Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SPRiNG news
•
ติดตาม
23 ต.ค. 2022 เวลา 08:00 • ธุรกิจ
ปมควบรวมทรู-ดีแทค กสทช.มีไว้ทำไม (มีอำนาจอนุมัติ หรือมีหน้าที่แค่รับทราบ)
ในแถลงการณ์ของ กสทช. ต่อกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค มติของเสียงข้างมากที่ชนะโหวต ใช้คำว่า “รับทราบ” เพื่อบ่งบอกว่า กสทช. ไม่มีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติในกรณีนี้ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ก่อให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า กสทช.มีไว้ทำไม ?
ยังที่คงเป็นประเด็นร้อนที่ต้องติดตามกันต่อไป สำหรับการควบรวมทรู-ดีแทค แม้มติ กสทช. จะออกมาแล้ว เมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถ้าโฟกัสไปยังผลการลงมติ ในแถลงของ กสทช. จะใช้คำว่า “กสทช.มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมทรู-ดีแทค” โดยในที่ประชุมมีคณะกรรมการ กสทช. จำนวน 5 คน แบ่งออกเป็นกลุ่ม ได้ดังนี้
1. ชนะโหวต เพราะประธาน กสทช. ใช้สิทธิ์ดับเบิ้ลโหวต
กลุ่มชนะโหวต
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.
ต่อพงศ์ เสบานนท์
กลุ่มแพ้โหวต
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย
งดออกเสียง
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หน่ายเจริญ
การประชุมดังกล่าวใช้เวลานานถึง 11 ชั่วโมงกว่าจะได้ข้อยุติ โดยมีมติระหว่าง “รับทราบ” กับ “ไม่อนุญาต” 2 ต่อ 2 เสียง และ 1 งดออกเสียง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ จึงใช้สิทธิ์ดับเบิ้ลโหวต ในฐานะประธาน กสทช. ทำให้ “มติรับทราบ” กลายเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งในกรณีนี้อาจจะมีข้อถกเถียงต่อไปว่า ประธาน กสทช. สามารถทำได้หรือไม่
โดย นพ.ประวิทย์ ลีสถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยว่า ในอดีตเคยมีใช้สิทธิ์ดับเบิ้ลโหวต แต่คะแนนของทั้งสองฝ่ายจะต้องถึงกึ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ที่ประชุมมีผู้ลงมติ 6 คน แต่ละฝ่ายมีคะแนนเท่ากัน ฝ่ายละ 3 คะแนน ประธานจึงสามารถใช้สิทธิ์ดับเบิ้ลโหวตได้ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีคะแนนถึงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม แต่ในกรณีการโหวตควบรวมทรู-ดีแทคเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ทั้ง 2 ฝ่าย มี 2 เสียง ไม่มีฝ่ายใดคะแนนถึงกึ่งหนึ่งของที่ประชุม ซึ่งมีทั้งหมด 5 เสียงเลย
2. ในกรณีของทรู-ดีแทค กสทช. มีอำนาจอนุมัติให้ควบรวบกิจการหรือไม่ ?
ตามที่ได้เกริ่นไว้ มติเสียงข้างมาก กสทช. คือ รับทราบการควบรวมทรู-ดีแทค แต่สำหรับมติที่แพ้โหวต ก็ไม่ได้ใช้คำว่า “ไม่รับทราบ” นะครับ แต่ใช้คำว่า “ไม่อนุญาต” การโหวตในครั้งนี้จึงสะท้อนให้เห็นปมความขัดแย้งทางความคิดของคณะกรรมการ กสทช. ในเรื่องอำนาจและหน้าที่ของ กสทช.
