20 ต.ค. 2022 เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก
🔥เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย ใกล้จุดแตกหัก ⛽
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันได้แก่ ประเทศซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรซึ่งรวมถึงรัสเซียที่เรียกว่า OPEC plus มีการประชุมกันที่กรุงเวียนนา ได้ประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงวันละ 2 ล้านบาร์เรล โดยให้มีผลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป ถือเป็นการลดการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี
การตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางไปเข้าพบเพื่อพูดคุยกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เพื่อโน้มน้าวไม่ให้ซาอุดีอาระเบียลดการผลิตน้ำมัน ดังนั้นการที่ OPEC plus ประกาศลดกำลังการผลิตลง จึงถือเป็นการหักหน้าผู้นำสหรัฐอเมริกาอย่างแรง
หลังจากนั้นก็มีการส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งกล่าวหาว่าซาอุดีอาระเบียเข้าข้างรัสเซียในวิกฤตสงครามยูเครน และสหรัฐอเมริกาอาจต้องทบทวนความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกาก็เรียกร้องให้ยุติความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย โดยระงับการขายอาวุธและยกเลิกการสนับสนุนกำลังทหาร
ข้อตกลงที่ซาอุดีอาระเบียต้องส่งน้ำมันให้กับสหรัฐอเมริกาเพื่อแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาให้หลักประกันความมั่นคงกับซาอุดีอาระเบียผ่านการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยให้ ข้อตกลงนี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติต่อเนื่องมายาวนาน เป็นความสัมพันธ์ที่มีชื่อเรียกว่า "พลังงานแลกความมั่นคง" (energy for security) ทั้ง 2 ชาติร่วมมือทางการทหารทุกครั้งที่ตะวันออกกลางเผชิญปัญหาความมั่นคง
🇺🇸ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีความอ่อนแอลง นับตั้งแต่การรณรงค์เลือกตั้งเมื่อปี 2563 โจ ไบเด็น ได้กล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียควรรับผิดชอบการตายของ จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกฆ่าตายเมื่อปี 2561 โดยอ้างข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐอเมริการะบุว่า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นผู้บงการสังหาร
ในขณะที่ความสัมพันธ์ของซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอเมริกาถดถอยแตะจุดต่ำสุดซาอุดีอาระเบียก็ได้เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับจีน ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย และมีแนวโน้มจะขายน้ำมันให้จีนด้วยเงินหยวนแทนดอลลาร์สหรัฐ จึงถือเป็นการลดทอนอิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา และเป็นการเพิ่มสถานะเงินสกุลหยวนของจีน ในระบบเศรษฐกิจโลก
2
🇨🇳 จีนและซาอุดิอาระเบียได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ 17 ฉบับ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมครั้งแรกที่จัดขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือระดับทวิภาคี นายจาง เกาลี รองนายกรัฐมนตรีของจีนและมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ทำหน้าที่เป็นประธานร่วมกันในการประชุมที่จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง เอกสารความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมหลายด้าน ได้แก่ การเมือง พลังงาน การเงิน การลงทุน ที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ การตรวจสอบคุณภาพวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวัฒนธรรม
2
โดยจีนพร้อมที่จะประสานงานโครงการพื้นที่และเส้นทางเศรษฐกิจของจีน (Belt and Road Initiative) ร่วมกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียที่มีชื่อว่า "วิสัยทัศน์ 2030" และจีนยังช่วยให้คำปรึกษาเรื่องโครงการนิวเคลียร์และการสร้างขีปนาวุธของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งเข้าไปร่วมลงทุนในอภิมหาโครงการของ มกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เช่น เมืองอัจฉริยะ "นีออม" (NEOM)
นอกจากนี้ มีการส่งสัญญาณจาก ประธานาธิบดี ไซริล รามาโฟซา แห่งแอฟริกาใต้ ว่ามกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองของประเทศซาอุดีอาระเบียโดยพฤตินัย มีความปรารถนาให้ซาอุดีอาระเบียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วยรัสเซีย จีน อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีความร่วมมือกันในด้านความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การค้า การลงทุน ยาและเวชภัณฑ์
และเป็นที่บีบหัวใจขั้วอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างมาก คือ การที่ BRICS มีจุดยืนจะใช้สกุลเงินประจำชาติเพื่อดำเนินการทางการค้าโดยไม่พึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ💥
ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจประกาศระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) จำนวน 10 - 15 ล้านบาร์เรล เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และรักษาคะแนนนิยมของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 และอาจมีการสั่งห้ามโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐส่งออกน้ำมันเพื่อให้มีปริมาณน้ำมันเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมวิกฤตพลังงานในยุโรป และอาจจะส่งผล กระทบย้อนกลับทำให้ราคาพลังงานในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นได้🕳️
1
ข้อมูลบางส่วนจาก : สำนักข่าวซินหัว ; ทาซซ์ ; อินโฟเควสท์ และ รอยเตอร์ส
โฆษณา