24 ต.ค. 2022 เวลา 17:18 • ข่าวรอบโลก
ชิปจาก TSMC ใช้ในทุกสิ่งตั้งแต่รถยันมือถือ ทว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างช่องแคบไต้หวัน อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างคาดเดาไม่ได้
เฮลิคอปเตอร์ทางทหารซึ่งผูกธงชาติไต้หวันไว้กำลังบินอยู่เหนือเกาะไต้หวัน ดินแดนซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่อ้างสิทธิเป็นของตนเอง (Ceng Shou Yi/NurPhoto via Getty Images)
ชิปจาก TSMC ใช้ในทุกสิ่งตั้งแต่รถยันมือถือ ทว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างช่องแคบไต้หวัน อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างคาดเดาไม่ได้
ข้ามช่องแคบไต้หวันไป มีเกาะแห่งหนึ่งที่ชื่อของที่นั่นคือชื่อเดียวกันกับช่องแคบ เราเรียกว่า ไต้หวัน สถานที่ซึ่งมีความคลุมเครือในสถานะทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัท TSMC บริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
ความสำคัญของ TSMC ไม่ใช่แค่การผลิตชิปจำนวนมหาศาลตามออร์เดอร์อย่างเดียว แต่ด้วยกรรมวิธีการผลิตชิปขั้นสูงพร้อมกันจำนวนมาก ๆ ในปริมาณที่ไม่มีบริษัทไหนจะทำได้ทัดเทียมเท่า ดังนั้นหาก TSMC เป็นอะไรไป การผลิตสินค้าที่พึ่งชิปทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถหรือโน้ตบุ๊ค จะต้องหยุดชะงักลง
ภัยที่ใกล้ที่สุดของ TSMC ไม่ใช่อื่นใด นอกจากความเสี่ยงในการเปิดฉากบุกไต้หวันของจีนแผ่นดินใหญ่ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อยู่บนขอบเหวของการเปิดฉากรุกรานนั้นถูกคาดการณ์กันไว้ที่ล้านล้านเหรียญทีเดียว
<<< TSMC คืออะไร >>>
โรงงาน TSMC ในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน (VCG/VCG via Getty Images)
แม้ชื่อ TSMC จะไม่ใช่ชื่อสามัญประจำบ้านที่เราจะได้ยินกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ เวลาที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่คุณกำลังใช้อ่าน มีโอกาสสูงมากที่จะใช้ชิปจาก TSMC !
TSMC ย่อมาจาก Taiwan Semiconductor Manufacturing Company เป็นบริษัทรับผลิตชิป ซึ่งรับผลิตชิปให้กับบริษัทอื่นตามออร์เดอร์ที่เข้ามา เกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดสารกึ่งตัวนำโลก (global semiconductor market) พึ่งพาชิปจากที่นี่ และยิ่งไปกว่านั้นสำหรับชิปขั้นสูง (advanced processors) ซึ่งใช้ชิปจากที่นี่ถึง 90%
1
สถิติที่น่าสนใจ คือ เทคโนโลยีการผลิตของ TSMC นั้นสำคัญขนาดที่ว่า ชิปที่ดีที่สุด SMIC บริษัทผลิตชิปชั้นนำจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยังตามหลังชิปของ TSMC ถึง 5 ปี
ลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดของ TSMC คือบริษัทแอปเปิลซึ่งผลิตโทรศัพท์ชื่อดังอย่าง iPhone และชิปกว่า 1,400 ล้านชิ้นที่ใช้ในสมาร์ทโฟนก็มาจากที่นี่ เช่นเดียวกับชิปที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งพึ่งพาชิปจาก TSMC ประมาณ 60%
นอกจากเทคโนโลยีที่ใช้ในครัวเรือนแล้ว ชิปจาก TSMC ยังใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ที่ใช้ประมวลผลและนำวิถีขีปนาวุธด้วย เรื่องนี้ทำให้ TSMC มีค่าเป็นอย่างยิ่งในสายตาของรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ
ตลาดการผลิตชิปนั้นเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly market) เช่นเดียวกับตลาดผู้ให้บริการมือถือในประเทศไทย แต่ต่างตรงที่ TSMC นั้นมีสัดส่วนในตลาดการผลิตชิป (เรียกให้ถูกคือตลาดสารกึ่งตัวนำ) ถึงราว 50% เลยทีเดียว
การผลิตชิปนั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีราคาแพง ที่ใช่ว่าใครหรือบริษัทใดนึกจะผลิตก็ทำได้ โรงงานผลิตชิปแต่ละแห่งนั้นมีมูลค่าหลักพันล้านเหรียญ มันไม่ใช่อะไรที่คุณนึกจะทำวันนี้พรุ่งนี้ก็ไปทำ ดังนั้นความสามารถในการครอบครองตลาดของ TSMC ก็ยังคงดำเนินต่อไป บทบาทของที่นี่อาจลดลง แต่ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้แน่นอน
<<< ทำไมต้องผลิตชิปที่ไต้หวัน (TSMC) >>>
การทดลองชิปในแล็บที่ไต้หวัน (Ann Wang/Reuters)
รากฐานของอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ นั้นอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยที่สหรัฐฯ เองเป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ กระนั้นเองการผลิตสารกึ่งตัวนำส่วนใหญ่กลับอยู่ที่ไต้หวัน
กว่าสามสิบปีที่ผ่านมา บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลายแห่งต่างได้ข้อสรุปว่า พวกเขาจะได้ประโยชน์และกำไรมากที่สุด เมื่อพวกเขาผลิตชิปด้วยการจ้างบริษัทรับผลิต หรือที่เรียกว่าการเอาท์ซอร์ส (outsource)
1
ภาระและค่าใช้จ่ายในการผลิตชิปนั้นลดลงเมื่อใช้วิธีเอาท์ซอร์ส โดยเฉพาะการจ้างผลิตในประเทศที่มีค่าแรงและข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมต่ำ สิ่งที่ต้องทำก็มีแค่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำในประเทศตัวเอง และการดูแลการขาย การตลาด
ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง ที่ทำให้ TSMC เติบโต และครองส่วนแบ่งตลาดการผลิตส่วนมากไปในที่สุด กลับกันสำหรับสหรัฐฯ เจ้าแห่งเทคโนโลยี โดยในปี 1990 สหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งซัพพลายชิประดับสากลที่ 37% แต่ทุกวันนี้เหลือเพียง 12% เท่านั้น
<<< ปัญหาคืออะไร >>>
เรือขนส่งสินค้าลอยลำรอเทียบบริเวณท่าเรือที่คับคั่งในลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (Mike Blake/REUTERS)
สถานการณ์โควิดและสงครามในยูเครนเป็นตัวอย่างที่ดีว่าเราไม่ควรพึ่งพาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไป ด้วยเหตุนี้เจ้าแห่งเทคฯ อย่างสหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะ ‘ลดการพึ่งพา’ ด้วยการย้ายการผลิตบางส่วนกลับมายังบ้านเกิด วิธีนี้เองที่จะทำให้ซัพพลายเชนด้านชิปนั้นมีความยืดหยุ่นขึ้น
กระนั้นเองสถานการณ์ยังมีความกดดัน ความเปราะบางในการเข้าถึงชิป TSMC ของสหรัฐฯ กำลังเป็นที่กังวล เพราะแม้ TSMC จะตั้งอยู่ในไต้หวัน ดินแดนซึ่งปกครองตนเอง แต่ไซร้ถูกอ้างสิทธิโดยรัฐบาลปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราพิจารณาถึงเป้าหมายของสี จิ้นผิง ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นสมัยที่สาม
หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของนายสี คือการบรรลุ ‘การฟื้นฟูครั้งยิ่งใหญ่’ ภายในปี 2049 ซึ่งเป็นการครบรอบร้อยปีสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการเข้าควบคุมไต้หวันก็เป็นหนึ่งในแผนการหลักของเป้าหมายนี้ด้วย
ผลกระทบจากความเป็นไปได้ในการเปิดฉากบุกไต้หวันนั้นเป็นเรื่องใหญ่ แต่สิ่งสำคัญที่สำคัญคือ มันจะเกิดขึ้นตอนไหน? ไม่ว่าจะเป็นภายในสิบปี ยี่สิบปี หรือสิ้นปี เรื่องเหล่านี้คาดการณ์ไม่ได้ แต่ก็พอจะดูออกว่าจะ ‘มาเร็วกว่าปี 2049’
4
สหรัฐฯ เองก็เตรียมการกรณีเกิดการเปิดฉากรุกรานไว้บ้างแล้ว อย่างเช่นการพิจารณาอพยพวิศวกรมากฝีมือของ TSMC ออกไปในกรณีเกิดเหตุเช่นว่า
จะเรียกสถานการณ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงนี้ว่า ‘สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ’ ก็คงไม่ผิดนัก แม้ผลกระทบเรื่องชิปจะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญหากเกิดขึ้นจริง แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าความโยงใยและซับซ้อนในระดับสากลของซัพพลายเชนด้านชิปนั้นก็จะพาชาติและบริษัทอื่นมีปัญหาตามไปด้วย
<<< กรณีที่จีนเปิดฉากบุกไต้หวันจริงจะเป็นอย่างไร >>>
ขบวนพาเหรดกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (Alexander Vilf - Host Photo Agency via Getty Images)
ไต้หวันเองก็คาดหวังว่าความสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตชิปของตนจะช่วยปกป้องตนเองจากการรุกรานได้ ผู้นำของไต้หวันยังเคยกล่าวว่าอุตสาหกรรมชิปของตนคือ ‘เกราะซิลิคอน’ ซึ่งปกป้องตนจากการรุกราน
แต่ถ้าจีนตัดสินใจเปิดฉากบุก ความสามารถในการเข้าถึงชิปของไต้หวันจากทั่วโลกจะต้องถูกหยุดชะงักลง ชิปซึ่งเปรียบดั่งออกซิเจนที่เศรษฐกิจโลกใช้หายใจ เมื่อขาดไป ก็หายใจไม่ได้ เมื่อนั้นเศรษฐกิจโลกก็ต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีการประมาณการกันไว้ถึงล้านล้านเหรียญทีเดียวสำหรับตัวเลขความสูญเสีย
รมต.พาณิชย์ ของสหรัฐฯ เองก็บอกในเดือนกรกฎาคมว่า สหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ทั้งรุนแรงและทันที หากภาคธุรกิจของตนไม่สามารถเข้าถึงชิปของไต้หวันได้
ปัญหาการเข้าไม่ถึงชิปของไต้หวัน สหรัฐฯ นับว่าเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ ซึ่งในปัจจุบัน บรรดาเทคโนโลยีทางการทหารที่สหรัฐฯ ใช้งานอยู่ ต่างพึ่งพาชิปเป็นจำนวนมากจากที่นี่ทั้งนั้น หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการบำรุงรักษา พัฒนา หรือสร้างอาวุธทั้งนั้น
จีนเองมองเห็นช่องว่างนี้ดี และก็มีความพยายามในการเข้าไปลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีไต้หวัน และดึงตัวแรงงานเข้าไปเป็นของตน นอกจากการรุกรานแบบเต็มรูปแบบแล้ว จีนก็ยังสามารถใช้วิธี ‘ปิดล้อม’ เกาะไต้หวัน ได้อีกด้วย วิธีนี้จะเป็นการปิดและตัดขาดอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำของไต้หวันจากทั้งโลก
<<< มีทางออกรึเปล่า >>>
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังถือรัฐบัญญัติชิป (CHIPs Act) ที่พึ่งลงนามไปในเดือนสิงหาคม (SAUL LOEB/AFP via Getty Images)
สหรัฐฯ เจ้าแห่งเทคฯ เล็งเห็นถึงปัญหานี้ดี และต้องการลดการพึ่งพาไต้หวันลง ในเดือนสิงหาคม สภาคองเกรสได้ผ่านรัฐบัญญัติชิป (CHIPS Act) ซึ่งประกอบไปด้วยการช่วยเหลือและยกเว้นภาษีเป็นจำนวนกว่า 53,000 ล้านเหรียญ เพื่อกระตุ้นการผลิตชิปในสหรัฐฯ
ปัญหาแรงงานทักษะสูงที่ต้องใช้ในการผลิตชิปเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องเติมเต็ม
หลายบริษัทกำลังเริ่มต้นการเปิดโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ เช่น Intel, Micron, Samsung และรวมไปถึง TSMC เอง
นอกจากนี้ TSMC ก็กำลังสร้างโรงงานใหม่ในญี่ปุ่น ที่โรงงานใหม่นี้จะใช้ในการผลิตชิปที่มีความซับซ้อนต่ำกว่าที่ผลิตบนเกาะไต้หวัน โดยชิปเหล่านี้จะใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งนี้ญี่ปุ่นเองก็มีสัญญาณว่าต้องการให้ TSMC เพิ่มกำลังการผลิตบนเกาะญี่ปุ่น เช่นเดียวกับการผลิตชิปขั้นสูงแบบเดียวกับที่ผลิตบนเกาะไต้หวันด้วย นี่เป็นอีกสัญญาณของความกังวลที่มีต่อปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ของไต้หวัน
แม้จะมีรัฐบัญญัติชิปหรือโรงงานเพิ่ม มันก็คงเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าโลกได้พ้นจากความเสี่ยงการขาดแคลนชิปแล้ว ทั้งการเปิดโรงงานผลิตชิปก็ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือที่เรียกได้ว่าขาดแคลนและมีจำกัด เพราะอะไรน่ะหรอ? เพราะว่าเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตต่างต้องใช้ชิปเป็นส่วนประกอบ ซึ่งชิปเองก็กำลังมีความขาดแคลนอยู่นั่นเอง (chip shortage) เรียกได้ว่าเป็นปัญหางูกินหางที่จะต้องแก้ไขกันต่อไป หากต้องการลดการพึ่งพาใครคนใดคนหนึ่ง ในกรณีนี้คือไต้หวันนั่นเอง
🔵🔴🟥🟦
<<< References >>>
โฆษณา