23 ต.ค. 2022 เวลา 16:16 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Black Adam
.
‘จุดยืนความยุติธรรมของฮีโร่ตกยุคกับโลกสมัยใหม่’
.
เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเนื้อเรื่องนะครับ
.
สำหรับผู้ที่ได้รับชม Black Adam มาแล้วจะเห็นได้ว่า Black Adam นั้น เกิดขึ้นเมื่อ 5,000 ปี ที่แล้วในประเทศไกลปืนเที่ยงอย่าง Kahndaq ซึ่งสภาวะการก่อกำเนิดของ Black Adam นั้น ถูกรายล้อมไปด้วยสภาพสังคมที่ไร้ความศิวิไลซ์ เป็นสังคมระบบทาส แรงงาน และการถูกกดขี่โดยผู้มีอำนาจ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีกระบวนการยุติธรรม การฆ่าคนจึงเป็นเรื่องธรรมดา การเกิดขึ้นของ Black Adam ท่ามกลางสภาวะเหล่านั้นในฐานะที่เป็นแรงงานทาสจึงเป็นจุดยืนตั้งต้นของเขาที่มีผลต่อมุมมองความคิดในเรื่องความยุติธรรม
.
Black Adam ถูกเฉลยตั้งแต่ 30 นาทีแรกของเรื่องเลยว่าเป็นฮีโร่ที่มีความ ‘เทา’ เขาเล่นฆ่าคนแบบไม่ปราณี แต่ปกป้องคนที่ตัวเองคิดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำให้ตัวละครอย่าง Black Adam ถูกนำเสนอให้เราเข้าใจว่าเขาก็มีความดี มีเหตุผล สามารถแยกถูกแยกผิดได้ แต่ผู้กระทำผิดในสายตาของเขาจะถูกจัดการในรูปแบบของเขาซึ่งคือการ ‘ฆ่า’
.
การตื่นขึ้นมาในรอบ 5,000 ปี ของ Black Adam นอกจากจะนำมาซึ่งฮีโร่ หรือเทพผู้ปกป้อง Kahndaq แล้ว Black Adam ยังนำ ‘ความยุติธรรมในแบบของเขา’ กลับมาจากอดีตด้วย แน่นอนว่า 5,000 ปีก่อน แม้จะมีสิ่งที่ผู้คนเรียกว่า ‘ความยุติธรรม’ แต่มันไม่มี ‘ระบบยุติธรรม’ ที่เป็นขั้นเป็นตอนในสมัยปัจจุบัน ไม่มีสืบสวน สอบสวน ไม่มีการพิพากษา ไม่มีการตัดสินว่าควรลงโทษอย่างไรกับผู้กระทำผิด ไม่สนใจกระบวนการในการนำเอาผู้กระทำผิดไปลงโทษ แต่มุ่งสนใจ ‘ผลลัพธ์’ สุดท้ายของกระบวนการคือ ‘การลงโทษ’
.
เมื่อไม่มีระบบยุติธรรม ประชาชนใน Kahndaq ก็มุ่งสนใจแค่ผลเท่านั้น กล่าวคือสนใจแค่ ‘ความยุติธรรม’ ว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นมันยุติธรรมหรือไม่ ระบบทาสที่ให้พวกเขาค้นหาแร่ Etherium แต่สิ่งที่ได้รับตอบแทนคือความตายนั้นสมควรหรือไม่ ซึ่งนั่นคือเงื่อนไขแห่งการเรียกหาความยุติธรรมของประชาชนชาว Kahndaq พวกเขาไม่ได้เรียกร้องกระบวนการที่พวกเขาสมควรได้รับ แต่เรียกร้องอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาได้รับความยุติธรรมในผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย พวกเขาต้องการ ‘ฮีโร่’ และพวกเขาก็ได้ ‘Black Adam’
.
Black Adam เป็นทั้ง ‘ฮีโร่’ และ ‘ความยุติธรรม’ ของชาว Kahndaq สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ฮีโร่ทั่ว ๆ ไปทำ นั่นคือการปกป้องผู้ไร้อำนาจ จากผู้กดขี่ ปกป้องผู้ไร้หนทางสู้จากพลังที่เหนือกว่า แต่สิ่งที่ Black Adam ทำคือการฆ่าแบบไม่ปราณี แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญที่ชาว Kahndaq จะนำมาใส่ใจ พวกเขาไม่ได้ตั้งคำถามว่าการกระทำของ Black Adam ถูกหรือไม่ แต่หากการกระทำนั้นทำให้ชา Kahndaq ถูกปลดปล่อยก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว
.
การปรากฎตัวของ Black Adam ที่ได้นำแนวความคิดเรื่องความยุติธรรมของเขากลับมาด้วยนั้นทำให้มันมีความขัดแย้งกับระบบโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยระบบยุติธรรม วายร้ายจะไม่ถูกฆ่าแต่จะถูกนำมาขัง ดังนั้นในประเด็นนี้ Black Adam ไม่ใช่ฮีโร่ที่ตกยุคในแง่ของพลัง คอสตูม หน้าตา แต่ตกยุคในจุดยืนที่มีต่อความยุติธรรม
.
เมื่อมีแนวความคิดสมัยก่อน โผล่ขึ้นมาโจมตีแนวความคิดสมัยใหม่ จึงเกิดความขัดแย้งของสองขั้วความคิดแม้จะหวังผลลัพธ์อย่างเดียวกัน เมื่อความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นก็จะต้องมีการหาจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งนี้ นี่จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการปรากฎตัวของ ‘Justice Society’ เหล่าทีมฮีโร่ที่ปกป้องความอยุติธรรมให้แก่โลก ที่ไม่เห็นด้วยกับความยุติธรรมในแบบของ Black Adam
.
โดยเฉพาะตัวละครอย่าง Hawkman ที่เคร่งในความยุติธรรม และเชื่อในกระบวนการสูงทัดฟ้า แม้เขาจะแยกถูกผิด คนดีคนเลวออกจากกันได้ แต่เขาไม่เห็นด้วยแบบสุดโต่งกับการฆ่าคนเลวโดยไม่ผ่านกระบวนการ (ตรงนี้แอบมีคำพูดของเขาในหนังด้วย) เขาจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระทำของ Black Adam
.
จุดยืนความยุติธรรมของ Hawkeye น่าสนใจมากครับ ผมว่าหากเทียบกับ Marvel เขามีความคิดในเรื่องนี้คล้าย ๆ Tony Stark อยู่บ้าง ในเรื่อง Captain America 3 : Civil War จะเห็นได้ว่า Tony สนับสนุนการอยู่ภายใต้บังคับของ ‘สัญญาโซโคเวีย’ ที่จะจำกัดอำนาจการใช้พลัง และการกระทำต่าง ๆ ของทีม Avengers เอาไว้
.
ซึ่งเห็นได้ว่าเขาสนใจกระบวนการยุติธรรมในเชิงระบบด้วย แต่ต่างจาก Captain America ที่มองว่าการจำกัดอำนาจเช่นนี้จะทำให้ Avengers ไม่สามารถเข้าช่วงเหลือผู้ประสบภัย หรือยับยั้งสถานการณ์ใหญ่ ๆ ได้ทันเวลา ซึ่งกัปตันได้มองที่ผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ
.
ลองเทียบกันดูครับว่ามันจะมีความคล้ายกันระหว่าง Black Adam กับ Justice Society และ Captain America กับ Tony Stark ที่ต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนในมุมมองของความยุติธรรมต่างกัน (แอบ Joke ตรงที่ Black Adam กับ Captain เป็นคนตกยุคเหมือน ๆ กัน)
.
สำหรับโลกแล้ว Black Adam จึงเป็นเหมือนฮีโร่นอกคอก ศาลเตี้ย ที่ไม่เข้าใจระบบความยุติธรรมของโลก เขาตัดตอนกระบวนการยุติธรรมด้วยการ ‘ฆ่า’ คนที่เขาเห็นว่าเป็นคนเลว
.
หากมองในมุมโลกปัจจุบันคือ หากมีผู้กระทำผิดขึ้นไม่ว่าจะร้ายแรงแค่ไหน คุณสามารถลงโทษด้วยตัวคุณเองได้ ไม่จำเป็นต้องแจ้งความ สอบปากคำ สืบพยาน ตามกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด แต่ในเมื่อสังคมมีความเป็นพลวัต และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ประชาชนเห็นว่าเราควรสละอำนาจในการใช้กำลังให้แก่ผู้ปกครองหรือรัฐ เพื่อไม่ให้มนุษย์กลับไปใช้สัญชาติญาณดิบของตัวเอง จึงจำเป็นต้องสร้างกระบวนการต่าง ๆ ที่งดเว้นการใช้กำลังของมนุษย์ (ตรงนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ผมเขียนไว้ในบทความ : เหตุใดผู้ปกครองถูกจำกัดอำนาจโดยประชาชน)
.
แต่ถ้าหากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่มันไม่สามารถปกป้องชาว Kahndaq จากความอยุติธรรมได้หละ ???
.
Kahndaq ถูกนำเสนอให้เป็นเมืองที่อยู่นอกสายตาของกระบวนการยุติธรรม ชาว Kahndaq จะต้องทนทุกข์กับการรุกรานขององค์กรภายนอกที่เข้ามา โดยไม่ได้มีความยุติธรรม หรือฮีโร่คนใดมาปกป้องพวกเขา หรือมาจัดการเรื่องดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ฮีโร่มามากมายแทบทั่วทั้งโลก มันจึงเกิดความ ‘เหลื่อมล้ำ’ ในโลกที่เต็มไปด้วยฮีโร่นี้ขึ้นมาครับ
.
จึงไม่แปลกใจว่าทำไมชาว Kahndaq จึงเห็นด้วยนักหนากับ Black Adam ยกย่องเขาเป็นเทพผู้ปกปักษ์ เพราะเขาเป็นฮีโร่คนเดียวที่ช่วยปลดโซ่ตรวนที่ขังความอิสระของชาว Kahndaq ไว้มาเป็นเวลานาน ชาว Kahndaq ในปัจจุบันจึงไม่ต่างจาก 5,000 ปีก่อน ที่สนใจผลลัพธ์ของความยุติธรรมมากกว่าระบบยุติธรรมครับ
.
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม้โลกจะสร้างระบบความยุติธรรมไว้มากมายแค่ไหน แต่ระบบนั้นก็ไม่สามารถเข้าถึงทั่วทุกพื้นที่ได้อย่างเสมอภาคกันจึงเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำ และปัญหาดังกล่าวจึงต้องการการแก้ไข โลกต้องการฮีโร่ จึงได้ถือกำเนิด ‘Black Adam’ ขึ้นมา
.
นี่เป็นมุมมองส่วนหนึ่งของการเปรียบเทียบระหว่างความยุติธรรมของโลกเก่าและโลกใหม่ครับ และการนำความยุติธรรมจากโลกเก่ามาสู่โลกใหม่ผ่านการปรากฎตัวของ Black Adam ก็มีความน่าสนใจ และตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมของโลกใหม่ได้ค่อนข้างเยอะทีเดียว
.
อย่างไรก็ดีบทความทำนองเช่นว่าความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ยังเป็น Main Content ของ JUSTMAN อยู่เสมอไปครับ หากมีประเด็นไหนน่าสนใจในหนัง ซีรี่ส์ หรืออนิเมะเรื่องใดก็จะนำมาเขียนให้อ่านกันครับ และอยากให้เขียนประเด็นนี้เพิ่มเติมก็มาตั้งคำถาม หรือถกกันในคอมเม้นอย่างมีเหตุผลกันได้เลยครับ
โฆษณา