25 ต.ค. 2022 เวลา 02:14 • กีฬา
ทำไม BTS ต้องเกณฑ์ทหาร แต่ ซน-ฮึงมิน ไม่ต้อง วิเคราะห์บอลจริงจังจะอธิบายให้ฟัง
เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่เข้มงวดมาก เรื่องการเกณฑ์ทหาร เป็นที่ทราบกันว่าผู้ชายทุกคน ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ถ้าคุณสุขภาพแข็งแรงต้อง "เข้ากรม" เพื่อไปเป็นกำลังพลในกองทัพ
1
แม้ดูเหมือนประเทศจะใช้ชีวิตอย่างสงบสุข แต่ในทางเทคนิคแล้ว เกาหลีใต้ยังอยู่ในภาวะสงครามกับเกาหลีเหนืออยู่ การรบจะระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นการที่กำลังพล และกำลังสำรองที่เตรียมพร้อมตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งจำเป็น
กฎหมายล่าสุดของเกาหลีใต้ ระบุว่า ผู้ชายที่อายุ 18 - 28 ปี ต้องมารับการฝึกทหารเต็มตัว เป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนถ้าเป็นทหารบก, 1 ปี 8 เดือน ถ้าเป็นทหารเรือ และ 1 ปี 9 เดือน ถ้าเป็นทหารอากาศ
คนที่รับการฝึกทหาร ต้องกินนอนที่ค่ายทหาร อาจมีวันหยุดออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้บ้าง แต่มีจำนวนวันจำกัด
ประเด็นการบังคับเกณฑ์ทหาร เป็นข้อขัดแย้งในสังคมเกาหลีใต้มายาวนานมาก กลุ่มหัวก้าวหน้าจะบอกว่า ยุคสมัยนี้มันจำเป็นต้องมีกำลังสำรองเยอะแค่ไหนกันเชียว ผู้ชายหลายคนที่ชีวิตกำลังไปได้รุ่ง กลับต้องชะงักงันเกือบ 2 ปี เพราะต้องมาเข้ากรม อย่างคนทำงานสายไอที ผ่านไปสองปี เทคโนโลยีใหม่ก็มาแทนที่แล้ว กฎหมายไม่เห็นใจกันบ้างหรือ
แต่ถ้าเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม ก็ต้องการให้มีการเข้ากรมเหมือนเดิม มันเป็นบทพิสูจน์ว่า คุณจะยากดีมีจน จะทำอาชีพอะไร โด่งดังแค่ไหน แต่ก็ต้องมารับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารอย่างเท่าเทียมกัน
สัปดาห์ก่อนศิลปินวง BTS บอยกรุ๊ปที่โด่งดังที่สุดในยุคนี้ ตัดสินใจจะ "เข้ากรม" โดยจะเริ่มจากพี่ใหญ่ จิน ที่อายุมากที่สุดเป็นคนแรก จากนั้นคนอื่นๆ ก็จะทยอยมาเป็นทหารกันจนครบ
เรื่องนี้มันมีดราม่า เพราะวง BTS สร้างชื่อเสียงให้กับเกาหลีใต้อย่างมหาศาล ถ้านับเรื่องดนตรี พวกเขาเป็นศิลปินเกาหลีกลุ่มแรก ที่ขึ้นอันดับ 1 บิลบอร์ดชาร์ทได้สำเร็จ และคว้ารางวัลใหญ่อย่าง American Music Awards และ MTV Music Awards
ขณะที่เรื่องนอกสนามก็ยิ่งเหลือเชื่อมาก จะมีวงดนตรีสักกี่วงในโลก ที่ได้รับเกียรติให้ไปกล่าวสปีชที่สหประชาชาติ และได้ขึ้นหน้าปก Time Magazine
ไม่ใช่แค่เรื่องความดังของวงเท่านั้น แต่ BTS ยังมีส่วนในการสร้างรายได้ให้เกาหลีใต้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แฟนคลับหลายคน อยากมาเที่ยวเกาหลี อยากเรียนภาษาเกาหลี อยากเสพวัฒนธรรมเกาหลี เพราะได้รู้จักกับ BTS นี่ล่ะ
1
ดูรวมๆ แล้ว สิ่งที่ BTS ทำ มันสร้างประโยชน์ให้เกาหลีใต้อย่างมหาศาล ดังนั้นถ้าปล่อยให้พวกเขาได้ทำงานในทางดนตรีของตัวเองต่อไป น่าจะสร้างคุณค่าให้ประเทศ มากกว่าการไปเป็นทหารฝึกหัดอย่างแน่นอน
ประชาชนกลุ่มหนึ่งแสดงทรรศนะว่า รัฐบาลน่าจะให้สิทธิ์ยกเว้น (Exemption) การเกณฑ์ทหารของ 7 คนนี้ไปเลย เพราะ BTS มันคือปรากฏการณ์แล้ว คุณไม่อยากให้ศิลปินกลุ่มนี้ไปต่อ ให้ไกลยิ่งกว่านี้อีกหรือ?
2
ตามจริง กฎหมาย Military Service Act ของเกาหลีใต้ระบุว่า "บุคคลที่มีความสามารถพิเศษด้านศิลปะ และ กีฬา จะมีสิทธิ์ได้รับการยกเว้น"
โช ซัง-จิน นักดนตรีเกาหลีใต้คนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ชนะเลิศรายการประกวดเปียโนโชแปง ที่โปแลนด์ ได้รับสิทธิ์ยกเว้นการเกณฑ์ทหาร เพราะรัฐบาลมองว่าเป็นศิลปะด้านดนตรี
นักบัลเลต์ นักไวโอลิน ผู้เล่นโกะ (ที่เกาหลีจะเรียกว่าบาดุก) ถ้าคุณได้แชมป์ระดับนานาชาติเมื่อไหร่ ก็จะได้สิทธิ์ยกเว้นทันที เพราะถูกตีความว่าเป็นผู้มีความสามารถพิเศษด้านศิลปะ
แต่กับกรณีของ BTS ต้องมาตีความกันอีกว่า วงเค-ป็อป จะใช้คำว่า "Arts" ได้ไหม แล้วถ้ามันไม่ใช่ Arts (ศิลปะ) BTS ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้สิทธิ์การยกเว้นน่ะสิ
สำนักโพล Realmeter เคยทำการโหวต ถามประชาชนว่า "วง BTS ควรได้รับสิทธิ์การยกเว้นเกณฑ์ทหารหรือไม่" ประชาชน 65.5% เห็นด้วยว่าควรยกเว้น อีก 30.2% ไม่เห็นด้วย ที่เหลือไม่มีคอมเมนต์
จะเห็นว่าในภาพรวมประชาชนก็มองว่า BTS มันยิ่งใหญ่ซะขนาดนั้น ก็ควรได้รับสิทธิ์นะ
แต่รัฐบาลก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี แม้พวกเขาออกกฎหมาย อนุญาตให้ศิลปิน เค-ป๊อป ขยายเวลาเข้ากรม จากเดิมอายุ 28 ปี เลตได้สูงสุด 30 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะให้สิทธิ์ยกเว้นกับ BTS เลย
เรื่องราวยื้อคาราคาซังกันมาแบบนี้พักใหญ่ คือในมุมของรัฐบาลก็พูดยาก อย่างแข่งเปียโน แข่งไวโอลิน มันมีรางวัลที่ชัดเจน แต่กับเค-ป๊อป ยังไม่สามารถตีความได้ว่าเป็น "ศิลปะ" จริงๆ ไหม แล้วคุณจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ว่า ศิลปินคนนี้ยอดเยี่ยมกว่าศิลปินคนอื่นล่ะ ถ้าให้สิทธิ์ยกเว้นกับ BTS แล้วจะยึดอะไรเป็นเกณฑ์
เวลาล่วงเลยมาสู่ปี 2022 จิน พี่ใหญ่สุดของ BTS อายุจะครบ 30 ปีแล้ว และแทนที่พวกเขาจะรอว่ารัฐบาลจะให้สิทธิ์ยกเว้นหรือไม่ ค่าย Big Hit ก็ประกาศเลยว่า BTS ทั้ง 7 คน จะเข้ากรมเพื่อรับใช้ชาติตามปกติเหมือนกับผู้ชายเกาหลีใต้คนอื่นๆ ต่อให้ได้รับสิทธิ์ยกเว้นในอนาคต ก็จะไม่ใช้มัน ดังนั้นเรื่องของ BTS ก็เป็นอันจบข่าวไป
การเดินหมากนี้ของรัฐบาลเกาหลีใต้ หลายคนเชื่อว่า เป็นเครื่องตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่า ขนาดวงอย่าง BTS ที่โด่งดังระดับโลก ยังต้องไปเกณฑ์ทหาร ดังนั้นผู้ชายเกาหลีใต้ในอาชีพอื่นๆ ก็ต้องทำใจว่าคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงภารกิจนี้ได้
1
-----------------------
สำหรับกฎหมายของเกาหลีใต้ นอกจากผู้มีความสามารถพิเศษด้านศิลปะแล้ว "ด้านกีฬา" ก็จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นจากกองทัพเช่นกัน ถ้าหากคุณมีความสามารถถึงเกณฑ์ ก็ไม่ต้องเข้ากรม 2 ปี แต่จะเข้าแค่ช่วงสั้นๆ 3 สัปดาห์เท่านั้น
1
เงื่อนไขของนักกีฬาเกาหลีใต้ ที่จะได้รับการยกเว้นเกณฑ์ทหาร มี 3 อย่าง
1
1- ได้เหรียญโอลิมปิก (ทอง, เงิน, ทองแดง)
1
2- ได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์
3- ข้อตกลงพิเศษที่รัฐบาลจะมอบให้เป็นครั้งคราวกับบางอีเวนต์ เช่น ในฟุตบอลโลก 2002 รัฐบาลเสนอว่า ถ้านักเตะพาทีมผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ จะยกเว้นสิทธิ์เกณฑ์ทหารให้ทั้งทีม (สุดท้ายไปถึงรอบรองชนะเลิศ) หรือในปี 2006 ศึกเบสบอลชิงแชมป์โลก รัฐบาลเสนอว่า ถ้าเกาหลีใต้เข้ารอบรองชนะเลิศได้ จะยกเว้นสิทธิ์เกณฑ์ทหารให้ทั้งทีม ซึ่งสุดท้ายก็ทำได้จริงๆ ก็ได้ยกเว้นเป็นทหารกันทั้งทีม
1
ในบรรดานักกีฬาทั้งมวล ผู้เล่นที่คนเกาหลีทั้งชาติเอาใจช่วยให้ได้สิทธิ์ยกเว้นการเกณฑ์ทหารมากที่สุด คือซน ฮึง-มิน เพราะนี่คือผู้เล่นเอเชียที่เก่งกาจที่สุดในประวัติศาสตร์
ตามกฎหมายของเกาหลีใต้นั้น นักฟุตบอลทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้เหรียญโอลิมปิก หรือ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ ต้องมาเป็นทหารเหมือนคนอื่น และระหว่างนั้นต้องลงเล่นฟุตบอลกับทีมกองทัพ หรือทีมชื่อ "กิมชอน ซังมู"
ปาร์ก ฮัง-ซอ เฮดโค้ชทีมชาติเวียดนาม สมัยเป็นนักเตะก็เล่นอยู่กับสโมสรคอเรีย เฟิร์ส แบงค์ แต่พอต้องไปเป็นทหาร ก็ย้ายไปเล่นให้กิมชอน ซังมู สองปี พอเป็นทหารเสร็จก็ไปหาสโมสรใหม่ และได้ไปอยู่ ลัคกี้ โกลด์สตาร์ สโมสรเดียวกับปิยะพงษ์ ผิวอ่อน นั่นเอง
ลองนึกภาพดูว่า ซน ฮึง-มิน ต้องพักสัญญากับสเปอร์ส แล้วย้ายไปเล่นกับกิมชอน ซังมู มันจะเป็นอะไรที่ดูไม่จืดขนาดไหน ฝีเท้าของเขาจากที่เล่นกับทีมพรีเมียร์ลีก ต้องมาเล่นกับนักเตะท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย
ซน ฮึง-มิน ติดทีมชาติครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2010 ตอนเล่นอยู่กับฮัมบูร์ก ดังนั้นโอกาสของเขาที่จะได้สิทธิ์ยกเว้นทหาร มีทั้งหมด 6 ครั้ง ก่อนอายุจะเกิน 28 ปี
1
ครั้งที่ 1 โอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน เกาหลีใต้จบเหรียญทองแดง นักเตะทั้งทีม เช่น กี ซุง-ยอง, จี ดอง-วอน, ปาร์ก ชู-ยอง ได้ยกเว้นทหารทั้งหมด จริงๆ ครั้งนั้น ซน ฮึง-มิน ก็ถูกเรียกตัวติดทีมด้วย แต่เขาปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าอยากจะโฟกัสกับฮัมบูร์กมากกว่า เพราะเพิ่งได้เป็นตัวจริงกับทีม
1
ครั้งที่ 2 ฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล ซนช่วยเกาหลีใต้ไม่ได้ ร่วงรอบแรก จริงๆ รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศอะไร แต่เชือ่ว่า ถ้าผ่านรอบน็อกเอาต์ได้ ก็จะได้สิทธิ์ยกเว้น
ครั้งที่ 3 เอเชียนเกมส์ 2014 สโมสรใหม่ของซน คือไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ไม่อนุญาตให้ซนไปเล่น เพราะเอเชียนเกมส์อยู่นอกฟีฟ่าเดย์ สุดท้ายเกาหลีใต้ได้เหรียญทอง ซนเป็นคนเดียวที่ไม่ได้สิทธิ์ยกเว้นเหมือนเพื่อน
2
ครั้งที่ 4 โอลิมปิก 2016 ที่บราซิล ซนพาเกาหลีใต้ทะลุถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย อีกก้าวเดียวเท่านั้นก็จะมีลุ้นเหรียญ แต่เกาหลีใต้แพ้ฮอนดูรัส 1-0 ทั้งๆ ที่เล่นดีกว่ามาก ซนออกจากสนามไปทั้งน้ำตา
ครั้งที่ 5 ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย เกาหลีใต้โดนจับสลากมาอยู่กลุ่มหนัก มีเยอรมนี, สวีเดน และ เม็กซิโก สุดท้ายเกาหลีใต้จบอันดับ 3 ไม่เข้ารอบ แม้ซนจะเล่นได้ดี แต่ก็ไม่ได้สิทธิ์ยกเว้นทหารอยู่ดี
ครั้งที่ 6 เอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย นี่คือโอกาสสุดท้ายของซนแล้ว ถ้าหากเขาไม่ได้เหรียญทอง อายุก็จะเกิน 28 ปี ซึ่งหัวเด็ดตีนขาด ซนก็จะบินไปแข่งด้วย แม้จะไม่ใช่ฟีฟ่าเดย์ก็ไม่สน ซึ่งโชคดีที่ทางสเปอร์สนั้นเข้าใจยอมปล่อยตัวให้ทีมชาติเกาหลีใต้แต่โดยดี
2
เอเชียนเกมส์นั้น เป็นฟุตบอลของทีม u-23 แต่มีโควต้าอายุเกินได้ 3 คน โดยทีมส่วนใหญ่จะไม่ส่งตัวอายุเกินมาด้วย แต่เกาหลีใต้นั้น ใช้สิทธิ์นั้นกับซน ฮึง-มิน (อายุ 26 ปี) และแน่นอนว่า ซน คือสตาร์อันดับหนึ่งในทัวร์นาเมนต์นี้
เกาหลีใต้ ประคับประคองตัวผ่านเข้ารอบมาได้ แม้จะเจอกับทีมที่แข็งแกร่งตลอดทาง ทั้งอิหร่าน และ อุซเบกิสถาน ความฝันของซน ใกล้จะเป็นจริง แต่ด่านสุดท้ายที่โหดที่สุด นั่นคือ ทีมชาติญี่ปุ่น คู่ปรับตลอดกาล ที่รออยู่ในนัดชิงชนะเลิศ
ญี่ปุ่นชุดนั้น มี เรโอะ ฮาตาเตะ และไดเซ็น มาเอดะ ปัจจุบันอยู่กลาสโกว์ เซลติค, คาโอรุ มิโตมะ ปัจจุบันอยู่ไบรท์ตัน, โคจิ มิโยชิ ปัจจุบันอยู่รอยัล อันท์เวิร์ป และ โค อิตาคุระ ปัจจุบันอยู่มึนเช่นกลัดบัค คือเป็นงานที่ยากมากจริงๆ ของเกาหลีใต้
แต่การตัดสินแพ้ชนะในเกมนี้อยู่ที่แพสชั่นที่ผิดกัน เกาหลีใต้มีเดิมพันสูงกว่ามาก คือชีวิตของนักฟุตบอลอาชีพ ที่ไม่ต้องเว้นวรรคเพื่อไปเกณฑ์ทหาร พวกเขาจึงสู้สุดชีวิต และสุดท้าย เอาชนะได้สำเร็จด้วยสกอร์ 2-1 ใน 120 นาที คว้าเหรียญทองไปครอง
1
โมเมนต์ที่กรรมการเป่านกหวีดหมดเวลา ซน ฮึง-มิน วิ่งลงมาในสนามอย่างบ้าคลั่ง เขาทำได้จริงๆ และเส้นทางฟุตบอลอาชีพ ก็สามารถดำเนินต่อได้ในที่สุด เช่นเดียวกับคนทั้งเกาหลีที่ดีใจมากๆ เพราะฮีโร่ของชาติจะได้ลุยฟุตบอลยุโรปต่อโดยไม่มีอะไรติดค้างอีก
2
นึกไม่ออกจริงๆ ว่าถ้าซนไม่ได้เหรียญทองในวันนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้จะทำอย่างไร เพราะถ้าคุณไปจับเขามาเกณฑ์ทหาร เราคงไม่ได้เห็นคนเอเชียคนแรก ในประวัติศาสตร์ที่ได้ดาวซัลโวพรีเมียร์ลีก
3
ปิดท้ายที่เรื่องการเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้ นี่เป็นประเด็นที่ฝ่ายหัวก้าวหน้า กับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ต่อสู้กันอย่างดุเดือดทุกปี
ฝ่ายที่สนับสนุนการเกณฑ์ทหารจะบอกว่า การเตรียมความพร้อมก่อนสงครามไม่ดีตรงไหน นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างค่านิยมความเท่าเทียมให้เกิดกับชายทุกอาชีพ และ เป็นการเรียนรู้ระเบียบวินัยจากกองทัพ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ด้วย นี่คือรากเหง้าของเกาหลีใต้ ที่ถูกปฏิบัติซ้ำๆ มาหลายสิบปี
1
แต่ฝ่ายที่ต่อต้าน ก็จะบอกว่า การพราก 2 ปี ของคนคนหนึ่งไป มันส่งผลต่อพัฒนาการ อย่างนักกีฬาบางคนถ้าต้องหยุดซ้อมสองปี ก็แทบจะบอกลากีฬานั้นได้เลย หรือนักร้องนักแสดงหายไปสองปี ไม่มีใครบอกได้ว่ากลับมาจะได้รับการยอมรับเท่าเดิมไหม หรือคนที่ทำธุรกิจค้าขาย หายไปสองปีก็แทบจะต้องเริ่มต้นใหม่หมด
4
เรื่องนี้เป็นการดีเบทกันอย่างดุเดือด แต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลของตัวเอง ที่แน่ๆ คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในเร็ววันนี้
จริงๆ แล้ว นัดชิงชนะเลิศเอเชียนเกมส์ ที่อินโดนีเซีย ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ผมนั่งดูสดอยู่ ระหว่างเกมผมแอบแช่งเกาหลีใต้ครับ
5
เพราะอยากรู้เหมือนกันว่า ถ้าเกาหลีใต้แพ้ล่ะก็ รัฐบาลจะกล้าส่งผู้เล่นเวิลด์คลาสอย่าง ซน ฮึง-มิน ไปเล่นกับกิมชอน ซังมู จริงๆ หรือเปล่า? ดูผู้เล่นอย่างซน ลงเตะให้ทีมกองทัพบก ในช่วงที่พีกที่สุดในชีวิต คงเป็นเรื่องที่พิลึกกึกกือน่าดูทีเดียว
2
โฆษณา