โดยกลุ่มชนะโหวต ที่ใช้คำว่า “รับทราบ” เพราะยึดประกาศ กสทช. ปี 2561 โดยมีนัยยะว่า กรณีควบรวมทรู-ดีแทค กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติ มีหน้าที่แค่รับทราบเท่านั้น และ กสทช. ก็ได้รับทราบแล้ว
ส่วนกลุ่มแพ้โหวตจะใช้คำว่า “ไม่อนุญาต” เพราะยึดประกาศ กสทช. ปี 2549 นัยยะก็คือ กสทช. มีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติการควบรวมทรู-ดีแทคก็ได้ และกลุ่มเสียงข้างน้อยก็ได้ใช้อำนาจ “ไม่อนุญาต”
ดังนั้นในกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค ประเด็นสำคัญจริงๆ จึงอยู่ที่ความขัดแย้งในเรื่องอำนาจการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน โดยอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ตัวเองไม่มีอำนาจ ส่วนอีกฝ่ายบอกว่าตัวเองมีอำนาจในการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน และเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ
สุดท้ายฝ่ายที่บอกตัวเองไม่มีอำนาจ ก็ชนะไป ซึ่งในเรื่องนี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ได้ระบุไว้ว่า “มันคือการเล่นกลทางกฎหมาย”
“ผลการลงมติครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ผมเองได้เคยคาดการณ์มาแล้วว่าจะมี “การเล่นกลทางกฎหมาย” ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจห้ามควบรวม ตามที่ผู้บริหารสำนักงาน กสทช. และ กสทช. บางคน มีท่าทีชี้นำมาโดยตลอด แม้ว่าศาลปกครองกลางได้เคยพิจารณาในคดีที่เกี่ยวข้องแล้วว่า กสทช. มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวมก็ได้”
และหากยึดตามข้อมูลข้างต้นของ ดร.สมเกียรติ ที่ระบุว่า ศาลปกครองกลางเคยพิจารณาแล้วว่า กรณีนี้ กสทช. มีอำนาจ ไม่ใช่มีหน้าที่แค่รับทราบเท่านั้น แต่ทำไมกรรมการส่วนหนึ่งของ กสทช. จึงพยายามยืนยันว่า ตัวเองไม่มีอำนาจในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน มีแค่หน้าที่ในการรับทราบเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ ปกป้อง จันวิทย์ ได้ตั้งข้อสังเกตอย่างเจ็บแสบว่า
“เราเคยแต่เจอเคสองค์กรต่างๆ ชอบขยายขอบเขตอำนาจตัวเองให้กว้างขวางขึ้น จนกระทั่งเคสควบรวมทรู-ดีแทค มาเจอองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. (ส่วนหนึ่ง) ตีมึนจำกัดขอบเขตอำนาจ (ที่ควรทำ) ของตัวเอง ปัดความรับผิดชอบ ลอยตัว ไม่ยอมทำงานหลักที่ตัวเองต้องทำ ประชาชนก็งงกันไปว่าจะมี กสทช. ไว้ทำไม”
3. ควบรวมทรู-ดีแทค ยังไม่จบ
ตามที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้กล่าวไว้ นี่คือการเล่นกลทางกฎหมาย ! แม้เสียงข้างมากจะระบุว่า “รับทราบ” แต่ผลของมันก็คือ การควบคุมทรู-ดีแทคได้รับไฟเขียวแล้ว เพราะองค์กรหลักที่ดูแลเรื่องนี้ไม่ได้คัดค้าน (อ้างว่าตัวเองไม่มีอำนาจ) เพียงแต่มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามที่แจ้งไว้ในแถลงการณ์
แต่ด้วยเรื่องนี้กระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก เพราะเดิมที่ตลาดด้านนี้ของไทยก็มีผู้เล่นหลักๆ แค่ 3 รายใหญ่ ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ก็ยังพอถ่วงดุลกันได้บ้าง ทำให้ที่ผ่านมาประชาชนได้รับผลประโยชน์ค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือไม่สูงมากนัก อีกทั้งมีโปรต่างๆ ให้เลือกมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันทางธุรกิจ
แต่หลังจากทรู-ดีแทค ควบรวมกันได้สำเร็จ ก็จะเหลือผู้แข่งขันเบอร์ใหญ่แค่ 2 รายเท่านั้น ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ถือว่าสุ่มเสี่ยงทำให้เป็นเกิดสภาพตลาดกึ่งผูกขาด จากธุรกิจ 3 ก๊ก เหลือเพียง 2 ก๊กที่ใหญ่มากในระดับครองตลาดด้านนี้ทั้งหมด
แล้วสมมตินะ สมมติว่า ทั้ง 2 ก๊กคิดว่า จะมาแข่งขันกันให้เหนื่อยให้เปลืองแรงทำไม มาร่วมมือกันกำหนดทิศทางของตลาดกันดีกว่า ประชาชนก็สูญเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล ดังนั้นแล้วที่ผ่านมา จึงมีผู้ที่พยายามคัดค้านเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก
หลังจากมีมติของ กสทช. ออกมา สภาองค์กรของผู้บริโภคก็ได้เตรียมขอให้ศาลปกครองคุ้มครองฉุกเฉิน และจะร้องต่อ ป.ป.ช. ให้วินิจฉัยว่ามติของ กสทช. เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
ดังนั้นแล้ว การควบรวมทรู-ดีแทค ยังไม่จบง่ายๆ ในเร็วๆ นี้ และจะยืดเยื้อออกไปอีกระยะ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ทั้งศาลปกครอง และ ป.ป.ช. 2 องค์กรอิสระที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นองค์กรที่ปลอดการครอบงำทางการเมืองและธุรกิจ หรืออิทธิพลใดใด เพื่อให้เป็นองค์กลางที่รักษาความเป็นกลาง และรักษาผลประโยชน์อันชอบธรรมของประชาชน จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย