Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
19 ต.ค. 2022 เวลา 09:36 • ท่องเที่ยว
เปิงกมนูว์ .. แห่งมเหนทรบรรพต
ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 การสร้างรูปประติมากรรมศิวลึงค์ เพื่อบูชาศิวะเทพ ตามคติไศวะนิกาย ได้แพร่หลายอย่างมาก .. ต่อมาศรัทธาและความเชื่อในแบบไศวะนิกายได้เสื่อมถอยลง
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 อิทธิพลของคติความเชื่อแบบไวษณพนิกายและตรีมูรติ เข้ามามีอิทธิพลต่อคติความเชื่อและงานศิลปะเขมรโบราณเป็นอย่างมาก และปรากฏงานศิลปะในเรื่องราวของพระวิษณุในอวตารต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
“เพิงหินภาพวาด” หรือ “เปิงกมนูว์” ในภาษาเขมร ซึ่งเป็นเพิงหินที่ปรากฏกลุ่มภาพแกะสลักบนผนังกระจายตัวอยู่ 4 – 5 กลุ่มในบริเวณใกล้เคียงกัน ในบริเวณแนวเขาลาดลงสู่ที่ต่ำทางฝั่งทิศตะวันออกสุดของที่ราบสูงบนพนมกุเลน ทางเหนือของอำเภอสวายเลอ ประมาณ 3 กิโลเมตร .. อาจจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงคติการปฏิบัติที่เห็นได้ชัดในความเปลี่ยนแปลงนี้
การเดินทางไปชมภาพสลักหินเหล่านี้ เราต้องผ่านพื้นที่อันเป็นทางที่ผ่านเข้าไปในแนวป่าโปร่ง มีถนนแคบๆสำหรับใช้เป็นทางเดิน และให้พาหนะขนาดเล็กจำพวกมอร์เตอรฺไซด์ และรถขนาดเล็กๆแล่นไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในระยะทางราว 3-4 กิโลเมตร ..
เราใช้บริการรถอีแต๊กของชาวบ้านพร้อมคนขับเป็นพาหนะ .. ซึ่งก่อนที่มา เราคิดเพียงว่า มันคงเป็นการเดินทางที่สนุกสนาน แตกต่างจากรถที่เราใช้เดินทางเป็นปกติ
รถอึแต๊กแสนเท่ห์ (ในความคิดตอนแรกเริ่ม) ออกเดินทาง โดยมีสารถีที่ชำนาญทาง ให้ความมั่นใจได้ว่า การหลงทางไม่มีในพจนานุกรมการเดินทางในวันนี้แน่ๆ ..
.. วันที่เราเดินทาง เป็นวันหลังฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ ช่วงสายของวันเดินทาง ท้องฟ้าแจ่มใสพอสมควร แดดอ่อน และมีลมพัดโชยมากระทบใบหน้าในบางขณะ ทำให้รู้สึกรื่นรมย์ไม่น้อย
ถนนดินแคบๆพาเรามุ่งหน้าขึ้นเนินไปเรื่อยๆ .. แม้เส้นทางจะไม่ได้ลาดชันมาก แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่นักท่องเที่ยว ทำให้ถนนอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยหลุม บ่อ อันเกิดจากใช้งานและการกัดเซาะของฝน และไม่ได้รับการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีเท่าที่ควร ..
รถอีแต๊กเก๋ๆที่เรานั่งจึงโคลงเคลงไปมา เอียงซ้าย เอียงขวาให้เราได้ตื่นเต้น ตื่นตัว คอยปรับท่านั่งให้ยืดหยุ่นไปตามครรลองของคลื่นถนน ใจมุ่งอยู่กับโมเม้นท์ปัจจุบัน เหมือนการปฏิบัติธรรม
.. บางขณะมองไปที่สารถี ผู้ที่ต้องยืนถือคันบังคับเครื่องยนต์ ในขณะที่ตาจ้องมองดูร่องตื้นลึกของถนน รวมถึงสิ่งกีดขวางต่างๆ พร้อมทั้งใช้ความชำนาญในการเลือกร่องในช่องที่ทำให้สามารถบังคับรถของเรามุ่งไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยที่สุด
.. ภาพในตอนนั้น ทำให้จินตนาการไปถึง รถม้าศึกในมหากาพย์ที่โด่งดัง “มหาภารตะยุทธ์” ในขณะที่พระกฤษณะ กำลังบังคับม้าศึกให้กับอรชุน ในการรบที่ทุ่งคุรุเกษตร ..
