามีตอนไหนน่าสนใจ จะมาเขียนรีวิวเป็นตอน ๆ ไปค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา