25 ต.ค. 2022 เวลา 05:24 • ข่าวรอบโลก
• จากลูกหลานชาวอาณานิคมสู่ผู้บริหารสูงสุดของประเทศเจ้าอาณานิคม
• พื้นเพของริชี สูนัก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร
1
ในเช้าวันอังคารที่ 25 ตุลาคมนี้ หลังจากที่ริชี สูนัก (Rishi Sunak) เข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 อย่างเป็นทางการที่พระราชวังบักกิงแฮม และออกมากล่าวคำปราศรัยที่หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่งในเวลาประมาณ 11:35 น. เขาจะกลายเป็น:
- นายกรัฐมนตรีผิวสีและนายกรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกของประเทศ
- นายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดของประเทศในรอบ 200 ปี ในวัยเพียง 42 ปี นับตั้งแต่วิลเลียม พิตต์ ผู้ลูก (William Pitt)
- นายกรัฐมนตรีที่นับถือศาสนาอื่นนอกจากศาสนาคริสต์ ( คือ ฮินดู) คนแรกของประเทศ
ด้วยประวัติคร่าว ๆ ที่สำนักข่าวต่าง ๆ โหมประโคมกันเช่นนี้จึงทำให้เกิดความสงสัยใคร่อยากรู้ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ผู้นี้มีพื้นเพเป็นมาอย่างไร
ริชี สูนัก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร (ภาพ: Mastkhabar.com)
• เทือกเถาเหล่ากอ
พื้นเพของสูนักมาจากครอบครัวผู้อพยพ เริ่มต้นจากอาณานิคมของอังกฤษที่อินเดียสู่อาณานิคมอังกฤษที่แอฟริกาตะวันออก และสุดท้ายก็อพยพมาลงหลักปักฐานสุดท้ายที่อังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่อาณานิคมในแอฟริกาตะวันออกแยกตัวเป็นเอกราช
เริ่มต้นที่บริติชอินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ปู่และตาของสูนักต่างเกิดที่เขตแคว้นปัญจาบ ซึ่งในเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของบริติชอินเดีย และในเวลานี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียและปากีสถาน
รามดัส สูนัก (Ramdas Sunak) ผู้เป็นปู่ มีพื้นเพมาจากกุจรานวาลา (Gujranwala) เมืองในเขตปัญจาบ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน ต่อมาปู่ได้อพยพไปทำงานเป็นเสมียนอยู่ที่เมืองไนโรบี (Nairobi) เมื่อปี 1935 ซึ่งเป็นเรื่องปกติในเวลานั้นที่เจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษจะ “ส่งออก” ชาวอาณานิคมอินเดียไปทำงานในอาณานิคมแห่งอื่นที่มีอยู่ทั่วโลกของจักรวรรดิอังกฤษ
จากนั้น สุฮัก รานี สูนัก (Suhag Rani Sunak) ผู้เป็นย่าก็อพยพจากเมืองเดลฮี (Delhi) ก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลตามมาสมทบสามีเมื่อปี 1937 ยัสวีร สูนัก (Yashvir Sunak) ผู้เป็นพ่อจึงเกิดและเติบโตขึ้นมาที่อาณานิคมอังกฤษที่เรียกกันว่าบริติชแอฟริกาตะวันออก (British East Africa) ซึ่งปัจจุบันคือประเทศเคนยา
ครอบครัวสูนัก (ภาพ: Mastkhabar.com)
ส่วนตาของเขา รักฮูบีร ซาอิน เบอร์รี (Raghubir Sain Berry) อพยพมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เก็บภาษีอยู่ที่แทงกานีกา (Tanganyika) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษที่แอฟริกาตะวันออก ปู่ถูกครอบครัวจับคลุมถุงชนให้แต่งงานกับยายซึ่งเป็นสาวน้อยวัย 16 ปีชื่อว่าสราชา (Sraksha) ซึ่งเกิดที่แทงกานีกา
ตากับยายของเขามีลูกด้วยกัน 3 คน อุชา (Usha) ผู้เป็นแม่จึงเกิดที่อาณานิคมอังกฤษในแอฟริกาตะวันออกเช่นกัน ซึ่งแทงกานีกาปัจจุบันกลายเป็นประเทศแทนซาเนีย
จากนั้นเมื่อปี 1966 ครอบครัวของตายายก็หอบลูกเต้าอพยพไปอยู่ที่อังกฤษ โดยเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มาจากการขายเครื่องประดับที่ได้จากการแต่งงานของยาย
เมื่อครอบครัวปู่ย่าตายายของสูนักต่างอพยพมาลงหลักปักฐานที่เมืองเซาท์แธมตัน (Southampton) ทางตอนใต้ของอังกฤษ ฝ่ายตาทำงานเป็นเจ้าพนักงานเก็บภาษีหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐ จึงทำให้ตามีชื่อเป็นหนึ่งในผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษยิ่งแห่งจักรวรรดิบริติช (Order of the British Empire) ชั้น MBE ประจำปี 1988
สูนักกับพ่อแม่ (ภาพ: instagram/rishisunakmp)
• เกิดและเติบโต
ที่อังกฤษ พ่อทำงานเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปประจำสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ส่วนแม่เป็นเภสัชกรและเปิดร้านขายยาเล็ก ๆ พ่อและแม่จึงได้พบกันที่นั่นและแต่งงานกัน และมีลูก 3 คน
ริชี สูนัก เป็นลูกคนแรก เขาเกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 1980 ที่เซาท์แธมตัน เขาเล่าว่าวัยเด็กของเขานั้นต้องแบ่งเวลาระหว่างการไปโบสถ์ฮินดูกับการไปเชียร์ฟุตบอลทีมโปรด นอกจากนี้เขายังช่วยงานในร้านขายยาของแม่ด้วย เขาจึง “เติบโตมาด้วยการเห็นพ่อแม่อุทิศตนรับใช้ชุมชนของเรา”
เขาเริ่มเรียนหนังสือในชั้นประถมที่โรงเรียนสเตราด์ (Stroud School) ของเอกชนที่เก็บค่าเล่าเรียนที่เมืองรอมซีย์ (Romsey) ที่ห่างจากเซาท์แธมตันประมาณ 11 กิโลเมตร ส่วนชั้นมัธยมเข้าเรียนโรงเรียนประจำชายเอกชนที่ห่างจากเซาท์แธมตันไปประมาณ 18 กิโลเมตร คือ วิทยาลัยวินเชสเตอร์ (Winchester College)
โรงเรียนนี้ถือว่าเก่าแก่ที่สุด มีระดับ และมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับโรงเรียนประจำชายอีตัน คนที่จะเข้าเรียนได้ต้องมาจากครอบครัวผู้มีอันจะกินหรือครอบครัวผู้ลากมากดี เพราะค่าเล่าเรียนแพงระยับ และเป็นโรงเรียนที่ผลิตชนชั้นนำของสังคม
ตัวอย่างของศิษย์เก่าที่วิทยาลัยวินเชสเตอร์ มีทั้งนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินที่มีชื่อเสียง แถมยังเป็นโรงเรียนที่ผลิตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษไม่น้อยกว่า 6 คน สูนักคือหนึ่งในนั้น (กรณ์ จาติกวณิช ก็คือผลผลิตของโรงเรียนนี้เช่นกัน)
ดูเหมือนว่าสูนักจะมีเส้นทางอาชีพที่สืบทอดมาทางสายเลือดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ จากปู่และตา และการที่เขาได้เข้าโรงเรียนประจำชายชั้นแนวหน้าของประเทศ(และของโลก)เช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากความเสียสละของพ่อแม่ที่เก็บสะสมเงินไว้เพื่อการศึกษาของลูก ที่โรงเรียน สูนักเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ประจำโรงเรียน และยังเป็นประธานนักเรียนที่วิทยาลัยวินเชสเตอร์ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้บุคลิกภาพในทางการเมืองและการเป็นผู้นำของเขา
ริชี สูนัก ในวัยเด็กกับพ่อแม่และน้อง ๆ (ภาพ: RISHI SUNAK/Express)
ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน สูนักไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่า เขาทำงานพิเศษเป็นบริกรในร้านขายแกงกะหรี่ที่เซาท์แธมตัน ช่วยงานที่บ้าน และที่ร้านขายยาของแม่ยังเป็นสถานที่ที่เขาเอาไว้เก็บหนังสือที่เขาอ่านด้วย
ถึงแม้จะเกิดและเติบโตที่อังกฤษ แต่การที่มีพื้นเพมาจากการเป็นผู้อพยพ จึงทำให้เขามีประสบการณ์ถูกเหยียดเชื้อชาติบ้างเล็กน้อย เหตุการณ์ที่เขาจดจำตลอดเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่เขาเข้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดกับน้อง ๆ แล้วเขาได้ยินลูกค้าบางคนเรียกพวกเขาโดยใช้คำเรียกที่เหยียดเชื้อชาติ
สูนักเข้าเรียนสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่วิทยาลัยลินคอล์น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และในระหว่างที่เรียนก็ไปฝึกงานที่สำนักงานใหญ่ของพรรคอนุรักษ์นิยมด้วย นอกจากนี้ เขายังเป็นประธานสมาคมการค้าและการลงทุนแห่งออกซ์ฟอร์ด (Oxford Trading & Investment Society) ซึ่งให้โอกาสนักศึกษาได้มีประสบการณ์เรียนรู้เกี่ยวกับตลาดการเงินและการค้าของโลก
ซึ่งในเวลาต่อมาที่เขาประกอบอาชีพทางการเมือง เขามักจะเชื่อมโยงความเหมือนที่เขาได้จากประสบการณ์การทำงานในธุรกิจครอบครัวและค่านิยมที่เขาได้รับจากครอบครัวกับบรรดาคนดังของพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างเช่นมาร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ ซึ่งมาจากครอบครัวร้านขายของชำ
สาขานี้ที่สูนักเรียนเป็นสาขาที่ผลิตคนดังที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสายการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรีอย่าง เอ็ดเวิร์ด ฮีธ, เดวิด คาเมรอน, ลิซ ทรัสส์ เป็นต้น ส่วนผู้นำของประเทศอื่นอย่างอองซาน ซูจี แห่งพม่า, เบนาซีร์ บุตโต และอิมราน ข่าน แห่งปากีสถาน, มัลคอล์ม เฟรเซอร์ บ็อบ ฮอว์ก และโทนี แอ็บบ็อท แห่งออสเตรเลีย, คึกฤทธิ์ ปราโมช อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกรณ์ จาติกวณิช ก็จบสาขานี้ที่ออกซ์ฟอร์ด
ในปี 2001 สูนักเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากนั้นก็ได้รับทุนฟุลไบร์ท (Fulbright) ของสหรัฐฯ ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เพื่อเรียนสาขายอดฮิตสำหรับนักบริหาร คือหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA
1
สูนักสมัยตอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (ภาพ: Daily Mail)
• อาชีพทางธุรกิจและครอบครัว
หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในช่วงปี 2001 and 2004 นั้น สูนักเริ่มการทำงานประจำด้วยการเป็นนักวิเคราะห์ให้แก่ Goldman Sachs โดยทำหน้าที่วิเคราะห์ให้กับบริษัทด้านการลงทุนธนาคาร
จากนั้นเขาก็ไปเรียนต่อ MBA ที่สหรัฐฯ
ต่อมา สูนักก็กลับอังกฤษ แล้วทำงานกับบริษัทการจัดการด้านกองทุนเพื่อการลงทุนคือ Children's Investment Fund Management (TCI) และเป็นหุ้นส่วนในเดือนกันยายน ปี 2006 จากนั้นก็ออกจากบริษัทนี้ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2009 เพื่อร่วมงานกับบริษัทกองทุนเพื่อการลงทุนแห่งใหม่คือ Theleme Partners
ในสิงหาคม ปี 2009 นี้เองที่สูนักได้แต่งงานกับอักชตา เมอร์ตี้ (Akshata Murthy) ซึ่งเป็นลูกสาวของ เอ็น อาร์ นารายานะ เมอร์ธี (N. R. Narayana Murthy) นักธุรกิจผู้เป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้านชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีชื่อว่า Infosys และได้รับฉายาว่า บิล เกตส์ ของอินเดีย” ซึ่งที่สำคัญเธอมีเงินลงทุนในบริษัทนี้อยู่ประมาณ 0.91% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2022) จึงทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดของอังกฤษ
สองคนนี้มาเจอกันได้อย่างไร ทั้งคู่พบกันระหว่างที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่สหรัฐฯ ซึ่งเธอมาเรียน MBA เช่นกัน แต่ก่อนหน้านี้เธอเรียนเศรษฐศาสตร์และภาษาฝรั่งเศสที่ Claremont McKenna College ในแคลิฟอร์เนีย จากนั้นก็ได้ประกาศนียบัตรจากวิทยาลัยการแฟชั่นแห่งหนึ่ง แล้วก็ไปทำงานที่บริษัท Deloitte และ Unilever
ภรรยาของสูนักมีอาชีพเป็นนักออกแบบแฟชั่น และเปิดไลน์แฟชั่นเป็นของตัวเองชื่อ Akshata Designs (ซึ่งอาจจะเป็นแค่อาชีพที่เป็นงานอดิเรกตามความสนใจ เพราะรายได้หลักมาจากธุรกิจอย่างเทียบไม่ติด)
การแต่งงานจัดขึ้นที่อินเดียที่บ้านของเจ้าสาวในเมืองเบงกาลูรู (Bengaluru) แถบตอนกลางของอินเดีย ซึ่งพิธีแต่งงานจัดขึ้น 2 วันและมีแขก 1 พันคน เมื่อแต่งงานแล้วก็มีลูกสาวอยู่ 2 คน ชื่อว่า กฤษณา (Krishna) กับ อนุชกา (Anoushka)
1
ภาพในวันแต่งงานของสูนักกับภรรยาและครอบครัว (ภาพ: WeddingSutra.com)
นอกจากนี้ ระหว่างปี 2013-2015 เขายังเป็นผู้อำนวยการของบริษัทด้านการลงทุนชื่อว่า Catamaran Ventures ซึ่งเจ้าของก็คือเป็นพ่อตาของเขาเอง และภรรยาของเขาก็เป็นผู้อำนวยการของบริษัทนี้ด้วย
สองสามีภรรยาคู่นี้มีบ้านอยู่หลายแห่ง ทั้งคฤหาสน์ Kirby Sigston Manor ในหมู่บ้านเคอร์บี้ ซิกสตัน (Kirby Sigston) ในยอร์กไชร์เหนือ (North Yorkshire), บ้านในเขตเคนซิงตัน (Kensington) ในใจกลางลอนดอน ที่ส่วนใหญ่ครอบครัวนี้จะอาศัยอยู่ที่นี่, แฟลตในถนน Old Brompton Road ที่ลอนดอน, และห้องชุดบนชั้นบนสุดอันหรูหราที่มองเห็นวิวมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตซานตา โมนิกา (Santa Monica) ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ
สูนักเป็นคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ทราบว่าเป็นผลมาจากการนับถือฮินดูหรือมีพ่อแม่เป็นแพทย์และเภสัชกร แต่อย่างหลังคงไม่น่าใช่ เพราะเขาบอกว่าเขาชอบดื่มน้ำอัดลมของโคคา-โคล่า
เขาเลี้ยงสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ชื่อว่า โนวา (Nova) ชอบเล่นคริกเก็ต และสนใจการแข่งม้า
ในปี 2020 ที่ผ่านมา เขาและภรรยาบริจาคเงินจำนวน 100,000 ปอนด์ให้กับวิทยาลัยวินเชสเตอร์โรงเรียนเก่าของสูนักด้วย ส่วนลูกสาวของเขานั้นมีรายงานว่าเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกับฮาร์เปอร์ แบคแฮม ลูกสาวของเดวิด และวิกตอเรีย แบคแฮม
ในการจัดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของสหราชอาณาจักรของ The Sunday Times ประจำปี 2022 เขากับภรรยาอยู่ในอันดับที่ 222 มีทรัพย์สินรวมกันเป็นมูลค่า 730 ล้านปอนด์ หรือ 877 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งความร่ำรวยนี้มาจากการที่สูนักประสบความสำเร็จในการปนะกอบอาชีพด้านธุรกิจและการที่ภรรยาของเขามีเงินลงทุนในบริษัท Infosys
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สูนักได้ชื่อว่าเป็น “นักการเมืองระดับแนวหน้าคนแรกที่ติดอันดับบุคคลร่ำรวย” แต่บางแหล่งข้อมูลอื่นระบุว่าภรรยาของเขาร่ำรวยมากกว่านั้น โดยประเมินว่าเธอมีความมั่งคั่งสุทธิมากถึง 1 พันล้านปอนด์ หรือ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ครอบครัวของริชี สูนัก อันประกอบไปด้วยเขา ภรรยา และลูกสาว (ภาพ: instagram/rishisunakmp)
• อาชีพทางการเมือง
เขาเริ่มต้นอาชีพด้านการเมืองเมื่อปี 2015 โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนจากเขตยอร์กไชร์ และด้วยความที่เป็นฮินดู ในการทำพิธีสาบานตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำสภาล่างหรือสภาสามัญชนโดยใช้คัมภีร์ภควัตคีตา
เขาสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษระหว่างปี 2020–2022 ซึ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิดเขาได้รับความนิยมสูงมาก จากผลงานที่กระทรวงการคลังใช้จ่ายเงินนับพันล้านไปกับการรักษาอาชีพของคนในประเทศไว้
แต่การเล่นการเมืองมีดาบสองคม คือมีทั้งคนรักและคนชัง ในอีกด้านหนึ่งเขาถูกวิจารณ์อย่างหนักหลายเรื่อง เช่น การที่ยังเก็บกรีนการ์ดของสหรัฐฯ ไว้ จนเขาต้องยกเลิกกรีนการ์ดนี้ไป การที่ภรรยาของเขาจำกัดการเปิดเผยเรื่องภาษีไว้ จนเธอต้องยอมจ่ายภาษีพิเศษ
หรือการที่เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นบุคคลที่มีอภิสิทธิ์และร่ำรวยจนดูแตะต้องไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลายากลำบากทางเศรษฐกิจเช่นนี้ที่ค่าครองชีพสูงขึ้น เขาถูกค่อนแคะอย่างหนักจากการที่เขานิยมสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมราคาแพง เช่น สูท หรือสวมรองเท้าปราด้าไปเยี่ยมไซต์ก่อสร้าง หรือมีรูปถ่ายว่าเขาไม่รู้วิธีการจ่ายค่าเติมน้ำมันรถในปั๊ม เป็นต้น
ล่าสุด เขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเดือนตุลาคม และจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจากลิซ ทรัสส์ ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเขาจะนำพาประเทศออกจากวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจได้หรือไม่
ภาพแห่งความยินดีที่สูนักได้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป (ภาพ: Jeff J.Mitchell/Getty Images/Politico)
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา