25 ต.ค. 2022 เวลา 10:30 • การตลาด
สวัสดีวันอังคารค่าทุกคน คราวที่แล้วเราพูดถึงเรื่องลักษณะของการตลาดเพื่อสังคมกันไปแล้วใช่ไหมคะ วันนี้เพจเราเลยจะมาพูดถึงเรื่อง “กระบวนการของการตลาดเพื่อสังคม” กันค่ะ
กระบวนการในการวางแผนการตลาดเพื่อสังคมเนี่ย เป็นกระบวนการที่เป็นระบบขั้นเป็นตอนที่จัดเจน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการวางแผนการตลาดเชิงพาณิชย์โดยทั่วไป
ซึ่งนักการตลาดหลายๆท่าน เช่น Kotler et al. Grier & Bryant และ Kotler & Levy ก็ได้นำเสนอขั้นตอนของการวางแผนการตลาดเพื่อสังคมเอาไว้ บางท่านก็จะเน้นกระบวนการในการวางแผนก่อนนำไปปฏิบัติจริง ในขณะที่บางท่านจะนำเสนอกระบวนการทางการตลาดเพื่อสังคมทั้งหมดตั้งแต่การวางแผนไปถึงการประยุกต์และการประเมินผล หากให้อธิบายกระบวนการของแต่ละท่านที่ได้กล่าวไปก็จะยาวยืด และน่าเบื่อใช่ไหมล่ะคะ
เลาว์เลยไปหาสรุปกระบวนการในการวางแผนการตลาดเพื่อสังคมที่มีความเข้าใจง่าย โดยนำมาจากวิจัยของ คุณสมพล วันต๊ะเมล์ มาอธิบายให้ทุกคนฟังกันค่ะ ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 6 ขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์สถานการณ์ (Situation Analysis) เป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมโดยรวมเพื่อกำหนดปัญหาให้เกิดความชัดเจนว่าต้องการจะรณรงค์ในเรื่องใด ปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดและส่งผลกระทบต่อประชากรในกลุ่มใดบ้าง เพื่อให้เข้าใจในปัญหาที่เกี่ยวกับประชากรอย่างแท้จริง
2. การกำหนดวัตถุประสงค์ (Determining Objectives) หลังจากที่ได้ทราบถึงสถานการณ์ของปัญหาแล้ว นักการตลาดเพื่อสังคมจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของแผนการตลาดเพื่อสังคม โดยวัตถุประสงค์ควรมีความเฉพาะเจาะจง สามารถวัดได้ ทำได้จริง และมีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
3. การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Setting Target Groups) นักการตลาดเพื่อสังคมควรใช่วิธีการแบ่งส่วนตลาดมาใช้ในการเลือกกลุ่มเป้าหมายของแผน โดยทำการแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ ตามลักษณะที่เหมือนการทางประชากร จิตวิทยา หรือพฤติกรรม เป็นต้น จากนั้น ทำการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการทำแผนรณรงค์ เช่น กลุ่มที่มีปัญหารุนแรงที่สุด กลุ่มที่มีความเต็มใจและมีความพร้อมที่จะได้รับการแก้ไขปัญหานั้นมากที่สุด หรือจะเป็นกลุ่มที่คาดหวังว่าน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายที่สุดก็ได้
เมื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจนแล้ว ผู้วางแผนต้องทำการทดสอบความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายก่อนดำเนินงาน เพื่อนำไปใช้ในการประเมินประสิทธิผลของแผนการตลาดเพื่อสังคมหลังจากการดำเนินงานเสร็จสิ้นลง และทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเพื่อกำหนดกลยุทธ์ต่อไป
4. การกำหนดกลยุทธ์ (Designing Strategies) เป็นขั้นตอนที่ทำการออกแบบกลยุทธ์ส่วนผสมทางการตลาดทั้ง 4 องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ราคา กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย และกลุยทธ์ส่งเสริมการตลาด หลังจากออกแบบกลยุทธ์ทั้ง 4 แล้ว ควรนำไปทดสอบขั้นต้นกับกลุ่มตัวอย่างเพื่อยืนยันว่ากลยุทธ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้ได้จริง โดยอาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ หรือ การขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็ได้
5. การกำหนดงบประมาณและระยะเวลา (Determining Budgets and Timing) เป็นขั้นตอนของการกำหนดงบประมาณและกำหนดตารางเวลาการดำเนินงาน เพื่อให้กำหนดทิศทางและกรอบระยะเวลาได้อย่างชัดเจน
6. การประเมินผล (Evaluation) ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ นักการตลาดทางสังคมอาจจะการประเมินผลใน 2 ลักษณะคือ
  • การประเมินผลระหว่างการดำเนินงาน เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาพัฒนา ปรับปรุงกลยุทธ์ระหว่างการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  • การประเมินผลหลังการดำเนินงาน หรือการประเมินผลลัพธ์ ซึ่งจะเป็นการประเมินตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ว่าแผนดำเนินงานนั้นประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้หรือไม่
นี่ก็คือขั้นตอนทั้งหมดของกระบวนการวางแผนการตลาดเพื่อสังคมค่ะ จริงๆเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยากเลยเพราะจะคล้ายๆกับการวางแผนการตลาดทั่วไปค่ะ จะแตกต่างกันแค่จุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนทางสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์หรือการเพิ่มยอดขายให้กับองค์กรเท่านั้นเองค่ะ
วันนี้ก็ขอจบบทความไว้เพียงเท่านี้ค่ะ เจอกันใหม่ในบทความหน้านะคะ ฝากติดตามกันด้วยค่า บ๊ายบายย
โฆษณา