21 ต.ค. 2022 เวลา 18:18 • ธุรกิจ
ผมเองเป็น “ชาวบ้าน” คนหนึ่งที่มักเปิดทีวีฟังข่าวขณะที่กำลังยืนล้างจาน
และข่าวการควบรวมกิจการของบริษัทโทรคมนาคมขนาดยักษ์สองเจ้านี้ก็นับว่าเป็นข่าวที่น่าสนใจข่าวหนึ่ง ซึ่งผมมองมันจากมุมมองของผมดังนี้ครับ
1) “ทางเลือกลด คือ อำนาจการต่อรองลด”
คิดง่ายๆว่า ในซอยบ้านคุณมีร้านข้าวมันไก่อยู่หลายร้าน คุณมี “อำนาจการต่อรองในฐานะผู้บริโภค” มาก เช่น
ร้าน A ต้มไก่ออกมาได้ดี แต่หุงข้าว ออกมาแข็งไปหน่อย นำ้ซุปก็เค็มไปสำหรับคุณ
ร้าน D ทำออกมาทั้งข้าวทั้งไก่ทั้งนำ้ซุปและนำ้จิ้ม ออกมา “กลางๆ” ไม่ถึงใจคุณ แต่ขายราคาย่อมเยาว์กว่า แถมเจ้าของร้านและพนักงานยังมีมารยาทและบริการดี
ร้าน T ทำทุกอย่างออกมาดีมาก แต่ขายในราคาที่สูงกว่าเจ้าอื่น และคิดเงินค่านำ้จิ้มหากคุณขอนำ้จิ้มเพิ่ม! แถมมีแต่ข้าวมันไก่ต้ม แต่ไม่มีข้าวมันไก่ทอดที่คุณชื่นชอบอีกด้วย! ในขณะที่ร้านอื่นๆมีข้าวมันไก่ทอดให้เลือก
เราจะสังเกตเห็นได้ว่า การหาร้านข้าวมันไก่ที่ถูกใจในทุกมิตินั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าคุณต้องเป็น “ลูกค้าประจำ” ด้วยแล้ว การมีทางเลือก “มาก” ย่อมหมายถึง “อำนาจต่อรอง” ของเงินในมือคุณมีสูงขึ้น
ในทางตรงกันข้าม หากคุณต้องกินข้าวมันไก่ในซอยละแวกบ้านของคุณไปอีกนานแสนนาน คุณย่อมต้องการให้มีร้านใหม่ๆมาเปิดบริการ เพราะคุณอยาก “ชิม” เมนูใหม่ๆ เป็นต้นว่า ข้าวมันไก่สิงคโปร์, ข้าวมันไก่เบตง หรือ ข้าวมันไก่ฮ่องกง เป็นต้น
แต่หาก “เจ้าของตลาดในซอย” ออก “เงื่อนไข” ที่ทำให้ “การแข่งขัน” ในกิจการข้าวมันไก่ในซอยของคุณ มีได้แต่เพียง “เจ้าใหญ่ๆ” ที่มี “ส่วนแบ่งการตลาด” (share market) ราว 40%-50% อยู่เพียงแค่สองเจ้า เพียงเพราะ “ร้าน D กับ ร้าน T” กำลังจะควบรวมกิจการกัน แล้วคุณคิดว่า ข้าวมันไก่เจ้าใหม่ๆจะกล้าเข้ามาตีตลาดที่มีเจ้าใหญ่ๆอยู่แล้วเพียงแค่สองเจ้า โดยมี “economy of scale” (ยิ่งขยายกิจการ ยิ่งลดต้นทุน) และมีโปรโมชั่นการขายที่ดีกว่าเพราะว่าสายป่านที่ยาวกว่า ยังงั้นหรือ?
2) “เมื่อช้างสารจับมือกัน หญ้าแพรกย่อมแหลกลาญ”
หากร้านข้าวมันไก่ในซอยบ้านคุณ เหลืออยู่เพียงสองร้าน แล้วสองร้านนั้นยังวางกลยุทธ์ทำโปรโมชั่นที่เหมือนๆกัน หรือ “ขึ้นราคา” พร้อมๆกันในเพดานราคาที่ใกล้ๆกัน แล้วคุณจะมี “ทางเลือก” อะไรเหลืออยู่อีกหรือ?
3) ผู้ชนะที่แท้จริงคือ “ผู้ถือหุ้น” ของกิจการร้านข้าวมันไก่ของสองเจ้าใหญ่นั่นเอง!
เพราะการออกโปรโมชั่นนั้น ผมเชื่อว่า แต่ละกิจการจะ “ขาดทุนกำไร” หรือมี “profit margin” ลดลง แต่เขายังคง “ความสามารถในการแข่งขัน” ในตลาดที่มี “คู่แข่งเยอะ” ไว้ได้
แต่หากเมื่อใดที่มี “players” ลดลง การแข่งขันก็จะไม่ดุเดือดรุนแรง เขาก็ไม่ต้องทำ “โปรแรงๆเด็ดๆ” อีกต่อไป!
และ “ท่อน hook” (rhythmic hook) ของประเด็นที่ส่งผลถึงพี่น้องชาวไทยจำนวนมหาศาล ของข้อเขียนของผม
นี้คือ
”แล้ว “ตลาด” ที่ “ขาดการแข่งขัน” เพราะ ถูก “ผูกขาด” จะยังเป็นตลาดที่ผู้บริโภคจะได้เปรียบยังงั้นหรือ?
แล้วจะมีองค์กรที่บริหารและดำเนินการโดยใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชนเอาไว้”
“ทำ....£%#¥!.....ไม / อะไร?”
โฆษณา