23 ต.ค. 2022 เวลา 14:29 • ข่าว
"มีระเบิด!!!" "ทุกคนอพยพ หนีเร็ว!! ไฟไหมมมมมม้ "
การสร้างสถานการณ์โดยบอกเล่าความเท็จ จนเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปแตกตื่น อาจเข้าข่ายความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานแกล้งบอกเล่าความเท็จ
มาตรา 384 “ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจกลัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือ คือ ผู้กระทำต้องรู้ว่าเรื่องที่บอกเล่าเป็น “ความเท็จ”
การแกล้งบอกเล่าไม่จำต้องเป็นการกระทำในที่สาธารณะเสมอไป การปล่อยข่าวลือในที่ต่าง ๆ โดยมีเจตนาให้ความเท็จนั้นแพร่หลายเล่าต่อ ๆ ให้เลื่องลือ และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจกลัว ปั่นป่วน ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ได้
เคยตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2517 ซึ่งตัดสินว่าเป็นความผิดฐานแกล้งบอกเล่าความเท็จ และยังเข้าข่ายการกระทำโดยทุจริต ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้หลอกลวง อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงด้วย คือ กรณีที่มีผู้ออกโทรทัศน์ว่าพระพรหมมาเข้าฝันว่าจะเกิดเหตุจลาจล ให้คนเกิดปีมะ ให้เร่งทำบุญสะเดาะเคราะห์กับเจ้าตัว จนคนจำนวนมากตื่นตกใจ หลงเชื่อ พากันมาออกเงิน เป็นความผิดตามมาตรา 384 และมาตรา 341 อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนด้วย
ความผิดที่คล้ายคลึงกัน ที่หลายคนอาจเคยได้ยินประกาศเตือนเมื่อขึ้นเครื่องบิน คือความผิดฐานก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จ ใน พ.ร.บ.ความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และการนั้นเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือผู้ที่อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินตื่นตกใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...”
ความผิดตามพ.ร.บ. ดังกล่าว มีองค์ประกอบของการกระทำคล้ายกับความผิดฐานแกล้งบอกเล่าความเท็จ ต่างกันที่เป็นการกระทำในท่าอากาศยาน และมีโทษสูงกว่าการกระทำในที่สาธารณะทั่วไป
หมายเหตุ: ในสนามสอบอัยการผู้ช่วย (สนามใหญ่) ปี 2563 เคยนำความผิดฐานแกล้งบอกเล่าความเท็จไปแต่งเป็นข้อเท็จจริงในข้อสอบ ที่ว่า “การที่นายเก่งปล่อยข่าวลือในสถานที่ต่าง ๆ ของจังหวัดตราดว่า จังหวัดตราดมีคนติดเชื้อไวรัสโควิด และถึงแก่ความตาย ทำให้คนในจังหวัดตื่นตกใจ กักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งข่าวลือดังกล่าวเป็นความเท็จ เป็นการกระทำโดยมีเจตนาแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือ จนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384”
อ้างอิง
- สหรัฐ กิติ ศุภการ, หลักและคำพิพากษากฎหมายอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 12 (กรุงเทพฯ:
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2565), 824-825.
โฆษณา