26 ต.ค. 2022 เวลา 05:07 • ถ่ายภาพ
นี่คือดวงจันทร์ มิใช่ดวงอาทิตย์ อีกทั้งกำลังเกิดปรากฏการณ์ “Moondogs” ที่หาชมยาก และยังเป็นวิวทิวทัศน์จากบนเครื่องบินอีกด้วย! อีกหนึ่งภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทยที่ทำให้เราได้ชมเหตุการณ์ที่ไม่ได้พบเห็นง่ายๆ ผลงานของคุณสุภฉัตร วรงค์สุรัติ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
ปรากฏการณ์ Moondogs เกิดจากการที่แสงจากดวงจันทร์ถูกหักเหหรือสะท้อนกับผลึกน้ำแข็งรูปแผ่น ซึ่งอยู่ในเมฆบางชั้นสูงที่วางตัวแบนๆ ตามแนวระดับ คล้ายกับใบไม้ที่กำลังร่วงหล่นลงมาจากต้นไม้ เกิดเป็นวงแหวนสีรุ้งขึ้น เรียกว่า การทรงกลดที่เกิดจากผลึกรูปแผ่น (Plate Halo) หรือเส้นโค้งที่เกิดจากผลึกรูปแผ่น (Plate Arc)
ลักษณะที่เกิดขึ้นนอกจากวงแหวนสีรุ้งคือการปรากฏของแถบแสงด้านซ้ายและขวาของดวงจันทร์ แต่ละแถบแสงเรียกว่า moondog ถ้าเป็นแถบทั้งสองข้างจะเรียกว่า moondogs หากมีความสว่างมากพอ จะดูเสมือนมีดวงจันทร์ทั้งหมด 3 ดวง ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับปรากฏการณ์ sundogs ซึ่งเกิดจากแหล่งกำเนิดแสงที่เป็นดวงอาทิตย์ แต่เกิดขึ้นได้ยากกว่าเพราะดวงจันทร์มีความสว่างน้อยกว่าดวงอาทิตย์
วงแหวนสีรุ้ง จะมีระยะห่างเชิงมุมประมาณ 22 องศาเสมอ เนื่องจากแสงที่เดินทางผ่านผลึกจะถูกเบี่ยงเบนไปจากแนวตกกระทบเดิมเป็นมุม 22 องศาในทิศต่าง ๆ ผู้สังเกตจึงมองเห็นแนวแสงที่ห่างจากแหล่งกำเนิดเป็นมุม 22 องศาทุกทิศทางรอบ ๆ แหล่งกำเนิดแสง นอกจากนี้ หากลองเหยียดแขนให้สุด กางนิ้วโป้งและนิ้วก้อยออก แล้วใช้นิ้วโป้งบังแหล่งกำเนิดแสงไว้ ปลายนิ้วก้อยจะตรงกับขอบวงแหวนพอดี
การถ่ายภาพนี้ต้องตั้งค่ากล้องให้ถ่ายภาพแบบหน่วงเวลาเพื่อลดการสั่นเนื่องจากผู้ถ่ายบันทึกภาพขณะอยู่บนเครื่องบิน
#รายละเอียดการถ่ายภาพ
วันที่ถ่ายภาพ : 17 กรกฎาคม 2022 เวลา 01:45 น.
สถานที่ถ่ายภาพ : เหนือประเทศอินเดีย
สภาพท้องฟ้า : มีเมฆเล็กน้อย
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายถาพ : กล้อง digital Sony
ความไวแสง : 3200
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 1.5 sec
ขนาดหน้ากล้อง : f2.8
ความยาวโฟกัส : 16mm
ภาพ : นายสุภฉัตร วรงค์สุรัติ - ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ปี 2565 ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
อ้างอิง : ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ - ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ
#ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝี มือคนไทย🇹🇭🇹🇭
โฆษณา