24 ต.ค. 2022 เวลา 09:41 • ข่าวรอบโลก
Land on Water🏝️
สถาปัตยกรรมลอยน้ำ
เมื่อฝนตก น้ำท่วม เริ่มเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นทุกปี แม้แต่ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวในประเทศไทย แต่ในหลายจังหวัดก็ยังมีพื้นที่น้ำท่วมขัง หลายปีที่ผ่านมาเมื่อถึงฤดูฝน ภาพอาคารบ้านเรือนจมน้ำในประเทศไทยก็ปรากฎขึ้นให้เห็นเป็นประจำ สำหรับในต่างประเทศ ปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้หลาย ๆ ประเทศ เริ่มมองหาทางเลือกอื่นในการใช้ชีวิตบนน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมลอยน้ำ โดยสถาปนิกในหลายประเทศ
💠โครงการ Copenhagen Islands เป็นโมเดลการออกแบบระบบสิ่งปลูกสร้างที่ลอยอยู่บนผิวน้ำในประเทศเดนมาร์ก ยังคงเป็นที่สนใจทั่วโลก โครงการนี้มีลักษณะเป็นเหมือนหมู่เกาะที่ลอยอยู่ในบริเวณท่าเรือโคเปนเฮเกน โครงสร้างมีความยืดหยุ่นสูง เคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนขยับขยายได้ และยังสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการปรับใช้วัสดุพลาสติกที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ทุ่นจากอุตสาหกรรมประมง ขวดหรือพลาสติกเก่า และวัสดุอื่น ๆ มารีไซเคิลสร้างเป็นฐาน ในรูปแบบโมดูลาร์ (Modular) คือสามารถเชื่อมต่อฐานลอยน้ำได้อย่างไม่จำกัด
Copenhagen Islands ภาพจาก https://www.copenhagenislands.com
สามารถปรับเปลี่ยนต่อเติมรับน้ำหนักพื้นที่ได้ตามสิ่งปลูกสร้างด้านบน จะสร้างบ้านเรือน ชุมชน สำนักงาน อาคาร หรือสวนสาธารณะก็ออกแบบได้ตามความต้องการ ส่วนฐานด้านล่างที่ลอยอยู่ในน้ำ ออกแบบให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินสำหรับสัตว์ และพื้นใต้น้ำ ช่วยสร้างระบบนิเวศให้เจริญเติบโตและแข็งแรง
การก่อสร้าง "Parkipelago" บนเกาะลอยน้ำนี้ นอกจากจะใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบแล้ว ยังมีส่วนประกอบที่เป็นเหล็กและวัสดุลอยตัวหุ้มด้วยไม้ที่ผ่านการรับรองจากองค์การจัดการด้านป่าไม้ (Forest Stewardship Council : FSC) ออกแบบโดยใช้เทคนิคการต่อเรือไม้แบบดั้งเดิม นอกจากสวนสาธารณะแล้ว สถาปนิกยังออกแบบให้บนเกาะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ซาวน่าลอยน้ำ คาเฟ่ และหมู่เกาะต่าง ๆ ยังสามารถเคลื่อนย้ายไปยังจุดอื่น ๆ ในช่วงฤดูร้อน เพื่อใช้ทำกิจกรรม เช่น ตกปลา นอนอาบแดด พายเรือคายัค และว่ายน้ำรอบเกาะ
💠โครงการ "Little Island" สวนสาธารณะลอยน้ำใน Hudson River Park เป็นอีกโครงการที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ความแออัดในชุมชนที่ต้องการสถานที่พักผ่อนแต่ขาดแคลนพื้นที่ และเป็นโอเอซิสแห่งมหานครนิวยอร์ก "Little Island" สวนสาธารณะขนาดพื้นที่ 11,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่กลางแม่น้ำฮัดสันแต่สามารถเดินเชื่อมจากแผ่นดินได้
การออกแบบสถาปัตยกรรมโดยปรับเปลี่ยนซากท่าเรือเก่า Pier 54 ซึ่งในอดีตเคยเป็นท่าเทียบเรือของบริษัท White Star Line เจ้าของเรือไททานิก และเป็นท่าเรือที่เคยถูกพายุเฮอริเคนถล่มจนเสียหาย ให้กลับกลายเป็นแลนด์มาร์ก เพื่อคืนชีวิตชีวาให้กับมหานครนิวยอร์กอีกครั้ง
Little Island
สวนสาธารณะรูปทรงโค้งมนของใบไม้ที่ชูก้านลอยอยู่เหนือผืนน้ำ โดยรูปทรงดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจาก "ดอกทิวลิป" โครงสร้างเสาทำจากคอนกรีตหล่อสำเร็จรูป เสาแต่ละต้นมีความสูงไม่เท่ากัน โดยบริเวณมุมสวนถูกยกให้สูงกว่าด้านอื่น ๆ เพื่อให้แสงอาทิตย์เข้าถึง และยังมีส่วนของกิจกรรมประกอบด้วยอัฒจันทร์ขนาด 700 ที่นั่ง รายล้อมไปด้วยต้นไม้ และจำลองให้มีลักษณะเหมือนเนินเขา โดยมีแบ็กกราวนด์ของเวทีเป็นภาพพระอาทิตย์ตกลงในแม่น้ำฮัดสัน และอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ
นอกจากนี้ การสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวน้ำในรูปแบบ Houseboat ก็เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น Houseboat Svendborgsund เรือนแพหรูหราที่ใช้พลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ ลอยลำอยู่ในช่องแคบเดนมาร์ก
Houseboat Svendborgsund
Land on Water และสถาปัตยกรรมลอยน้ำ อาจเป็นทางเลือกสำหรับเมืองที่กำลังวางแผนพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม และแก้ปัญหาซ้ำซากของชุมชนลอยน้ำตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้น ในอดีตเราก็คุ้นชินกับวิถีชีวิตริมแม่น้ำ และอยู่อาศัยด้วยเรือนแพ เมื่อปัจจุบันต้องปรับตัวตามสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงด้วยภัยธรรมชาติ การถอดบทเรียนจากวิถีชนถิ่นริมน้ำ มาพัฒนาร่วมกับ "สถาปัตยกรรมลอยน้ำ" แบบร่วมสมัย อาจเป็นทางเลือกในอนาคตสำหรับประเทศไทย
โฆษณา