.. แต่บางขณะ กลับกลายเป็นตอนที่ รถของกัณนะตกหล่ม ไปซะงั้น .. แล้วเราก็ต้องลงเดิน
เราเดินทางผ่านเนินเขา ป่าโปร่ง ป่าไผ่สีเขียวของในหน้าฝน .. บางช่วงมีทัศนียภาพที่สวยงาม เจริญตาอย่างยิ่ง
เราสังเกตเห็นว่า พื้นที่มีหินก้อนใหญ่ๆกระจายอยู่ทั่วบริเวณ
เวลาของการเดินทางผ่านไปราวครึ่งชั่วโมง .. เราเดินทางมาถึงหมู่โขดหินเหมือนดอกเห็ดขนาดมหึมาบน พื้นที่ราบสูงที่มีป่าและแนวเขาเป็นฉากหลัง
… นี่คือ “เปิงกมนูว์” ที่เราตั้งใจมาชมและแสวงหาความรู้ของเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา
“เปิงกมนูว์” หรือ “เพิงหินภาพวาด” .. ได้ชื่อตามภาพวาดบนเพิงส่วนที่เหมือนดอกเห็ด หรือหลังคา แต่ภาพเหล่านั้นเราดูไม่ออก และบอกไม่ถูกว่าเป็นภาพที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
ไฮไลท์ของ “เปิงกมนูว์” อยู่ที่ภาพสลักบนแผ่นหิน 3-4 กลุ่ม ที่จะได้เล่าให้ฟังในลำดับต่อไป
จากความเข้าใจของเรา .. ภาพชุดแรกที่ถูกสลักขึ้น คือ กลุ่มภาพสลักของเหล่าเทพเจ้าบนเพิงหินก้อนใหญ่ แสดงภาพบุคคลขนาดใหญ่ 4 รูป สลับกับรูปเทวีขนาดเล็กเป็นครึ่งหนึ่งของรูปใหญ่ 3 รูป
.. มีรูปสลักของฤๅษี หรืออาจจะเป็นนักพรต กำลังบำเพ็ญตบะในท่าโยคะสนะ จำนวน 6 รูป ที่กำลังแสดงการบูชาสักการะเหล่าเทพเจ้า แทรกอยู่
รูปขนาดใหญ่คู่กลาง ..
บุคคลทางด้านซ้ายของคู่กลาง มีพระเนตรที่สามตรงพระนลาฏ ซึ่งก็หมายถึง “พระศิวะ” .. คู่ทางด้านขวา มี 4 กร เป็นรูปลักษณะที่ชัดเจนของ “พระวิษณุ”
.. ส่วนรูปบุคคลถือกระบอง ที่ขนาบข้างทั้งสองฝั่ง คือรูปของ “พระทวารบาล” นนทิเกศวร และมีรูปสลักมหากาลและรูปสิงห์
รูปเทวี 4 พระกร ทางด้านซ้ายของรูปพระวิษณุ หมายถึง “พระวิษณุศักติ” ตามคัมภีร์ “วิษณุปุราณะ”
เทวีถือดอกบัวข้างซ้ายของพระศิวะ คือ “พระนางปารวตี” ..
ทางด้านขวาของพระศิวะ คือ “พระศักติเทวี”
รูปสลักทั้งหมดที่กล่างถึงข้างต้น .. ขนาบข้างด้วยสิงห์ทวารบาล ซึ่งทั้งหมดอาจแกะสลักขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน คือในช่วงที่ฤๅษีนามว่า “ศิวะโสมะ” ได้มาอาศัยพักพิงเพื่อบำเพ็ญตบะ แสดงการบูชาและเป็นผู้สร้างรูปสลักนูนต่ำของเหล่าเทพเจ้าบนผาหินนี้
มีจารึกบอกถึงนามของฤาษีในส่วนบนของภาพสลักทางด้านซ้ายของพระวิษณุ
เป็นที่น่าสังเกตว่า .. ภาพสลักเทพเจ้าทั้งหมดถูกกล่าวพระนามกำกับไว้ทุกองค์ในจารึกที่ปรากฏบนเพิงหินเพิงกอมนู ที่ถูกเรียกว่า "จารึกเพิงเก้งก้าง” (Peung Keng Kang/ K.176 ) หมายถึงเพลาหรือแกนของวงล้อในภาษาเขมร เป็นชื่อนามเดิมของสถานที่แห่งนี้ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส
***จารึกอักษรเขมร-ภาษาสันสกฤต 17 บรรทัด บนผนังด้านขวาของรูปสลัก เป็นฉันทลักษณ์ 6 บท สลักขึ้นเมื่อศักราช 996 (หรือ ปี พ.ศ. 1617 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 ต่อกับยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
.. อันเป็นช่วงเวลาที่สอดรับกับงานศิลปะของรูปสลักบนเพิงผาได้อย่างลงตัว คือเป็นศิลปะแบบปลายบาปวน เข้าสู่ยุคศิลปะแบบพิมายและนครวัดตอนต้น
“...ท่านศิวะโสมะเป็นผู้พรสวรรค์ด้วยสติปัญญา และได้รับการเคารพนับถือจากเหล่าผู้ศรัทธา เขาและเหล่าผู้คนนั้นได้พากันมาบำเพ็ญตบะแห่งความบริสุทธิ์ บูชาไฟ บูชาพรหม บูชาคุรุ และบูชาเหล่าเทพเจ้าโดยไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นพระองค์ใด....
... ได้สร้างรูปประติมากรรมทั้งหลายไว้ที่เพิงถ้ำแห่ง “เขามเหนทระ” (Mahendraparvata) เพื่อถวายเป็นที่สถิตของพระมเหศวรและนางปารวตี ผู้เป็นบุตรีแห่งท้าวหิมาลายา....
... ได้ใส่ชื่อนามของท่านไว้ร่วมกับเหล่าเทพเจ้าในนาม "พระโสมะ" (Soma) เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักชื่อของท่าน ในความสำเร็จแห่งคุณธรรมอันแสนมหัศจรรย์ที่ไร้การเปรียบเทียบ....
...เหล่าเทพเจ้าและพระเทวีจะได้ทรงประทานพรสู่สวรรค์และการปลดปล่อยครั้งสุดท้ายให้แก่พระศิวะโสมะและเหล่าสาวก ผู้อาศัยบำเพ็ญเพียรอย่างถาวรอยู่ในเพิงผามเหนทระที่เปรียบประดุจสวรรค์แห่งนี้...
...พระศิวะโสมะได้สร้างรูปเคารพทั้งหลาย เพื่อถวายต่อองค์ “ปรเมศวร” (Paramesvara) “พระนางปารวตี” (Parvati) “เทวี” (Devi) พระวิษณุ (Visnu) ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อเหล่าอสูร (Asura) และ ตัวของเขาเอง พระโสมะ (โสมะ)...” ***
ภาพสลักอีก 3 กลุ่มรอบภาพสลักใหญ่ ไม่มีการกล่าวถึงในจารึก .. จึงเข้าใจว่าเป็นการสลักขึ้นมาภายหลังจากภาพสลักใหญ่กลุ่มแรก
กลุ่มแรกทางซ้ายมือของภาพสลักกลุ่มใหญ่ เป็นรูปกลุ่มบุคคลเหนือหัวสิงห์ทวารบาล .. เป็นภาพของพระศิวะและพระโอรสอันได้แก่ พระคเณศทรงช้าง พระศิวะทรงสิงห์ (อสูร) และขันทกุมาร ทรงนกยูง
กลุ่มภาพที่สองในกรอบรวยนาคทางซ้ายมือสุด .. เป็นภาพวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะในตอนกำเนิดโลก กับภาพ “วามนาวตาร” หรือ “นารายณ์ตรีวิกรม” ตอนกำราบ "อสูรพลี-มหาพาลี” ที่มีภาพของพระแม่ภูมิเทวีกำลังรองรับพระบาท และภาพของพญาหมี "ชามพวาน" ผู้กำเนิดจากพระพรหม ช่วยเหลือพระอวตารในการก้าว 3 โลก
กลุ่มภาพที่สามอยู่ทางขวามือสุด ... เป็นภาพของบุคคล 2 กลุ่มย่อย แบ่งเป็นกลุ่ม 3 คน (ภาพใหญ่) และ 2 คน (ภาพเล็ก)
.. โดยกลุ่มสามคนทางซ้ายเหนือจารึกนั้น ตรงกลางคือพระศิวะถือคทาตรีศูลในภาค “มหาฤๅษี/โยคี มีภาพพระนางปารวตีประคองก้านดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายทาบบนพระอุระแสดงความเคารพ (สวัสดิกะมุทรา) อยู่เคียงข้าง เทพเจ้าแสดงวันทาอัญชุลี และเทพเจ้าคู่ชายหญิงถือดอกบัวเอามือทาบบนหน้าอกแสดงความเคารพ
.. เป็นภาพมงคลหมายถึงการแสดงความเคารพแก่ท่านศิวะโสมะและเหล่าผู้สาวกศรัทธา ที่ได้มาบำเพ็ญพรต ณ มเหนทรบรรพตแห่งนี้ ตามความที่จารึกว่า “....ถวายการสวดบูชาโดยไม่มียกเว้นว่าจะเป็นเทพองค์ใด ...เหล่าเทพเจ้าและพระเทวีทั้งหลายจะทรงประทานเส้นทางสู่สวรรค์ให้แก่เขา......”
โขดหินทรายที่อยู่ใกล้เคียงกัน ยังปรากฏภาพสลักเป็นกลุ่ม ๆ ตามเพิงหินและซอกหลืบของโขดหินขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะที่ตั้งอาศรมของนักพรตคนอื่นๆ ..
มีภาพของพระวิษณุอนันตศายิน-ปัทมนาภะ (พระวิษณุผู้นอนอยู่เหนือพระยานาคอนันตนาคราช) หรือที่เรียกอีกชื่อคือ นารายณ์บรรทมสินธุ์ อันเป็นชื่อเรียกกรณีกิจที่สำคัญตอนหนึ่งของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ .. แสดงถึงเรื่องราวของการสร้างโลก อันเป็นปฐมภูมิของการกำเนิดสรรพสิ่งทั้งปวงตามคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
การบรรทมสินธ์ของพระนารายณ์ .. เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่โลกถูกทำลายจมอยู่ใต้น้ำ บรรดาเหล่าพระพรหมและฤาษีอยู่ในโลกเบื้องบน ได้พากันมาอ้อนวอนพระนารายณ์ให้สร้างโลกขึ้นมาใหม่ พระนารายณ์จึงเข้าโยคะนิทรา คือการทำโยคะในขณะที่กำลังนอน โดยได้บรรทมอยู่เหนือพระยานาคอนันตนาคราช กลางเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมโดยมีพระนางลักษมีหรือพระศรีประคองพระบาท
.. ในที่สุดได้บังเกิดดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี(สะดือ)ของพระองค์ โดยมีพระพรหมประทับนั่งอยู่บนดอกบัว เพื่อทำหน้าที่สร้างโลกและสรรพสิ่งต่างๆอีกครั้ง ภายหลังจากการสร้างโลกแล้วเสร็จ พระนารายณ์ก็จะเป็นผู้ดูแลปกป้องรักษาโลกจนครบกำหนด จากนั้นพระนารายณ์ก็จะทำลายล้างโลก เมื่อนั้นพระนารายณ์จะบรรทมสินธุ์เพื่อให้กำเนิดพระพรหมเช่นนี้ต่อไป ระยะเวลาของการสร้างโลกขึ้นมาและทำลายล้างไปเรียกว่า 1 กัลป์
ภาพสลักพระคเณศ 8 กร .. พระคเณศ เป็นเทพแห่งสติปัญญา เทพแห่งศิลปะความรู้ และความสำเร็จทั้งมวล
หากเดินไปด้านของเนินอันเป็นที่ตั้งของภาพสลักกลุ่มใหญ่ .. มีภาพพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งการแกะสลักหินสมบูรณ์เฉพาะภาพของพญาครุฑ ส่วนภาพสลักของพระนารายณ์ยังไม่เสร็จ ปรากฏเพียงเค้าโครงการร่างภาพ
พระนารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ ก็เป็นชื่อเรียก ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ
***REF :
https://www.facebook.com/EJeab.Academy
1 บันทึก
2
1
5
1
2
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย