19 ต.ค. 2022 เวลา 02:02 • ความคิดเห็น
Seek Discomfort
มีแชนนอลยูทูปของฝรั่งช่องหนึ่งที่ผมติดตามดูแล้วสนุกมาก เป็นคอนเท้นท์ของหนุ่มๆกลุ่มหนึ่งพยายามจะไปทำอะไรที่ไม่ค่อยสบายตัว บ่อยครั้งก็ลำบากมาก เช่นไปลุยหิมะเรียนวิชาเป็น iceman ไปลองวิ่งหลายพันกิโล ไปผจญภัยในที่ที่แปลกประหลาด ลองกินของแปลกๆ ลองใช้ชีวิตในที่มืดสนิทห้าวันติดกัน ลองนั่งสมาธิติดกันพันวัน ไปเรียนรู้ใช้ชีวิตในเมืองที่ไม่ค่อยมีใครไปกับภาษาที่ตัวเองไม่คุ้น ฯลฯ
1
ช่องเขาชื่อว่า “seek discomfort” ก็คือพยายามแส่หาเรื่องราวที่ออกจากคอมฟอร์ทโซนตัวเองเพราะเขาเชื่อว่าวิธีเดียวที่จะทำให้เขาเรียนรู้และเติบโตได้ก็คือการที่พยายามทำอะไรที่ทำให้รู้สึกตัวเองว่าไม่สบายตัวอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ที่มีคนติดตามมากมายทั่วโลก
Growth only occurs in a state of discomfort
Bill Eckstrom
ความสะดวกสบาย อะไรที่เข้าใจได้ง่าย รู้ว่าทำแบบนี้แล้วได้อะไรแล้วสามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆโดยไม่ต้องคิดนั้นเป็นความชอบโดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แล้วจะพยายามหนีอะไรที่ไม่สบายตัว ไม่คุ้น หรือไม่แน่ใจเท่าที่จะทำได้เพื่ออยู่ใน comfort zone ของตัวเองไว้ก่อน แต่เรามักจะหลงลืมกันไปว่าที่เราแต่ละคนเรียนรู้และเติบโต มีทักษะพื้นฐาน มีความคิดที่เป็นตัวของตัวเองขึ้นมาจนวันนี้ได้นั้น ก็เพราะกระบวนการเรียนรู้ในช่วงที่รู้สึกไม่สบายตัวไม่สบายใจทั้งสิ้น
1
ตั้งแต่เด็กๆหัดเดินที่ต้องล้มลุกคลุกคลาน เรียนหนังสือที่น่าเบื่อไม่ได้อยากจะเรียน ไปอยู่โรงเรียนประจำต้องลำบากช่วยเหลือตัวเอง จนตอนโตที่เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก สัมภาษณ์งานแล้วถูกปฏิเสธ ถูกเลิกจ้าง ต้องเปลี่ยนงานไปทำงานที่ไม่เคยทำ เริ่มธุรกิจใหม่ที่มีแต่อุปสรรค จนถึงการออกกำลังกายที่โดยโค้ชดันไปจนแทบอยากจะเลิก ต้องคุมอาหารทั้งที่อยากกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ฯลฯ
ความรู้สึกไม่สบายตัว ไม่ค่อยมั่นใจ (discomfort) เหล่านี้ถ้ามองย้อนกลับไปก็คือต้นทางของการเรียนรู้และการเติบโตของเราทั้งสิ้น ในขณะที่การใช้ชีวิตแบบเหมือนเดิมใน comfort zone เป็น autopilot วันต่อวัน ปีต่อไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่เลยเช่นกัน
กระบวนการที่เราต้องอยู่ในสภาวะ discomfort นั้นส่วนใหญ่แต่ไหนแต่ไรมาอาจจะเกิดจากการที่มีคนช่วยส่งเสริม ช่วยพาเราเข้าไปในสภาวะนั้น เช่นพ่อแม่ส่งไปโรงเรียน พาเราไปเรียนพิเศษตั้งแต่เด็ก คุณครูคอยเคี่ยวเข็ญเรา โค้ชที่ยิมที่คอยผลักเราทีละนิด
หรือบางทีก็อาจจะเกิดจากเหตุการณ์ที่ถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้จากความไม่คุ้นชิน เช่นถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เจ้านายส่งไปทำงานต่างประเทศ หรือให้งานที่ไม่ถนัด หรือในกรณีผมคือกินของไม่ดีจนอ้วนเข้าโรงพยาบาลจนต้องมาบังคับตัวเองออกกำลังและกินผักเมื่อสิบกว่าปีก่อนเป็นต้น
1
แต่การที่เราจะสามารถบังคับตัวเองให้เสาะหาความไม่สบายตัว (seek discomfort) ได้ด้วยตัวเองนั้นไม่ง่ายเลย แต่ถ้าพอจะเริ่มเห็นภาพว่าการที่เราอยู่ในสภาวะ discomfort จะนำมาซึ่งการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ก็น่านำมาคิดและนำเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจจะทำให้เราพยายามมองหาอะไรที่ไม่สบายตัวมาทำ พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นมากขึ้นโดยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นทุกข์หรือต้องพยายามหนีออกมาบ้าง
ผมเองเพิ่งมาหัดพูดในที่สาธารณะเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก่อนหน้านั้นผมกลัวมากในการต้องออกไปพูดกับคนจำนวนมาก กลัวจนต้องหนีในทุกกรณีที่หนีได้ หนีไม่ได้ก็จะปวดท้อง ตัวสั่นมือสั่น เพื่อนๆมัธยมผมจะรู้ดีจนบางคนเจอกันตอนนี้ยังแซวเลยว่ากลัวผมฉี่ราดเวลาออกมาหน้าชั้น
ที่ผมตัดสินใจต้องออกมาเผชิญสิ่งที่กลัวและไม่สบายตัวที่สุดในชีวิตก็เพราะหน้าที่การงานด้านการตลาดที่พอหนีไปเรื่อยๆก็เริ่มอายลูกน้องที่ต้องไปขึ้นเวทีแทนบ้าง บางเรื่องที่ควรจะพูดแล้วเป็นประโยชน์กับบริษัทก็ทำไม่ได้บ้าง ก็เลยพยายามกลั้นใจรับปากคนไปบรรยาย ไปขึ้นเวที ทุกครั้งที่ไปก็จะทรมานเป็นวันๆ ใจสั่นมือสั่น ประหม่าไปหมด
ทำแบบนี้น่าจะเป็นร้อยๆครั้งกว่าจะค่อยๆมั่นใจขึ้นจนเดี๋ยวนี้สามารถไปรับงานบรรยายได้สบายๆ มีตื่นเต้นอยู่บ้างแค่บางครั้ง และพอมองย้อนกลับไปก็พบว่าแต่ละครั้งที่ประหม่า ไม่สบายตัว นั้น ผมได้เรียนรู้วิธีการจัดการตัวเอง การรับมือกับผู้ฟัง การพัฒนาสิ่งที่จะพูดได้ดีขึ้นทีละนิด ยิ่งทำบ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งเรียนรู้ยิ่งเติบโตขึ้นในทักษะนี้จริงๆ แต่เวลาพูดคล่องๆแล้วกลับไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรเท่าไหร่เลย
1
มีเสียงร่ำลือว่าหนังสือเล่มใหม่ของนิ้วกลมที่ชื่อ Ultraman เส้นชัยไร้เหตุผลนั้น ถ้าได้อ่านจะวางไม่ลง ต้องอ่านรวดเดียวจบ ผมได้หยิบขึ้นมาอ่านระหว่างนั่งเครื่องไปต่างประเทศและก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เป็นหนังสือที่ทำให้ผมต้องลุ้นไปกับความบ้าระห่ำของนิ้วกลมที่ซ้อมแบบมั่วๆไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่เพื่อที่จะไปวิ่งเทรล HK100 หรือวิ่ง 100 กิโลครั้งแรกในชีวิตแบบขึ้นเขาลงเขาสุดหฤโหด
อ่านไปลุ้นไปพร้อมคิดตามด้วยว่าถ้าเป็นเราคงไม่น่ารอดไปถึงแข่ง เพราะแค่วันที่นิ้วกลมซ้อมยาวๆด้วยการวิ่งเจ็ดโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม สิบห้าชั่วโมงรวดบนถนนในกรุงเทพฯ ผมก็น่าจะจอดตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว..
1
ยิ่งได้อ่านความไม่ประสา ความรู้น้อยของนิ้วกลมต่อการวิ่งเทรลร้อยโล การไม่ได้ฝึกขึ้นเขาลงเขามาเท่าไหร่แล้วไปเจอของจริง ค่อยๆลุ้นทีละอุปสรรค ทีละด่านด้วยความร่อแร่และใจหายใจคว่ำ ไปรู้ต้องเปิดก๊อกสามก๊อกสี่จนก๊อกสิบ จะโดนตัดตัวก็หลายครั้ง ผ่านด่านโหดหินแบบใช้ใจล้วนๆ จนเข้าเส้นชัยใน 29 ชั่วโมงกับระยะทาง 103 โล อ่านไปลุ้นไปจนจบเล่มไม่รู้ตัวเหมือนกับเสียงร่ำลือที่เขาเล่าขานจริงๆ เราจะนึกไม่ออกเลยว่านิ้วกลมแส่หาเรื่องขนาดนี้ไปทำไมกัน..
นิ้วกลมเขียนไว้ตอนจบว่า “ ทันทีที่สองขาก้าวข้ามเส้นชัย ผมกลายร่างไปเป็น ultra finisher แต่นั่นไม่สำคัญเท่าสปิริตหรือจิตวิญญาณของ ultraman ที่ถูกบ่มเพาะมาตลอดทางอันยาวไกล สุดท้ายแล้วรางวัลที่แท้จริงของเหล่าบรรดาอัลตร้าแมนไม่ใช่เหรียญรางวัลหรือเสื้อฟินิชเชอร์หรอก หากคือบางสิ่งบางอย่างที่ทุกคนล้วนสัมผัสได้ในตัวเอง ฉันได้เปลี่ยนไปกลายเป็นอีกคนหนึ่งแล้ว “
2
แล้วเราจำเป็นต้อง seek discomfort ในระดับนิ้วกลมหรือไม่ นิ้วกลมวิ่งมาราธอนเป็นประจำก่อนที่จะ up level เป็น HK100 ผมคิดว่าเราเรียนรู้ในมุมคิดได้โดยไม่ต้องมองที่ตัวเลขเดียวกัน ผมเลยอยากจะยืมคำของอุดมแต้พานิชในเดี่ยวสิบสามอันโด่งดังในปัจจุบันที่เล่าถึงแต่ละคนก็มีแต่ละความถนัด แต่ละข้อจำกัด ในวิธีคิด #กูสะดวกแบบนี้
ก่อนที่เราจะไปเพ้อฝันหรือท้อถอยกับการวิ่งมาราธอนใดๆหลังจากไม่เคยลุกมาออกกำลังมานาน การออกมาเดินมาวิ่งซักยี่สิบนาทีก็เป็นการ seek discomfort ในความสะดวกของเราแล้ว หรืออย่างกรณีผมที่วิ่งห้ากิโลเป็นประจำ ก็ว่าจะหาความไม่สบายตัวด้วยการวิ่งซักสิบกิโลเสาร์อาทิตย์นี้และเข้ายิมที่แสนจะเกลียดดูเพราะแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ หรือแม้แต่ไปวิ่งสวนสาธารณะที่ไม่เคยไปก็เป็นวิธีที่ seek discomfort ในความระดับของตัวเองวิธีหนึ่ง
1
ถ้าเห็นด้วยว่าการที่เรารู้สึกไม่สบายตัวนั้นคือการเรียนรู้และเริ่มรู้สึกว่าชีวิตสบายเกินไป อยู่นิ่งอยู่กับที่ วันต่อวันที่ผ่านไปอยู่ในโหมดทำซ้ำ ผมว่าเราอาจจะค่อยๆออกแบบชีวิตด้วยเริ่มตั้งใจเอาตัวเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ “หาทำ” ทีละนิด เช่น เริ่มไปออกกำลัง ไปลองหัดกีฬาประเภทใหม่ๆ ไปท่องเที่ยว ไปพบผู้คนที่ไม่คุ้น ไปคุยกับคนต่างวัย ต่างฐานะ ลองอาสาทำงานที่ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะทำ
หรือถ้าสถานการณ์บังคับเราให้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สบายตัว ต้องย้ายงานเพราะเจ้านายสั่ง ต้องลดความอ้วนเพราะหมอบอก ต้องเริ่มทำการค้า เปิดร้านของตัวเอง ฯลฯ ก็จะได้มองเห็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโตไปในระหว่างความไม่สบายตัวหรือความลำบากใจนั้นๆและเปิดรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มใจได้ดีขึ้น
สตีฟ จอปส์ ผู้ยิ่งใหญ่เองก็ยังเคยบอกว่า ช่วงเวลาที่เขาเกิดความคิดสร้างสรรค์สูงสุดในชีวิต ก็คือช่วงที่เขาไม่สบายตัวและอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันที่สุด ก็คือช่วงที่เขาถูกไล่ออกจาก apple ที่เป็นบริษัทตัวเองก่อนจะกลับมาปฏิวัติ apple อีกครั้ง โดยเขาเล่าไว้ว่า
Getting fired from Apple was the best thing that could have ever happened to me. The heaviness of being successful was replaced by the lightness of being a beginner again. It freed me to enter one of the most creative periods of my life.
Steve Jobs
1
ถ้าเมื่อไหร่เริ่มรู้สึกว่าชีวิตนิ่งเกินไป ทำเหมือนเดิมเกินไป มาเริ่ม “หาทำ” Seek discomfort เพิ่มสีสันและอัพเลเวลชีวิตกันดูกันนิดนะครับ
โฆษณา