Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
•
ติดตาม
22 ต.ค. 2022 เวลา 22:10 • ปรัชญา
“ความเป็นมาของผ้าป่ากับของผ้ากฐิน”
วันนี้ท่านสาธุชนพุทธบริษัท ผู้มีจิตศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้มาร่วมกันเพื่อถวายปัจจัยที่สำคัญ ต่อการดำรงชีพของพระภิกษุสงฆ์ นั่นก็คือจีวร เครื่องนุ่งห่ม ก็เลยจะขอเล่าความเป็นมาของผ้าป่ากับของผ้ากฐิน สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา มีผู้มีจิตศรัทธามาบวชจำนวนไม่มาก สมัยนั้นพระจะไปเก็บผ้าที่ทิ้งไว้ในป่าช้า หลังจากที่ศพได้เน่า แล้วก็เหลือแต่กระดูก ผ้าเหล่านั้นก็เลยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร
พระที่บวชก็จะไปเก็บผ้าเหล่านั้น เรียกว่า “ผ้าบังสุกุล” ผ้าห่อศพนี้คือผ้าบังสุกุล หรือเราเรียกกันสั้นๆ ว่าผ้าป่า แต่ความจริงเป็นผ้าที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ยุคนั้นเป็นพระรุ่นแรกๆ ก็มีจำนวนพอเพียง เวลาไปบวชก็จะไปเก็บผ้าบังสุกุล คือผ้าห่อศพที่มีอยู่ในป่าช้า มาซักมาย้อม มาตัดมาเย็บ เป็นผ้าจีวรบ้าง เป็นผ้าสบงบ้าง เป็นผ้าสังฆาฏิบ้าง
นี่คือยุคแรกๆ ต่อมาเมื่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แผ่ขยายกว้างไปเรื่อยๆ ก็มีผู้มีจิตศรัทธามาบวชกันมากขึ้นๆ จนไม่สามารถที่จะไปหาผ้าในป่าช้ามาใช้ได้อย่างพอเพียง เพราะจำนวนพระนี้มีมากกว่าผ้าที่ทิ้งไว้ในป่าช้า
พระพุทธเจ้าทรงเห็นความทุกข์ยากลำบากของพระภิกษุ คือมีพระภิกษุอยู่กลุ่มหนึ่ง เดินทางเพื่อมากราบนมัสการพระพุทธเจ้า ระหว่างทางก็เจอฝนตกแบบนี้ ผ้าจีวรก็เปียกปอนไปหมด เวลามาเข้าเฝ้าก็ไม่มีผ้าเปลี่ยน ก็เลยต้องเข้าเฝ้าทั้งผ้าที่เปียกปอน พระองค์จึงทรงเห็นความทุกข์ยากลำบากของพระภิกษุว่าขาดแคลนผ้าจีวรกัน จึงได้ประกาศบอกให้ศรัทธาญาติโยม ให้มีการถวายผ้ากฐิน
ผ้ากฐินนี้เป็นผ้าที่มาเสริมผ้าป่าอีกทีหนึ่ง เพราะว่าผ้าป่านี้ไม่พอใช้ แต่ไม่ให้ถวายมากเกินไป ก็เลยถวายได้พียงระยะเวลา ๑ เดือน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ที่เรียกว่าวันลอยกระทง เป็นเวลาที่ศรัทธาญาติโยมสามารถถวายผ้ากฐินให้แก่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาได้ตลอดทั้ง ๓ เดือน เป็นการเสริมผ้าที่ขาดแคลน คือผ้าป่านี้เอง หลังจากพ้นกรานกฐินไปแล้ว พระที่ต้องการผ้าก็จะไปเก็บผ้าตามป่าช้าต่อไป
ในกรณีที่พระพุทธเจ้าต้องการให้พระใช้ผ้าบังสุกุล เพื่อที่จะได้ไปเยี่ยมป่าช้า ได้ไปเห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกาย ของพวกเราทุกคน ว่าเมื่อเกิดมาแล้ว ในที่สุดก็ต้องถึงแก่ความตายไป ร่างกายนี้เป็นส่วนประกอบครึ่งหนึ่งของชีวิตของพวกเรา นอกจากร่างกายแล้ว เราก็ยังมีจิตใจอีกครึ่งหนึ่ง เป็นเหมือนฝาแฝด ร่างกายเป็นน้องแต่ใจเป็นนาย เป็นพี่ ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ใจเป็นผู้ใช้ผู้สั่งให้ร่างกายไปทำอะไรต่างๆ ไปหาอะไรต่างๆ มาป้อนให้กับใจ เพื่อใจจะได้มีความสุข
แต่พอร่างกายตายไป ใจที่ไม่ได้ตายไปกับร่างกายก็ต้องไปต่อ ไปสู่การรับผลบุญผลบาปที่ได้ทำไว้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ถ้าได้ทำบุญมากกว่าทำบาป ตายไปบุญก็จะพาให้ไปสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ ถ้าทำบาปมากกว่าทำบุญ บาปก็จะพาให้ไปเกิดในอบายชั้นต่างๆ เช่นเดียวกัน คือชั้นเดรัจฉานบ้าง ชั้นเปรตบ้าง ชั้นอสูรกายบ้าง ชั้นนรกบ้าง
นี่คือเรื่องของชีวิตพวกเราทุกคน ที่เกิดมาแล้วต้องมาหาความสุขผ่านทางร่างกายกัน และการหาความสุขบางทีก็หาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือหาความสุขด้วยการกระทำบาปต่างๆ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตบ้าง ลักทรัพย์บ้าง ประพฤติผิดประเวณีบ้าง พูดปดบ้าง ดื่มสุรายาเมาบ้าง การกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่จะฉุดให้จิตใจต้องไปเกิดในอบายกัน
ส่วนบางท่านก็หาความสุขด้วยการทำความดีต่างๆ เช่น ทำบุญทำทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ที่มีเหลือกินเหลือใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากลำบากของผู้ที่ยากจน ท่านเหล่านี้ก็ได้ทำบุญ เมื่อตายไปบุญก็จะสงให้ไปสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ ด้วยกัน และถ้าได้มาเกิดในยุคของพระพุทธศาสนา มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ความรู้ก็จะได้รู้ว่าพวกเรานี้
ร่างกายพอตายไป เราที่อยู่กับใจนี้ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เราก็จะไปเวียนว่ายตายเกิดต่อ ไม่ช้าก็เร็ว หลังจากที่ไปรับผลบุญผลบาปเสร็จแล้ว ใจก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ อย่างที่พวกเราเป็นอยู่ในขณะนี้
พอกลับมาก็กลับมาหาความสุขกันใหม่ ด้วยการกระทำที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง ทำบุญบ้าง ทำบาปบ้าง ก็เลยทำให้เรามีบุญมีบาปที่จะต้องไปรับใช้ต่อ เพราะว่าใจของพวกเรานี้มีเหตุที่ดึงให้พวกเรานี้ไปเวียนว่ายตายเกิดกัน เหตุก็คือความอยากต่างๆ เช่น ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส อยากดูอยากฟัง อยากดื่ม อยากรับประทาน อยากลิ้มรสดมกลิ่น แล้วก็อยากมีแฟน อยากหาความสุขจากร่างกายของคนอื่น อยากร่ำอยากรวย อยากให้มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ ความอยากเหล่านี้ถ้ามีอยู่ในใจ ก็จะเป็นผู้ที่ผลักดันให้ใจนี้ไปเกิดอยู่เรื่อยๆ
พอร่างกายนี้ตายไป ใจก็จะไปหาร่างกายอันใหม่ ก่อนจะได้ร่างกายอันใหม่ ก็ต้องไปรับผลบุญผลบาปก่อน หลังจากนั้นก็มาเกิดใหม่ ก็จะเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าจะได้มาพบกับคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ผ่านทางพระธรรมคำสอน หรือผ่านทางพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้น หลังจากตรัสรู้แล้วก็จะประทับอยู่ไม่ได้นาน เช่น พระพุทธเจ้าของพวกเรา ก็ทรงประทับอยู่จนอายุครบ ๘๐ พรรษา ก็ต้องเสด็จดับขันธปรินิพพานไป
แต่คำสอนของพระพุทธเจ้านี้ ยังอยู่ในใจของพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ที่จะนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้พวกเรารู้จักสถานภาพของพวกเราว่า พวกเรานี้เป็นนักท่องเที่ยวในไตรภพ ในสังสารวัฏ ในโลกที่มีแต่การเวียนว่ายตายเกิด เกิดมากี่ครั้งก็ต้องเจอความแก่ ความเจ็บ และความตายทุกครั้งไป ถ้าไม่อยากที่จะกลับมาเกิด ไม่อยากจะมาเจอกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ต้องปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติอยู่ ๓ ขั้นตอนด้วยกัน
ขั้นที่ ๑ ก็คือ ละการกระทำบาปทั้งปวง ต้องถือศีล ๕ กันให้ได้ อย่างน้อยต้องถือศีล ๕ แล้วก็สร้างบุญสร้างกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม ด้วยการทำบุญชนิดต่างๆ ที่มีแสดงไว้ในบุญกิริยา ๑๐ ประการด้วยกัน ทำบุญ กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล มีสัมมาคารวะ ฟังเทศน์ฟังธรรม อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นการสร้างบุญสร้างกุศลชนิดต่างๆ เพื่อที่จะได้สนับสนุนส่งเสริม ให้จิตได้ขึ้นสู่ระดับของพระอริยบุคคลต่อไป
โดยเฉพาะบุญที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นบุญที่สำคัญ เพราะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ เป็นเหมือนกับแผนที่ ที่จะพาให้ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติ ได้เดินออกจากโลกของการเวียนว่ายตายเกิด ได้ออกจากสังสารวัฏ ออกจากไตรภพ เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน
หลังจากที่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว ก็จะรู้ว่าต้องมาชำระความอยากต่างๆ กิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป ด้วยการเจริญศีล สมาธิ และปัญญา ศีลก็ต้องเพิ่มจากศีล ๕ ขึ้นไปเป็นศีล ๘ หรือศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ เพื่อจะได้มีกำลังสนับสนุนในการเจริญภาวนา คือสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา สอนให้จิตใจมีความสงบ มีอุเบกขา จิตใจไม่วุ่นวาย ส่ายแส่ไปกับอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆ แล้วก็สอนให้เกิดปัญญา ด้วยการเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของธรรมชาติ
ถ้าใครไปยึดครอง ไปครอบครองเอาไว้ ก็จะต้องทุกข์ขึ้นมา เพราะจะต้องสูญเสียสิ่งต่างๆ ที่ไปยึดไปครอบครองมานั่นเอง ถ้าเห็นด้วยปัญญาก็จะละความอยากต่างๆ ได้หมดสิ้น พอกิเลสตัณหาได้ถูกกำจัดโดยปัญญาอย่างสิ้นเชิงแล้ว จิตใจก็จะไม่มีผู้ที่จะผลักดันหรือดึงจิตใจให้ไปเกิดอีกต่อไป จิตก็จะตั้งอยู่ในพระนิพพาน สถานที่มีแต่ความสุข ที่เรียกว่า “ปรมัง สุขัง” ไปตลอดอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะจิตของพวกเราทุกคน ไม่มีวันตาย แต่มีทางไปอยู่ ๒ ทาง คือไปสังสารวัฏ ไปเวียนว่ายตายเกิด หรือไปพระนิพพาน
การจะไปพระนิพพานได้ ต้องมาพบกับพระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ก็เหมือนกับไม่มีแผนที่นำทาง ไม่มีแผนที่ก็ไม่รู้ว่าพระนิพพานนี้อยู่ทิศไหน ทางไหน ต้องมีแผนที่นำทาง จึงต้องมาเกิดในโลกของมนุษย์นี้ และได้พบกับพระพุทธศาสนา อย่างที่พวกเราทุกคนได้มาพบกันในภพนี้ชาตินี้ ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล เป็นโชคมหาศาลของพวกเรา ที่เราจะได้มีโอกาสหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ หลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หลุดพ้นจากการพลัดพรากจากกันได้อย่างถาวร
ดังนั้นในภพนี้ชาตินี้ สิ่งที่เราควรจะกระทำกันก็คือ หมั่นศึกษาพระธรรมคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ เมื่อฟังแล้วก็น้อมนำเอาไปปฏิบัติ ๓ ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ ทำทานทำบุญ รักษาศีล แล้วก็ภาวนา ฝึกนั่งสมาธิ พิจารณาปัญญาให้เห็นไตรลักษณ์ ถ้าสามารถปฏิบัติอย่างนี้ได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงรับประกันไว้ว่า ถ้าไม่ ๗ วัน ก็ ๗ เดือน ถ้าไม่ ๗ เดือนก็ ๗ ปี จะต้องหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นขอให้พวกเราจงมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งทรงสอน และน้อมนำเอาไปปฏิบัติ แล้วประโยชน์สุขอันสูงสุด คือการหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็จะเป็นของท่านทุกคน อย่างแน่นอน การแสดงก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา ก็จะขออนุโมทนาให้พร
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย