Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
25 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
World Bank เตือน ชนบทไทยเผชิญความยากจน และเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงสุดในเอเชีย!
จากรายงานฉบับล่าสุดของ World bank ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ รายได้ของคนในชนบทต่อเดือน คิดเป็นเพียง 68% ของรายได้ครัวเรือนในเมืองเท่านั้น คนในชนบทจึงวนอยู่ในวัฏจักรของการได้รับการศึกษาน้อย ต้องพึ่งพาคนอื่นสูง และมีสภาพการดำเนินชีวิตที่ลำบาก
ถึงแม้ว่าประเทศไทย จะประสบความสำเร็จในการลดความยากจนจาก 58% ในปี 1990 เหลือเพียง 6.8% ในปี 2020 เนื่องจากการเติบโตที่สูงและมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แต่เหมือนว่าความยากจนจะเริ่มลดลงด้วยอัตราที่ช้าลงนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นในปี 2016, 2018, 2020 สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง, รายได้จากการเกษตรและธุรกิจที่ซบเซา และวิกฤติโควิด-19
2
ในบรรดาคนที่ยากจนกว่า 79% ล้วนแล้วแต่อยู่ในพื้นที่ชนบทและเป็นครัวเรือนที่ทำการเกษตร ในปี 2020 อัตราของคนที่อยู่ภายใต้ความยากจนในชนบท สูงกว่าคนในเมืองถึง 3% หรือสูงกว่าราวๆ 2.3 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของความยากจนที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาค
ทาง World bank จึงได้วิเคราะห์เกี่ยวกับความท้าทายทางด้านรายได้ครัวเรือนชนบทของไทย พร้อมทั้งแนวทางแก้ไขซึ่งอาจจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ ในบทความนี้ Bnomics จะนำมาเล่าให้ฟัง
📌 ความท้าทายของครัวเรือนชนบทในไทย
ประเทศไทย ถูกจัดว่าเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ซึ่งเศรษฐกิจในชนบทถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ
ในปี 2020 เศรษฐกิจในชนบท มีการจ้างงานคนไปกว่า 21 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 55% ของตลาดแรงงานทั้งหมด และสร้างผลผลิตมวลรวมจังหวัด รวมกันคิดเป็น 48% ของ GDP โดยรวมทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางด้านรายได้ของครัวเรือนชนบท ยังคงเต็มไปด้วยข้อจำกัดและความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็น
1) ครัวเรือนชนบทในไทย พึ่งพาแหล่งรายได้จากภาคเกษตรกรรมมากกว่าครัวเรือนในเมือง
แม้ว่ารายได้จากค่าจ้างและเงินเดือน ถือเป็นรายได้หลักของทั้งครัวเรือนในชนบทและครัวเรือนในเมือง แต่ครัวเรือนในชนบท ก็มีการพึ่งพาแหล่งรายได้จากภาคเกษตรกรรมในอัตราที่สูงกว่าครัวเรือนในเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่ยากจนที่สุดในชนบท ที่ต้องพึ่งพาแหล่งรายได้จากภาคเกษตรกรรมถึง 23% แต่รายได้จากภาคเกษตรกรรมโดยเฉลี่ยกลับอยู่ที่เพียง 2,394 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งน้อยกว่ารายได้จากค่าจ้างและเงินเดือน และรายได้จากนอกภาคเกษตรกรรมถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ รายได้จากแหล่งรายได้อื่นของครัวเรือนในชนบท ก็ยังคงต่ำกว่าครัวเรือนในเมืองกว่าครึ่ง ทำให้ยังมีความแตกต่างทางรายได้ระหว่างครัวเรือนในชนบท และครัวเรือนในเมืองเป็นอย่างมาก และยังเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนชนบทที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม กับครัวเรือนชนบทที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรมอีกด้วย
2) กำไรจากภาคเกษตรกรรม ลดลงเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2011 จากการที่ราคาสินค้าเกตรกรรมทั่วโลกลดลง และยังเกิดเหตุภัยพิบัติหลายครั้ง
ในปี 2011 - 2019 แม้ว่าความยากจนของครัวเรือนชนบทที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมจะลดลงเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเจาะลึกลงไปจริงๆ กลับพบว่า ที่พวกเขายากจนน้อยลงเนื่องมาจากรายได้จากการส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ และมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นหลัก
นับตั้งแต่ปี 2011 ราคาสินค้าเกษตรกรรม และราคาอาหารทั่วโลก เริ่มลดลงเป็นอย่างมาก ประกอบกับไทยก็เผชิญกับภัยพิบัติอยู่หลายครั้ง อีกทั้งเกษตรกรยังประสบปัญหาราคาต้นทุนการเพาะปลูกที่สูงขึ้้น และเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุมาก จึงกลายเป็นข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่ทำให้ผลิตภาพของเกษตรกรรมไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้น ทำให้กลายเป็นว่าลงทุนมาก แต่ได้ผลตอบแทนน้อยลงเรื่อยๆ
เมื่อไม่รวมรายได้จากการส่งเงินกลับประเทศ และจากความช่วยเหลือของภาครัฐ รายได้ที่แท้จริงจากภาคเกษตรกรรม จะลดลงไปราวๆ 7%
3) ครัวเรือนชนบทในภาคกลางและภาคใต้ มีรายได้เฉลี่ยต่างจากภาคเหนือและอีสานเป็นอย่างมาก
รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนชนบทในภาคกลาง (ไม่รวมเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล) สูงกว่าครัวเรือนชนบทในภาคอีสานและภาคเหนือถึง 60% ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนชนบทในภาคใต้ (ไม่รวมเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล) สูงกว่าครัวเรือนชนบทในภาคอีสานและภาคเหนือถึง 50%
รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนชนบทในภาคใต้ อยู่ในระดับสูงสุดในช่วงปี 2011 ก่อนที่จะลดลงมาเป็นอย่างมากในปี 2015 และยังไม่สามารถกลับไปในระดับเดิมได้เลย แม้รายได้จะเด้งขึ้นไปในปี 2019
ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนชนบทในภาคกลางเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ระหว่างปี 2011 - 2019 เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคเกษตรมากเท่ากับภูมิภาคอื่นๆ
4) ครัวเรือนชนบทที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมอาจต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้าน
เกษตรกรในชนบทส่วนใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงน้ำ ที่ดินที่มีการวางระบบชลประทาน ตลอดจนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางเกษตรกรรม และเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรกรรมได้อย่างจำกัด
เนื่องจากส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่ต้องแบกรับต้นทุนสูง ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ขาดการวางแผนการเพาะปลูก และการกระจายความเสี่ยง
จึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19
📌 ทำอย่างไรให้คนในชนบทมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น?
ทาง World Bank ได้วิเคราะห์ออกมาว่า มีอยู่ 3 หนทางด้วยกัน ที่จะช่วยให้ครัวเรือนชนบท มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประกอบไปด้วย
1) เพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรกรรม
การเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรกรรม นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้และลดความแตกต่างระหว่างภูมิภาคภายในประเทศแล้ว ยังช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาการให้แก่ประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบแบบทวีคูณไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกภาคเกษตร เช่น อุตสาหกรรมการผลิต (การแปรรูปอาหาร) และภาคบริการ (เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และการค้าภายในประเทศ)
ทั้งนี้ การจะเพิ่มผลิตภาพได้ อาจต้องพัฒนาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ
1.
เพิ่มการเข้าถึงระบบชลประทาน
2.
ใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกแบบสมัยใหม่ขึ้น และใช้วัตถุดิบตั้งต้นในการเพาะปลูกที่ถูกปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว
3.
ขยายความครอบคลุมของบริการในภาคเกษตรกรรม และบริการส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกร
4.
เพิ่มความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะลงทุนในที่ดินทำกินเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวมากขึ้น
2) กระจายความเสี่ยงในการเพาะปลูก และเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง
การผลิตข้าว เป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย ในปี 2020 รายได้จากการส่งออกข้าว คิดเป็นกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวของไทยนั้นถือได้ว่าต่ำกว่าประเทศผู้ผลิตข้าวอื่นๆ ทั่วโลก อีกทั้งการปลูกข้าว ยังได้ผลกำไรที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นอย่างมันสำปะหลังและข้าวโพด
ทาง World Bank จึงแนะนำว่านอกจากจะคิดเรื่องเพิ่มผลิตภาพในการปลูกข้าวแล้ว ควรมีการปลูกพืชที่หลากหลาย หมุนเวียน และเป็นพืชเกษตรที่มีมูลค่าสูง
3) พัฒนาการเข้าถึงตลาด
การขยายพื้นที่ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ในราคาสูงและปริมาณมากกว่าเดิม ในปัจจุบันช่องทาง E-commerce และช่องทางการค้าออนไลน์มากมาย ได้ช่วยเพิ่มการเข้าถึงตลาด โดยเป็นสื่อกลางที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายที่มีการต้องการตรงกับสามารถเจรจาซื้อขายกันได้โดยตรง
นอกจากนี้ รัฐยังควรมีนโยบายที่มีความเชื่อมโยงกันในหลายมิติ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะของครัวเรือนในชนบทโดยเฉพาะด้านการศึกษาและทักษะดิจิทัล เพื่อให้เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถปรับตัวเข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
อีกทั้งสามารถรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรู้จักเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอีกด้วย นั่นก็จะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำในชนบทของไทย สามารถลดลงได้ในอนาคต
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
https://docs.google.com/document/d/1JK07HJwVedvD8gTXvE9hfbLYhOaCr6QTDoRiq1NWxfA/edit
worldbank
เศรษฐกิจไทย
ความเหลื่อมล้ำ
6 บันทึก
10
1
4
6
10
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย