24 ต.ค. 2022 เวลา 12:13 • ประวัติศาสตร์
กว่า ๔๐๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์ก
คุณผู้อ่านทุกท่านทราบหรือไม่ว่ามิตรประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของไทยในภูมิภาคนอร์ดิกคือประเทศใด? บางท่านอาจจะพอคาดเดาคำตอบไดแล้ว ใช่ครับคำตอบที่ถูกต้องคือ “ประเทศเดนมาร์ก” ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเดนมาร์กเริ่มต้นขึ้นเมื่อราว ๔๐๐ ปีก่อน (ครบรอบ ๔๐๐ ปี เมื่อปี ๒๕๖๔) จากหลักฐานบันทึกการติดต่อของกลุ่มพ่อค้าชาวเดนมาร์กที่ได้เดินทางมาถึงสยามเป็นครั้งแรก และได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยาให้สามารถทำการค้ากับสยามได้
จากความสัมพันธ์เชิงการค้าต่อเนื่องมาสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณ ๑๖๐ ปีก่อน (ครบรอบ ๑๖๐ ปี เมื่อปี ๒๕๖๑) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) กับกษัตริย์เฟเดอริคที่ ๘ แห่งเดนมาร์ก ไทยและเดนมาร์กได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๑
ที่มา : สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย
เมื่อเราพูดถึงประเทศไทยและประเทศเดนมาร์ก ผมเชื่อว่าสิ่งแรก ๆ ที่หลายท่านนึกถึงคงเป็นนมกล่องที่มีสัญลักษณ์เป็นเจ้าวัวสีแดงแม่ลูกอยู่ที่ด้านหน้าของกล่องนม ซึ่งคือ “นมไทย-เดนมาร์ก” ที่ทุกท่านคุ้นเคยดีนั่นเอง โดยนมไทย-เดนมาร์ก นั้นเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทางการไทยและเดนมาร์ก และในปี ๒๕๖๕ นี้ ยังนับเป็นปีแห่งการครบรอบ ๖๐ ปี การก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กด้วย
ภาพขวา : (ซ้าย) Mr. Nikolaj Veje อธิบดีหน่วยงานด้านสัตวแพทย์ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก และ (ขวา) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่มา: สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๐๔ รัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมฟาร์มโคนมเดนมาร์กได้บริจาคเงินจำนวน ๔.๓๓ ล้านโครนเดนมาร์ก หรือประมาณ ๒๔ ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น) เพื่อดำเนินโครงการโคนมในประเทศไทย และต่อมา รัฐบาลไทยและเดนมาร์กได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางการเกษตร และได้ก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก พร้อมศูนย์ฝึกอบรม ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๕ ถือเป็นวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์การเลี้ยงโคนมของไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๙ และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของทั้งสองพระองค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๙ และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่มา : ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก
หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยและเดนมาร์กได้สานสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างราชวงศ์ไทยและราชวงศ์เดนมาร์ก โดยในระหว่างการเสด็จฯ เยือนยุโรป เมื่อปี ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จเยือนเดนมาร์กเป็นเวลา ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๖ - ๙ กันยายน ๒๕๐๓
การเสด็จเยือนเดนมาร์กในครั้งนั้นเปรียบได้กับภาพสะท้อนความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสองประเทศ อันเกิดจากมิตรภาพของสองราชวงศ์ที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ทั้ง ภาคธุรกิจและความสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างสองราชอาณาจักร
พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงถ่ายภาพร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๙ และ สมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก ณ พระราชวัง คริสเตียนสบอร์ก เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๐๓ ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ
การสืบสานมิตรภาพระหว่างไทยและเดนมาร์กนั้น ดำเนินไปด้วยความราบรื่นในทุกมิติ โดยประเทศไทยได้แสดงไมตรีจิตและมิตรภาพ ผ่านการส่งมอบ “อิน” และ “จัน” ให้แก่สวนสัตว์เมืองโคเปนเฮเกน เมื่อปี ๒๔๒๑ เพราะ “ช้าง” นอกจากจะเป็นสัตว์สำคัญแล้ว ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่ยั่งยืนจากประเทศไทยด้วย ปัจจุบันสวนสัตว์โคเปนเฮเกนมีช้างไทยถึง ๔ เชือกด้วยกัน
นอกจากช้างแล้ว ในปัจจุบันยังมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของไทยในเดนมาร์ก ที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ระหว่างสองราชอาณาจักรอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “เรือนไทย” ซึ่งตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์มอสการ์ดในเมืองออร์ฮุส โดยเรือนไทยหลังนี้เป็นเรือนไม้ทรงไทยโบราณจากจังหวัพระนครศรีอยุธยา
ดร. เพ็ญศักดิ์ จักษุจินดา ภรรยาของนาย Frantz Howitz อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และประธานมูลนิธิฝนหยาดเดียว เป็นผู้มอบเรือนไทยโบราณหลังนี้เป็นของขวัญให้แก่พิพิธภัณฑ์เมื่อปี ๒๕๑๘ และเป็นสถาปัตยกรรมต่างชาติเพียงชิ้นเดียวที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์มอสการ์ด
1
เรือนไทยโบราณ ณ ที่พิพิธภัณฑ์มอสการ์ด เมืองออร์ฮุส ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ
เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเดนมาร์กตลอด ๔๐๐ ปี ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ โดยผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านลองหาเวลาเข้าไปอ่านชุดบทความประวัติศาสตร์ความเป็นมาของความสัมพันธ์ ไทย-เดนมาร์ก ในหลากหลายแง่มุม จำนวนกว่า ๒๐ บทความ ได้ที่ https://shorturl.asia/R1CGQ
หรือท่านสามารถติดตามรับชมรายการเวทีความคิด ช่วงสายตรงจากกระทรวงการต่างประเทศ ตอน “๔๐๐ ปีความสัมพันธ์ ไทย-เดนมาร์ก” ได้ที่ https://youtu.be/VW3SoBiqOCY เพื่อรับทราบทุกรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมิตรประเทศที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคสแกนดิเนเวีย #THDK400
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา